เศรษฐกิจไทยยังสดใส ส่งออก-ท่องเที่ยวแจ่ม

ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทยเดือน ก.ค.ยังสดใส รับอานิสงส์ส่งออก-ท่องเที่ยว-ลงทุนภาครัฐ รับรายได้เกษตรกรรมหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบปี สศอ.โชว์ดัชนีเอ็มพีไอรวม 7 เดือนของปีนี้ขยายตัว 0.62%

นางสาวพรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวยการสำนักวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจ ฝ่ายมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ค.2560 ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยการส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวได้ดี สอดคล้องกับอุปสงค์ต่างประเทศที่ปรับดีขึ้น ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้น จากทั้งเครื่องชี้การลงทุนในภาคก่อสร้างตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะธุรกิจพาณิชยกรรมในกรุงเทพฯ ที่ปรับดีขึ้น ขณะที่การลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์โดยรวมขยายตัวตามการนำเข้าสินค้าทุนที่เพิ่มขึ้นในหลายหมวดสินค้า

สำหรับการบริโภคภาคเอกชนนั้นขยายตัวชะลอลง ส่วนหนึ่งจากรายได้ภาคเกษตรที่หดตัวเป็นครั้งแรกของปีนี้ จากด้านราคาเป็นสำคัญ โดยคาดว่าราคาสินค้าเกษตรจะยังหดตัวต่อเนื่องในไตรมาส 3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะปีนี้ไม่มีปัญหาภัยแล้ง และคาดว่าราคาสินค้าเกษตรจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่การใช้จ่ายในสินค้าหมวดคงทนยังขยายตัวได้เป็นอย่างดี ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเติบโต 4.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวของนักท่องเที่ยวเกือบทุกกลุ่มสัญชาติ ส่วนนักท่องเที่ยวจีนและอาเซียนยังขยายตัวสูงต่อเนื่อง

“ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ค่อยๆ ดีขึ้น โดยมาจากปัจจัยเรื่องการส่งออก การท่องเที่ยวและการใช้จ่ายของภาครัฐ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนนั้นแม้จะปรับตัวดีขึ้น แต่ก็ยังต้องติดตามว่าจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องหรือไม่ ขณะที่รายได้ภาคเกษตรในช่วงครึ่งปีหลังก็ยังไม่ได้สูงมาก แต่ปีนี้มีผลผลิตออกมาจำนวนมาก แต่เชื่อว่าในระยะต่อไปรายได้เกษตรกรจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น” นางสาวพรเพ็ญกล่าว

ด้าน นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) ในช่วง 7 เดือนของปี 2560 นี้ (ม.ค.-ก.ค.) ขยายตัว 0.62% มั่นใจทั้งปีจะขยายตัวตามที่คาดการณ์ไว้ 0.5-1.5% ส่วนอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ในภาคอุตสาหกรรม 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.) ขยายตัว 1.2% คาดทั้งปีขยายตัวได้ตามที่คาด 1-2% และแนวโน้มเอ็มพีไอปี 2561 จะดีขึ้นกว่าปีนี้ ผลมาจากแรงส่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐโดยเฉพาะระบบราง การลงทุนในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ยานยนต์ และเครื่องมือแพทย์ เป็นต้น

“ถ้าเอ็มพีไอในช่วง 5 เดือนที่เหลือของปีนี้ (ส.ค.-ธ.ค.) โตเฉลี่ยไม่น้อยกว่าเดือนละ 0.35% เอ็มพีไอทั้งปีคาดจะโตได้ 0.5% แต่ สศอ.ประเมินความเป็นไปได้มากที่สุด คาดเอ็มพีไอทั้งปีน่าจะโตได้ประมาณ 1% กว่า โดย 5 เดือนที่เหลือของปีจะต้องโตเฉลี่ยเดือนละ 1.55% ซึ่งยังคงต้องติดตามตัวเลขหลังสิ้นสุดไตรมาส 3 ของปี (ก.ค.-ก.ย.) ไปแล้วอีกครั้ง เพราะยังมีโอกาสที่เอ็มพีไอทั้งปีจะโตได้ 1.5% เป็นเป้าหมายสูงสุด จาก 5 เดือนที่เหลือโตเฉลี่ยได้เดือนละ 2.75%” นายวีรศักดิ์กล่าว.

ร่วมแสดงความคิดเห็น