มช.ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและ 4 มหาวิทยาลัย พัฒนากำลังคนสายวิชาชีพรังสีเทคนิค

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วาสนา ศิริรังษี คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือในการพัฒนากำลังคนสายวิชาชีพรังสีเทคนิค

ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อผลิตนักรังสีเทคนิค รวมปีละ 50 คน โดยมีเงื่อนไขหลังจบการศึกษา จะต้องกลับไปทำงานที่บ้านเกิดตามระยะเวลาที่กำหนด และระหว่างการเรียนจะได้รับทุนการศึกษา 30,000 บาท/คน/ปี เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2560 ณ ห้องประชุมสำนักงานกระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร

นายแพทย์ โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า นักรังสีเทคนิค เป็นผู้ที่มีความสำคัญต่อระบบสาธารณสุข ในด้านการวินิจฉัยโรคด้วยเครื่องมือด้านรังสีวิทยา เช่น เครื่องถ่ายภาพเอ็กซเรย์ การตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ การใช้เครื่องฉายรังสีสำหรับการรักษามะเร็ง เป็นต้น

ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบโรคศิลปะของสำนักสถานพยาบาล กำหนดให้ผู้ใช้เครื่องมือทางรังสีวิทยา ต้องเป็นผู้ที่มีวิชาชีพเกี่ยวข้องกับทางรังสี และควบคุมความปลอดภัยของเครื่องมือทางรังสี ผู้ที่จะควบคุมต้องได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ควบคุมความปลอดภัยรังสี ตามพระราชบัญญัตินิวเคลียร์เพื่อสันติ

ด้วยมาตรฐานการปฏิบัติงานรังสีเทคนิคต้องมีผู้ประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิค ส่งผลให้เป็นหนึ่งในวิชาชีพที่ขาดแคลนบุคลากร ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 5 สิงหาคม 2559) กระทรวงสาธารณสุข มีนักรังสีเทคนิคทั้งสิ้น 1,771 คน ต้องการเพิ่มอีก 1,000 คน เพื่อให้เป็นไปตามกรอบขั้นต่ำ 2,700 คน โดยโรงพยาบาลที่ไม่มีนักรังสีเทคนิค จำนวน 193 แห่ง เป็นปัญหาต่อการให้บริการในระบบสุขภาพ

ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษา ประมาณ 10 สถาบัน ผลิตนักรังสีเทคนิคปีละ 200 คนต่อปี โดยส่วนใหญ่เมื่อสำเร็จการศึกษาจะเลือกทำงานในสถานพยาบาลเอกชน ในเบื้องต้นกระทรวงสาธารณสุขได้มีการแก้ไขปัญหา โดยจัดสรรตำแหน่งข้าราชการ 20 ตำแหน่ง และพนักงานราชการ 155 ตำแหน่งรองรับ

ขณะนี้กำลังรอบรรจุในส่วนของพนักงานราชการ สำหรับการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จะสามารถผลิตบุคลากรสาขานักรังสีเทคนิคเข้ามาเติมเต็มในระบบสุขภาพ ปีละ 50 คน เพื่อให้การวินิจฉัยและรักษาโรคด้วยมาตรฐานวิชาการและบริการในระดับสากล

ร่วมแสดงความคิดเห็น