คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ : คุ้มกลางเวียงเชียงใหม่

การตั้งคุ้มหลวงในยุคแรกของเมืองเชียงใหม่ จะอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า “ข่วงหลวง” อันเป็นชัยภูมิที่เป็นมงคลตามทักษาเมือง ซึ่งอยู่ทิศเหนือหรือด้านบนของเมือง ได้แก่ อายุเมือง เดชเมืองและศรีเมือง ซึ่งตามประเพณีนิยมนั้นบริเวณดังกล่าวจะอยู่ตั้งแต่ในแนวถนนพระปกเกล้าตอนบนจนถึงวัดสะดือเมือง

นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2383 เมื่อเชียงใหม่เริ่มมีการติดต่อทางด้านป่าไม้กับชาติตะวันตก ซึ่งขณะนั้นได้มีการขยายอาณานิคมเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ กระทั่งปี พ.ศ.2416 เชียงใหม่ได้มีการทำสนธิสัญญาการค้าไม้กับชาติตะวันตกมีบริษัทค้าไม้เข้ามาตั้งกิจการอยู่ในเชียงใหม่อันได้แก่ บริษัทบริติชบอร์เนียว จำกัดและบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า จำกัด

ในช่วงเวลานั้นตรงกับสมัยของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่ องค์ที่ 7 โดยมีเจ้าน้อยมหาอินทร์เป็นเจ้าบุรีรัตน์ซึ่งมีอาวุโสและบรรดาศักดิ์รองมาจากเจ้าหลวงเชียงใหม่และเจ้าอุปราช เป็นผู้ดูแลการทำไม้ในขณะนั้น การทำสัมปทานป่าไม้ของบริษัทต่างชาติในสมัยนั้นมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสถานะทางเศรษฐกิจของเจ้านายเชียงใหม่ เพราะในการทำไม้ของบริษัทต่างชาติเหล่านั้นจะต้องมีการขอความสะดวกจากเจ้านายเชียงใหม่ก่อน

ความสำคัญของเจ้าบุรีรัตน์ เจ้าน้อยมหาอินทร์ ราชบุตรคนที่สองของเจ้าอุปราชพิมพิสาร เป็นบุคคลสำคัญในปลายสมัยของพระเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่ องค์ที่ 6 (พ.ศ.2399 – 2413)ต่อถึงต้นสมัยของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่ องค์ที่ 7 (พ.ศ.2416 – 2440) เจ้าน้อยมหาอินทร์ได้เคยออกทัพจับศึกกับพวกยางแดงและเงี้ยวหลายครั้งหลายหนและท่านยังเป็นผู้วางแผนปราบพญาผาบ (พระยาปราบสงคราม) หลักฐานสำคัญที่กล่าวถึงบทบาทของเจ้าบุรีรัตน์ ในสมัยของพระเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์ คือในปี พ.ศ.2412 ซึ่งครั้งนั้นพระเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์ได้ลงไปเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพ ได้มอบหมายให้เจ้าน้อยมหาอินทร์และเจ้าบุญทวงศ์อยู่รักษาเชียงใหม่ ในระหว่างนั้นได้เกิดเหตุการณ์ไม่สงบ เจ้าฟ้าโกหล่านเมืองหมอกใหม่ได้ยกทัพมารุกรานเมืองปายซึ่งเป็นเมืองขึ้นของเชียงใหม่ เจ้าน้อยมหาอินทร์และเจ้าบุญทวงศ์จึงได้แก้ปัญหาโดยการแจ้งข้อราชการขอความช่วยเหลือไปยังเจ้านครลำพูนและลำปางให้ช่วยยกทัพมาสมบทกับทัพของเชียงใหม่ หลังจากนั้นอีกไม่นานเจ้าน้อยมหาอินทร์ก็ถึงแก่กรรมลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวจึงทรงแต่งตั้งเจ้าราชภาคินัย เจ้าน้อยแก้วมุงเมือง ขึ้นเป็นเจ้าบุรีรัตน์แทน

ที่ประทับ หรือ คุ้มหลวง ของเจ้าบุรีรัตน์ เจ้าน้อยมหาอินทร์ อยู่บริเวณสี่แยกกลางเวียง สาเหตุที่ตั้งอยู่ในบริเวณกลางเวียงก็เนื่องจากในอดีตการตั้งคุ้มหลวงของเจ้าครองนครเชียงใหม่ในยุคแรกส่วนใหญ่จะอยู่ตำแหน่งพิเศษเฉพาะคืออยู่ในเขตกำแพงเมืองด้านใน มีระยะห่างจากเขตกำแพงเมืองประมาณด้านละ 400 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่ปลอดภัยจากอาวุธที่จะสร้างความเสียหายให้กับสถาปัตยกรรมคุ้มและผู้ที่อยู่อาศัยในยามสงคราม ส่วนคุ้มเจ้าครองนครในยุคต่อมาจึงมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งไปตั้งอนู่นอกกำแพงเมืองด้านตะวันออกใกล้กับแม่น้ำปิง ซึ่งสะดวกแก่การสัญจรไปมาและสามารถควบคุมดูแลการปกครองได้ดี

การตั้งคุ้มหลวงในยุคแรกของเมืองเชียงใหม่ จะอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า “ข่วงหลวง” อันเป็นชัยภูมิที่เป็นมงคลตามทักษาเมือง ซึ่งอยู่ทิศเหนือหรือด้านบนของเมือง ได้แก่ อายุเมือง เดชเมืองและศรีเมือง ซึ่งตามประเพณีนิยมนั้นบริเวณดังกล่าวจะอยู่ตั้งแต่ในแนวถนนพระปกเกล้าตอนบนจนถึงวัดสะดือเมือง ส่วนบริเวณตอนบนของถนนราชดำเนินจะเป็นที่ตั้งของเวียงแก้วหอคำของเจ้าหลวงเชียงใหม่ องค์ที่ 1, 2, 5, 6, 7, 8 และคุ้มเจ้าชั้นรองต่าง ๆ เมื่อบริเวณข่วงหลวงมีความคับแคบลงเจ้านายฝ่ายเหนือจึงได้ย้ายไปสร้างคุ้มในบริเวณกลางเวียงหรือห่างจากคุ้มหลวงลงมาด้านใต้ บริเวณตั้งแต่ประตูท่าแพด้านในมาจนถึงสี่แยกกลางเวียงตัดกับถนนพระปกเกล้าจนถึงวัดพระสิงห์ ซึ่งเป็นเขตที่ปลอดภัย ได้แก่ คุ้มเจ้าหลวงเชียงใหม่ องค์ที่ 3, 4 และคุ้มเจ้าชั้นรองต่าง ๆ รวมถึงคุ้มบุรีรัตน์ เจ้าน้อยมหาอินทร์
คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) เป็นอาคารครึ่งปูนเครื่องไม้บนแบบผสม สูงสองชั้นมีบันไดอยู่นอกบ้าน ชั้นล่างเสาก่ออิฐหนาก่อเป็นรูปโค้งฉาบปูนเรียบมีระเบียงโดยรอบ เป็นรูปแบบผสมระหว่างเรือนมนิลากับสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล ซึ่งเป็นรูปแบบที่แพร่หลายในประเทศอาณานิคม ส่วนชั้นบนเป็นไม้มีระเบียงโดยรอบเช่นกัน หลังคาจั่งและหลังคาปั้นหยาคลุมระเบียงโดยรอบ เป็นแบบอย่างของสถาปัตยกรรมมหาอำนาจอังกฤษในเชียงใหม่ยุคแรก สันนิษฐานว่าบริษัทป่าไม้ของชาวอังกฤษเป็นผู้เข้ามาก่อสร้างให้เจ้าบุรีรัตน์เมื่อประมาณปี พ.ศ.2432 – 2436 คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ ด้านสถาปัตยกรรมและด้านสภาพแวดล้อมต่อเมืองเชียงใหม่คือ เจ้าบุรีรัตน์เป็นตำแหน่งสำคัญทางการปกครองอันดับสามรองจากเจ้าหลวงเชียงใหม่และเจ้าอุปราช ดังนั้นลักษณะและรูปแบบของอาคารจึงเป็นอาคารเก่าแก่มากที่สุดแห่งหนึ่งมีอายุประมาณ 110 ปี

ภายหลังเจ้าน้อยมหาอินทร์ถึงแก่กรรม เจ้าน้อยชมชื่น ณ เชียงใหม่ (ต่อมาเป็นเจ้าราชภาคินัยและเจ้าราชวงศ์) บุตรชายเจ้าน้อยมหาอินทร์ ได้เป็นผู้ครอบครองอาคาร ระหว่างปี พ.ศ.2437 – 2460 ต่อมานางบัวผัน นิกรพันธ์ (ทิพยมณฑล) ได้ขอซื้อจากเจ้าบุษบา ณ เชียงใหม่ (ภริยาเจ้าน้อยชมชื่น ณ เชียงใหม่) ในราคา 5,000 บาทและได้เชิญพระนายกคณานุการ (เมือง ทิพยมณฑล) บิดามาพำนักอยู่ที่คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ หรือที่เรียกว่า “บ้านกลางเวียง” ดังนั้นในระยะหลังบ้านกลางเวียงจึงเป็นที่พักอาศัยของบุตรและญาติของพระนายกคุณานุการ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2470 เป็นต้นมา
ปี พ.ศ.2529 เมื่อนางบัวผัน ทิพยมณฑล ถึงแก่กรรม นางพรรณจิตร (กิติบุตร) เจริญกุศล บุตรีของนายจรัลและนางบู่ทอง ทิพยมณฑลได้อาศัยอยู่จนถึงปี พ.ศ.2544 นางสาวเรียงพันธุ์ ทิพยมณฑล จึงได้มอบอาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ เจ้าน้อยมหาอินทร์ ให้กับทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่บรรพบุรุษตระกูลทิพยมณฑลและกิติบุตร.

เอกสารประกอบ
วิฑูรย์ เหลียวรุ่งเรือง “คุ้มเจ้าครองนครเชียงใหม่และคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์)” คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,2544.

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]
27/8/60

ร่วมแสดงความคิดเห็น