อบรมหลักสูตรการจัดการเรียนรู้ สะเต็มศึกษา

ศูนย์สะเต็มศึกษา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จัดอบรมหลักสูตรการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษาและการออกแบบกิจกรรมสะเต็มศึกษา สำหรับครูประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น รุ่นที่ 2 โดยมีอาจารย์ ดร.เพ็ญศรี ประมุขกุล รองคณบดีฝ่ายแผนและงบประมาณ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เป็นประธานพิธีเปิดการอบมรม เมื่อวันที่ผ่านมา

อาจารย์ ดร.ชาญ ยอดเละ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กล่าวว่า สะเต็มศึกษาเป็นหนึ่งในแนวคิดของการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เป็นการจัดการเรียนรู้ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาผู้เรียน แนวคิดของสะเต็มศึกษา (STEM Education) เป็นแนวคิดที่ส่งเสริมการเรียนรู้โดยบูรณาการ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ อันจะทำให้ผู้เรียนได้สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ ความสามารถและทักษะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ STEM ไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้

ที่ผ่านมาได้มีการรณรงค์เพื่อให้ครูได้เรียนรู้ในหลักการสะเต็มศึกษา ได้เข้าร่วมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษา อย่างไรก็ตามยังมี ครูและบุคลากรทางการศึกษาอีกเป็นจำนวนมากที่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจ และจำเป็นต้องพัฒนาการบูรณาการของการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษา รวมถึงสามารถออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อที่จะสามารถนำไปใช้กับการเรียนการสอน ตามความเหมาะสมของบริบทท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง

ศูนย์สะเต็มศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เป็นหน่วยงานที่เป็นเครือข่ายมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงร่วมกับสถาบันเสริมส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท) ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานฝึกอบรมและให้คำปรึกษาที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษา ทางศูนย์สะเต็มศึกษา จึงได้จัดอบรมหลักสูตรการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษาและการออกแบบกิจกรรมสะเต็มศึกษา สำหรับครูประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น รุ่นที่ 2 ณ.โรงแรมเมอร์เคียวเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 9-10 กันยายน 2560

 

ทั้งนี้ เพื่อให้ครูได้เรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษา ในศตวรรษที่ 21 เพื่อให้ครูได้ปฏิบัติการตามชุดกิจกรรมสะเต็มศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น เพื่อให้ครูได้ปฏิบัติการออกแบบกิจกรรมสะเต็มศึกษา ที่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนและท้องถิ่น อีกทั้งให้ครูสามารถประยุกต์แนวคิดของการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษาไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนและการพัฒนานวัตกรรมของเยาวชนไทยในอนาคต

ร่วมแสดงความคิดเห็น