เมืองพ่อขุนเร่งเดินหน้าปั้น บ่อน้ำร้อนดูดเงินท่องเที่ยว

รัฐ-เอกชน จับมือมหาวิทยาลัยใหญ่ เดินหน้าวิจัยต่อยอด 10 บ่อน้ำแร่เชียงราย-2 แหล่งน้ำพุร้อนแพร่/น่าน ปั้น “ลานนาเวลเนสส์” สร้างมูลค่าเพิ่มด้านการท่องเที่ยว เหมือนออนเซ็นญี่ปุ่น

รายงานข่าวแจ้งว่า สนง.ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดฯ , มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย , สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชียงราย รวมถึงกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ได้ร่วมกันจัดงาน “เชียงราย ลานนาเวลเนสส์” ขึ้นที่บริเวณลานทะเลหมอก ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา สาขาเชียงราย ตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้(24 ก.ย.) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์จากน้ำพุร้อนไปใช้ในการบริการในธุรกิจสปาและโรงแรม

ดร.ศรชัย มุ่งไทธง อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มร.ชร.) ที่เดินทางมาเป็นประธานเปิดงาน กล่าวว่า เชียงรายเป็นแหล่งที่มีบ่อน้ำแร่ตามธรรมชาติหลายแห่ง ซึ่งหากมีการศึกษาวิจัย จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางด้านสุขภาพได้อย่างมีคุณภาพ สนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยว และรายได้ของประชากร เช่นเดียวกับออนเซ็นญี่ปุ่น ดังนั้นทาง มร.ชร.จึงได้ทุ่มในการวิจัยเรื่องนี้มาต่อเนื่อง และได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรมครั้งนี้ ซึ่งคาดหวังว่าจะสานต่อให้มีความยั่งยืนต่อไป

ด้านนายกิตติ ทิศสกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จ.เชียงราย กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเชียงราย ปีละประมาณ 2.7 ล้านคน สร้างรายได้เข้าจังหวัดปีละเกือบ 30,000 ล้านบาท และยังมีแนวโน้มโตขึ้น โดยที่จังหวัดเองมุ่งนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านสมุนไพร สุขภาพและประวัติศาสตร์เป็นหลัก

กรณีของแหล่งน้ำพุร้อน และน้ำแร่ ที่มีอยู่ในเชียงรายถึง 10 แห่ง ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำแร่มากเป็นอันดับ 3 ของประเทศ นอกจากนี้ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ยังมีที่แพร่ และน่าน อีกจังหวัดละ 1 แห่ง รวมทั้งหมด 12 แห่งนั้น ก็กำลังจะได้รับการพัฒนาเพื่อให้เข้าสู่นโยบายดังกล่าว เนื่องจากในปัจจุบันนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวต่างประเทศนิยมมาก

นายกิตติ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา แม้รัฐจะทุ่มงบประมาณไปกับการพัฒนาแหล่งน้ำพุร้อน และน้ำแร่หลายแห่งแต่ก็ยังไม่มีการเชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยวร่วมกัน หรือนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์น้ำแร่ เพื่อการเป็นถิ่นลานนาสุขภาพ หรือลานนาเวลเนสส์อย่างแท้จริง อย่างมากก็มีเพียงเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเฉพาะจุด มีการนำน้ำแร่ไปใช้ เพื่อต้มไข่ และหน่อไม้

ดังนั้นทางกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 และสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬา จ.เชียงราย รวมถึง มร.ชร.จึงได้สนับสนุนการพัฒนาแหล่งน้ำแร่ เพื่อนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น แชมพู สบู่ ครีมทาผิว น้ำดื่ม สมุนไพรประคบ ฯลฯ โดยมีการศึกษาดูงาน วิจัย และร่วมมือกับภาคเอกชนด้วย

ขณะที่ ดร.พีรญา ชื่นวงศ์ รอง ผอ.สำนักส่งเสริมวิชาการ มร.ชร.กล่าวว่า จากการวิจัยพบว่า น้ำแร่ในเชียงราย สามารถนำมาบริโภคได้โดยตรง และสามารถนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี รวมทั้งกำลังเป็นที่นิยม เพราะบางแหล่งอยู่ใต้ท่าอากาศยาน เช่น บ่อน้ำร้อนบ้านโป่งพระบาท ต.บ้านดู่ ซึ่งมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ ลงเครื่องแล้วไปแช่น้ำแร่-นวดสปาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์

และในอนาคตจะการวิจัยเรื่องการนำโคลนมาใช้ ซึ่งพบมากในแหล่งน้ำแร่ ต.ดอยฮาง อ.เมือง และจะมีการวิจัยด้านโลจิสติกส์ ในการนำน้ำแร่ไปใช้ประโยชน์ในสถานประกอบการต่างๆ เช่น โรงแรม สปา ฯลฯ เพราะมีปริมาณน้ำแร่ธรรมชาติที่ไหลออกมาไม่มีหมดด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น