เปิดเวทีระดมข้อเสนอ พัฒนาตลาดยางพารา

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ประธานคณะทำงานจัดทำยุทธศาสตร์ยางพารา เปิดเผยว่ายางพาราเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจของไทย ปัจจุบันมีเนื้อที่ปลูกประมาณ 22 ล้านไร่ สามารถผลิตยางธรรมชาติได้ 4.4 ล้านตัน สร้างรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยางที่มีประมาณ 1.6 ล้านครัวเรือน ประมาณ 3 แสนล้านบาท เกิดการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมยางพาราถึง2-3 แสนคน แลแต่ละปียางธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์ยาง สร้างรายได้จากการส่งออกให้ไทยไม่น้อยกว่า 4แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมยางพารามีปัญหาหลายประการ เป็นสินค้าที่ต้องพึ่งพาตลาดส่งออกเป็นหลัก ถูกนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ยางจากโรงงานที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยแค่ ร้อยละ 14 เท่านั้น ที่เหลือส่งออกในรูปยางที่เป็นวัตถุดิบ กระทรวงเกษตรฯ จึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ยางพารา 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) เพื่อแก้ไขปัญหา
โดยร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าว มี 5 ประเด็นยุทธศาสตร์ 19 กลยุทธ์ย่อย มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เพิ่มประสิทธิภาพ และการยกระดับคุณภาพและมาตรฐาน การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม พัฒนาตลาด และช่องทางการจัดจำหน่าย
ทั้งนี้ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ร่างยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปีกำหนดวิสัยทัศน์สู่ความ “เป็นผู้นำของโลกในด้านการผลิตและการส่งออกยางธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ยาง และผลิตภัณฑ์ไม้ยางพารา” ซึ่งจะจัดทำประชาพิจารณ์ร่างยุทธศาสตร์นี้ในวันอังคารที่ 12 กันยายนนี้ช่วง 9.00-12.00 น. ที่การยางแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่ คาดว่าจะมีเครือข่ายเกษตรกร ชาวสวนยางและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
ด้าน นายธรรมนูญ อุ่นธวัชนัดดา ผอ.สำนักงานการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จ.เชียงราย กล่าวว่า หากร่างดังกล่าว ลุล่วงตามเป้าหมายจะส่งผลดีต่ออนาคตยางพาราไทย โดยเฉพาะเกษตรกร ชาวสวนยางฯจะไม่ต้องเผชิญกับอุปสรรคปัญหาแบบเดิมๆในตลาดซื้อขาย ซึ่งในภาคเหนือนั้น จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่มีการปลูกยางพาราค่อนข้างเยอะ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เครือข่ายชาวสวนยางภาคเหนือ ระบุว่า การนำเสนอความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับยางพารา ควรต้องได้รับการแก้ไข ผลักดันอย่างต่อเนื่อง เพราะปัญหาพืชเศรษฐกิจไทยทุกประเภทจะมีปัญหาเรื่องราคาตกต่ำมาโดยตลอด และต้นทุนการผลิตสูง ทำให้เป็นอุปสรรคในการแข่งขันทางการค้าทุกตลาด


0..ไทยมีพื้นที่สวนยางส่วนหนึ่งที่อยู่ในเขตป่าสงวน ทำให้ประเทศผู้ซื้อ ตลาดหลักๆกำหนดมาตรการ กีดกันการค้าในรูปแบบมาตรฐาน ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการป่าไม้

ร่วมแสดงความคิดเห็น