สศก.เปิดตัวเลขครัวเรือน เกาะติดหนี้สินเกษตรไทย

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเผยถึงภาวะเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนเกษตร เกาะติดรายได้และหนี้สินเกษตรกรไทย คาดปลายปี 60 – 61 หากมีผลผลิตดี รายได้เกษตรกรจะเพิ่มขึ้นและหนี้สินจะลดลง ชี้ภาวะเศรษฐกิจโลกรวมทั้งปัจจัยสนับสนุนภายในจากนโยบายภาครัฐจะช่วยยกระดับภาคการเกษตรให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนเกษตร ซึ่งหากเปรียบเทียบจำนวนประชากรภาคเกษตร กับประชากรทั้งประเทศในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ไทยมีการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรจาก 59.46 ล้านคน ในปี 2538/39 เป็น 65.13 ล้านคนในปี 2558/59 หรือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.40 ต่อปี ในขณะที่ประชากรภาคการเกษตร มีแนวโน้มลดลงร้อยละ 0.91 ต่อปี โดยปัจจุบัน ภาคเกษตรไทย มีครัวเรือนเกษตรประมาณ 5.9 ล้านครัวเรือน พื้นที่ถือครองทางการเกษตร 149.23 ล้านไร่
นางสาวจริยา กล่าวต่อว่า ภาวะเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนเกษตร ปีเพาะปลูก 2538/39 มีประชากรภาคเกษตร 26.35 ล้านคน จำนวนแรงงานเกษตร 19.024 ล้านคน ครัวเรือนเกษตร 5.5 ล้านครัวเรือน ปีการเพาะปลูก 2547/48 มีประชากรภาคการเกษตร 23.47 ล้านคน แรงงานเกษตร 16.287 ล้านคน ครัวเรือนเกษตร 5.7 ล้านครัวเรือน ปีการเพาะปลูก 2557/58 ประชากรภาคการเกษตรมี 21.54 ล้านคน แรงงานภาคเกษตรมี 15.978 ล้านคน ครัวเรือนเกษตร 5.9 ล้านครัวเรือน
เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับปีการเพาะปลูก 2558/59 ที่ผ่านมา มีประชากรเกษตร 21.69 ล้านคน มีแรงงานภาคเกษตร 14.77 ล้านคน ครัวเรือนเกษตร 5.9 ล้านครัวเรือน และถ้าเปรียบเทียบรายได้เงินสดรวมปีเพาะปลูก2557/58 มีรายได้รวมแยกเป็นรายได้ในภาคเกษตร148,390 บาท นอกภาคเกษตร 134,869 บาท ในปีการเพาะปลูก 2558/59 รายได้รวม 300,565 บาท รายได้ในยภาคเกษตร 157,373 บาท นอกภาคเกษตร 143,192 บาทในภาคเกษตร รายได้เงินสดสุทธิครัวเรือนปีการเพาะปลูก 2557/58มี63,431บาท แต่ปี2558/59 มี52,395บาทลดลงร้อยละ 17.4 หนี้สิน/สินเชื่อ (ณ 31 มี.ค.) ปีการเพาะปลูก2557/58 มี117,346 บาท ปีการเพาะปลูก 2558/59 มี 122,695บาท เพิ่มขึ้น4.55 %
อย่างไรก็ตามปี 2559/60 – ปี2560/61 คาดว่า รายได้ครัวเรือนเกษตรจะเพิ่มขึ้น จากผลผลิตเกษตรที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพดินฟ้าอากาศเอื้ออำนวย และภาวะเศรษฐกิจโลกรวมทั้งปัจจัยสนับสนุนภายในจากนโยบายภาครัฐที่มีแผนงาน/โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยธรรมชาติ และ ระบบการส่งเสริมเกษตรสมัยใหม่โดยใช้รูปแบบประชารัฐ เช่น แผนบริหารการผลิตการตลาดข้าวครบวงจร เกษตรคุณภาพ/อินทรีย์ แปลงใหญ่ ปรับเปลี่ยนพื้นที่ตามแผนที่เกษตรที่เหมาะสม การจัดโซนนิ่งเกษตร เพิ่มระบบส่ง/กระจายน้ำ และโครงการ 9101 เป็นต้น นางสาวจริยา กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น