วิถีชาวยองบ้านแม่สาร หญิงทอผ้า ชายปั้นปูน

บ้านแม่สาร ตำบลเวียงยอง เป็นหมู่บ้านชุมชนชาวยองที่อพยพเข้ามาเมื่อราว 200 ปีเศษ ในปี พ.ศ.2348 เมืองลำพูนได้รับการจัดตั้งขึ้นมาใหม่ ภายหลังที่คนยองถูกกวาดต้อนมาอยู่มีพระยาบุรีรัตน์คำฝั้น อนุชาของพระเจ้ากาวิละมาครองเมืองเป็นองค์แรก เจ้าบุญมาน้องคนสุดท้ายของตระกุลเจ้าเจ็ดตนเป็นพระยาอุปราชเมืองลำพูน การแบ่งไพร่พลคนยองในการตั้งถิ่นฐานที่ลำพูน เจ้าหลวงคำฝั้นเจ้าเมืองลำพูนให้พญามหิยังคบุรี เจ้าเมืองยองและน้องอีก 3 คนตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำกวงด้านทิศตะวันออกติดกับเมืองลำพูนที่บ้านเวียงยอง

การตั้งถิ่นฐานของชาวยองจะเป็นการตั้งถิ่นฐานและขยายตัวของชุมชนตามแนวลำน้ำที่เหมาะสมในการเกษตรเป็นสำคัญหมู่บ้านหลักในลุ่มแม่น้ำกวง ได้แก่ บ้านเวียงยอง บ้านยู้ บ้านหลวย บ้านตอง (บ้านแม่สาร) ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ทำสวน ช่างก่อสร้าง ช่างปูนปั้น และแม่บ้านทอผ้า ในอดีตชาวบ้านจะเรียนรู้การทอผ้าตั้งแต่เด็ก ทำให้บ้านเกือบทุกหลังจะมีกี่ทอผ้าอยู่ภายในบ้าน ส่วนผู้ชายก็ได้เรียนรู้วิธีการทำปูนปั้นและงานก่อสร้างต่าง ๆ ทำให้งานปูนปั้นและงานก่อสร้างของหมู่บ้านมีความวิจิตรสวยงามและเป็นที่เลื่องลือไปยังที่อื่น ๆ

อาชีพช่างปูนปั้นแม่สารบ้านตอง ที่ทำกันอยู่ในปัจจุบันนี้ สืบทอดมาจากช่างฝีมือในหมู่บ้านของตนเอง จากคำบอกเล่าของช่างในหมู่บ้านผู้ที่เริ่มงานช่างคนแรกคือครูบาคำมูล ธมฺมวํโส เจ้าอาวาสรูปที่ 4 ของวัดบ้านตองซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้าน ครูบาคำมูลมีอายุอยู่ในช่วงปี พ.ศ.2423 ถึง พ.ศ.2499 วัดที่ครูบาคำมูลได้สร้างเป็นวัดแรกคือวัดจักรคำภิมุข ซึ่งเป็นวัดของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ กลุ่มช่างบ้านแม่สารบ้านตอง เป็นกลุ่มช่างที่สำคัญกลุ่มหนึ่งในจังหวัดลำพูน เนื่องจากผู้ชายในบ้านแม่สารบ้านตองส่วนใหญ่เป็นช่างก่อสร้างวิหาร โบสถ์ วิหาร ตามวัดต่าง ๆ ทั่วภาคเหนือ โดยการก่อสร้างช่างในหมู่บ้านจะมีช่างก่อสร้างที่ทำหน้าที่สร้างโครงสร้าง และช่างที่ทำหน้าที่ตกแต่งหรือช่างปูนปั้น โดยการปั้นหรือหล่อปูนประดับตกแต่งตามหน้าบัน ซุ้มประตู ช่อฟ้า ใบระกา เพื่อให้สิ่งก่อสร้างเหล่านั้น

ผลงานช่างปูนปั้นของบ้านแม่สารบ้านตอง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในเรื่องของลวดลาย โดยเฉพาะลายแบบพื้นเมือง ลายแต่ละอย่างไม่มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ไม่การการบันทึกไว้ในตำราหรือแบบเรียน ส่วนมากจะใช้วิธีถ่ายทอดสืบต่อ ๆ กันมาก และมีชื่อเรียกติดปากกันในหมู่ช่างว่า “ลายเมือง” ลายที่ขึ้นชื่ออาทิ เช่น ลายสัปปะรด ลายดอกพุดตาน ลาบกูด (เป็นเถา) บางท่านก็เรียกว่าลายเก่า ลายโบราณ

การปั้นปูนของกลุ่มช่างบ้านแม่สารบ้านตอง ด้านความสวยงามของลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของล้านนาหรือลายเมืองที่ช่างพื้นบ้านเรียกกันยังคงเหมือนเดิม   แต่วัสดุที่ใช้ในการปั้นลวดลายได้เปลี่ยนไปตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี  ส่วนใหญ่จะใช้ปูนซีเมนต์มาเป็นวัตถุดิบหลักในงานปั้นปูน  เนื่องจากความสะดวกรวดเร็วในผลิตผลงาน  รวมทั้งการใช้ต้นทุนและเวลาในการเตรียมวัสดุที่น้อยกว่า

สำหรับท่านที่เดินทางไปยังบ้านแม่สาร นอกจากจะพบเห็นวิถีชีวิตการทอผ้าแล้ว ยังมีสถานท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่า เช่น วัดแม่สารบ้านตอง ถือเป็นวัดโบราณเก่าแก่ของชุมชนชาวยอง อายุกว่า 200 ปี สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากาวิละ ซึ่งตรงกับปีขาล พ.ศ.2348 จุลศักราช 1167 ยุคที่เจ้าบุรีรัตน์ (ผู้เป็นน้องชายพระเจ้ากาวิละผู้ครองนครเชียงใหม่) เป็นเจ้าผู้ครองนครลำพูน ตรงกับรัชกาลที่ 1

นอกจากนั้นในหมู่บ้านแม่สารยังมี กู่ผียักษ์ เป็นโบราณสถานที่สำคัญมีอายุเก่าแก่หลายร้อยปีของเมืองลำพูน กู่แห่งนี้มีชื่อเรียกตามภาษาชาวบ้านว่า “กู่สิงห์ตอง” กู่แห่งนี้มีลักษณะเป็นมณฑปทรงสี่เหลี่ยสจัตุรัส กว้างประมาณ 3 เมตร มีฐานปัทม์ลูกแก้วรองรับเรือนธาตุ ทั้งฐานปัทม์และส่วนเรือนธาตุมีลักษณะยื่นเก็จออกมาหนึ่งชั้น ในส่วนยื่นเก็จของเรือนธาตุยังมีซุ้มประกอบด้านละหนึ่งซุ้ม ก่อซุ้มแบบสันเหลื่อมเฉพาะซุ้มด้านทิศตะวันออกเป็นซุ้มจระนำเข้าไปภายในกู่ได้

จักรพงษ์ คำบุญเรืองจักรพงษ์ คำบุญเรือง [email protected] 3/8/60

ร่วมแสดงความคิดเห็น