หนุนปลูกพืชผักสมุนไพร ลดใช้ยา-เสริมสุขภาพดี

นายประยูร บุญธรรม ประธานกลุ่มปลูกพืชผักปลอดภัยแปลงใหญ่ บ้านไชยสถาน หมู่ 10 ตำบลอุโมงค์ เมืองลำพูน กล่าวว่าในอดีตบริเวณบ้านไชยสถาน จะนิยมปลูกลำไยกันมาก แต่มีปัญหาเกี่ยวกับที่ลุ่มน้ำท่วมถึง ชาวบ้านจึงหันมาปลูกพืชผัก โดยกระบวนการลงมือทำ นำองค์ความรู้ต่างๆมาขยายผล จนกลายเป็นกลุ่มผู้ปลูกพืชผักปลอดภัยสารพิษ ปลูกแบบหมุนเวียน มีตลาดเป็นตัวนำการผลิต เช่น ผักบุ้งจีน ผักกาด คะน้า โหระพา กะเพรา กะหล่ำดอก กระเทียม หอมแบ่ง คื่นฉ่าย พริกขี้หนู ฯลฯ มีรายได้หมุนเวียนปีละเกือบ 10 ล้านบาท

มะขามป้อม
กะเพรา

พืชผักมีสรรพคุณแตกต่างกันไป ( ขอบคุณ : ศูนย์สมุนไพร คณะเภสัชศาสตร มช.)
สำหรับการผลิตจะมีข้อตกลงกับบริษัทในเครือนิคมอุตสาหกรรม ลำพูน ซึ่งมีหลายภาคส่วนร่วมประสานงานให้ไม่ว่าจะเป็นเทศบาลตำบลอุโมงค์ สำนักงานเกษตรจังหวัดลำพูน ศูนย์บริหารศัตรูพืชเชียงใหม่ กรมวิชาการเกษตร จากแนวคิดปลูกทุกพืชผักที่กิน ได้ต่อยอดสู่การปลูกพืชสมุนไพร เป็นแหล่งเรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ และยังเป็นแหล่งอาหารปลอดภัยของคนลำพูนอีกด้วย

ดอกขี้เหล็ก

ด้านนายสมศักดิ์ อินทะชัย ประธานชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านไร่กองขิง อ.หางดง  จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่าเดิมพื้นที่บ้านไร่กองขิง มีสภาพไม่แตกต่างจากหมู่บ้าน ชุมชนทั่วๆไป แต่เมื่อองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรืออพท. เข้ามาแนะนำ อบรมให้รู้จักกระบวนการคิด การจัดการด้านท่องเที่ยว รวมถึงหลายภาคส่วนส่งเสริมการพัฒนาชุมชนจากต้นทุนที่มี ซึ่งก็คือพืชผักสมุนไพรที่แต่ละครัวเรือนปลูกกันมาหลายชั่วอายุคน จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ สินค้าชุมชนที่มีชื่อ เริ่มขายในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนมา ก็ขยายตลาดออกไป กลายเป็นผลิตภัณฑ์สบู่เหลวบำรุงผิว,ตะไคร้หอมไล่ยุง,ลูกประคบสมุนไพร ,ชาอัญชัน และอีกหลายสินค้าของดีชุมชนที่กำลังพัฒนาสู่ตลาดทั้งในประเทศและส่งออก

ลูกประคบสมุนไพรไทย ได้รับนิยม

ในขณะที่อาจารย์นาวิน เหมือนมี วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร กล่าวว่า พืชสมุนไพรไทยมีสรรพคุณหลากหลาย เช่น กระเพรา แก้ท้องอืด ช่วยขับลม , อัญชัน บำรุงสายตา มีส่วนช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย , ต้นลีลาวดี รักษาโรคบาดทะยัก เป็นต้น ซึ่งพืชสมุนไพรไทยมากกว่า1,800 ชนิด นั้นจะมีราวๆ 300 ชนิดเป็นวัตถุดิบผลิตยา สมุนไพรในตลาด ส่งออกไม่น้อยกว่าปีละ 500ล้าน สารสกัดสมุนไพรมูลค่าสูงถึง 270 ล้านบาท
ทั้งนี้พืชสมุนไพร เป็นสิ่งที่คงคู่วิถีไทยมาเนิ่นนาน จนกระทั่งปัจจุบันมีนวัตกรรม องค์ความรู้สู่การผลิต หลากรูปแบบ ทั้งเครื่องสำอาง แชมพู สบู่ ยาสีฟัน เครื่องบำรุงผิว เครื่องดื่มบำรุงสุขภาพ ยา เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าศูนย์พืชสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นอีกแหล่งเรียนรู้พืชสมุนไพร ซึ่งในภาคเหนือ มีสวนสมุนไพร ทั้งของหน่วยงานรัฐ เอกชน สถานศึกษา ได้เปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป ตลอดจนเป็นแหล่งวิจัย แหล่งผลิตวัตถุดิบที่นำไปผลิตยา ซึ่งการผลิตสมุนไพรไทย จะมีทั้งเน้นรูปแบบง่าย ๆ และการใช้เทคโนโลยี่ทันสมัย เพื่อผลิตสมุนไพรทางเลือก ภายใต้การควบคุมมาตรฐานเพื่อความปลอดภัยในการใช้และการบริโภค

ศูนย์พืชสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ..อีกแหล่งเรียนรู้..ที่น่าสนใจ

อย่างไรก็ตาม อาจารย์ คมสัน หุตะแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพืชสมุนไพรธรรมชาติ กล่าวว่า สรรพคุณทางยาของสมุนไพรไทย มีความวิเศษที่อ้างอิงจากการใช้ในชีวิตประจำวันซึ่งสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ในตำราแพทย์แผนไทย ซึ่งปัจจุบันมีการเปิดการเรียนการสอนในสถานศึกษาทั่วประเทศ รวมทั้งศูนย์เรียนรู้,ชมรม เครือข่ายสมุนไพรต่างๆ ไม่เพียงเป็นอีกทางเลือกในการใช้ต้นทุนทางสังคมที่ไทยมีสู่ผลิตภัณฑ์ สินค้าต่างๆ ยังเป็นการลดการนำเข้าเวชภัณฑ์ยาจากต่างประเทศที่มีมูลค่านำเข้าแต่ละปีกว่าแสนล้านบาท
สำหรับการใช้สมุนไพร เพื่อสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ก็ต้องทำความเข้าใจหลักการสุขภาพดีว่าต้องประกอบด้วย การรับประทานที่ครบหมวดหมู่ มีการออกกำลังกายเป็นประจำ ทำจิตใจให้สุขสดชื่น ชีวิตก็จะห่างไกลจากโรค จากการเจ็บป่วย ซึ่งก็ต้องยอมรับ บางโรคก็อยู่นอกเหนือความคาดคิด เช่น อุบัติเหตุ หรือผลกระทบจากสภาพแวดล้อม ทั้งมลพิษทางกลิ่น เสียง ที่อาจทำให้เรามีปัญหาด้านสุขภาพกาย ใจได้เช่นกัน

ร่วมแสดงความคิดเห็น