มุ่งกำหนดทิศทางพัฒนา ท่องเที่ยวเชียงราย-พะเยา

องค์กรด้านการท่องเที่ยวเชียงรายประชุมมุ่งทำการตลาดปี 61 ร่วมกันกำหนดทิศทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงคู่รวมขายโปรแกรมเชียงราย-พะเยาเน้นต้นทุนทางศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก
รายงานข่าวจากจังหวัดเชียงรายแจ้งว่า ที่ห้องเชียงรุ้ง โรงแรมเวียงอินทร์ อ.เมือง จ.เชียงราย นายเลิศชาย หวังตระกูลดี ผอ.ททท.สำนักงานเชียงราย น.ส.ปราณปริยา พลเยี่ยม ผอ.สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จ.เชียงราย พ.ต.ท.ฉันทฤทธิ์ เหล่าไพโรจน์จารี สารวัตรตำรวจท่องเที่ยวเชียงราย และนายกิตติ ทิศสกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จ.เชียงราย ร่วมกันแถลงผลการทำงานด้านการท่องเที่ยวตลอดปี 2560 และทิศทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเชียงราย-พะเยา ในปี 2561 โดยมีภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ที่พัก โฮมสเตย์ ชุมชนชาวบ้าน ฯลฯ เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
นายเลิศชาย กล่าวว่า ที่ผ่านมาหลายคนมักมองว่าการท่องเที่ยวของ จ.เชียงใหม่ มีความหลากหลายและพร้อมสรรพมากกว่า เช่น มีที่พัก ปางช้าง ศูนย์ต่างๆ ฯลฯ จึงมักมีการนำ จ.เชียงราย เข้าไปเปรียบเทียบอยู่เสมอ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันเมื่อสอบถามว่าอยากให้ จ.เชียงราย กลายเป็นเชียงใหม่แห่งที่ 2 ใช่หรือไม่ ก็พบว่าต่างไม่อยากให้เชียงรายมีสภาพเหมือนเชียงใหม่เพราะพบว่าปัจจุบันการจราจรแออัดและหลายอย่างไม่สอดคล้องกับความเป็นเมืองท่องเที่ยวของเชียงรายเลย ดังนั้นจึงได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยการแบ่งกลุ่มคนที่เป็นเป้าหมายด้านการท่องเที่ยวออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่กลุ่มครอบครัว กลุ่มผู้สูงอายุมีฐานะดี และกลุ่มวัยรุ่น
นายเลิศชายกล่าวอีกว่าที่ผ่านมาจึงได้ประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการเพิ่มมูลค่าสินค้าที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น ตัวอย่างสินค้าแก้วน้ำพอลแฟรงค์ที่ออกแบบให้มีคอนเทนท์และเป็นเอกลักษณ์ด้วยจำนวนที่จำกัดก็สามารถจำหน่ายให้กลุ่มลูกค้าบางกลุ่มดังกล่าวได้อย่างล้นหลามและมีราคาแพงกว่าปกติ เป็นต้น
ขณะเดียวกันมีการเชื่อมตลาดล้านนาตะวันออกที่มีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์โดยเฉพาะเชียงราย-พะเยา ถือว่าเชื่อมกันสำเร็จแล้วและในปี 2560 นี้ทาง ททท.ได้มุ่งทำตลาดไปยังกลุ่มเป้าหมายต่างๆ เพื่อให้เป็นที่รับรู้แล้ว ดังนั้นในปี 2561 จึงจะเป็นเรื่องของการเสนอขายไปยังกลุ่มเป้าหมายทั้งหมดดังกล่าวซึ่งจะสานต่อความมั่งคั่ง มั่นคงและยั่งยืนตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลต่อไป
ด้าน น.ส.ปราณปริยา กล่าวว่าในปี 2560 เราได้มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนกันอย่างมาก เพราะมีต้นทุนเกี่ยวกับความหลากหลายของชาติพันธุ์และชุมชนท้องถิ่นที่เป็นเอลักษณ์เฉพาะตนซึ่งการส่งเสริมให้กลุ่มต่างๆ เหล่านี้มีการบริการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนของตนเองก็จะควบคู่ไปกับการส่งเสริมโครงการเชียงรายอาหารปลอดภัยของภาคเอกชนและจังหวัดที่ได้ร่วมกันมาก่อนหน้านี้แล้วด้วย เพราะเห็นว่าเมื่อแหล่งท่องเที่ยวในแต่ละชุมชนสามารถผลิตอาหารที่ปลอดภัยก็จะทำให้นักท่องเที่ยวที่ไปเยือนมีความมั่นใจในอาหารที่จะบริโภคซึ่งจะส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืนต่อไป
“ขณะเดียวกันยังได้มีการส่งเสริมช่องทางการเชื่อมโยงกับประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และสปอร์ตทัวร์ลิสซึ่มหรือการท่องเที่ยวเชิงกีฬาโดยมีการจัดกิจกรรมทั้งการวิ่งและจักรยานซึ่งพบว่าเชียงรายเรามีภูมิประเทศและเส้นทางที่สุดยอดเป็นที่ประทับใจของผู้เข้าร่วมกิจกรรมหลายพันคนเป็นอย่างมาก”
น.ส.ปราณปริยา กล่าวและว่าดังนั้นในปี 2561 ภาครัฐจึงจะมีการสานต่อโครงการเดิมด้วยการส่งเสริมอาหารท้องถิ่นเพื่อต่อยอดการท่องเที่ยวโดยชุมชน รวมทั้งส่งเสริมด้าน Refresh and Recharge คือการท่องเที่ยวเพื่อความสดใสและเติบพลังให้กับผู้ที่เหน็ดเหนื่อยและต้องการไปพักผ่อนได้อย่างเต็มรูปแบบต่อไป
ด้านนายกิตติ ทิศสกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จ.เชียงราย กล่าวว่าเชียงรายมีนักท่องเที่ยวไปเยือนปีละประมาณ 2.7 ล้านคน สร้างรายได้เข้าจังหวัดปีละเกือบ 30,000 ล้านบาท และที่ผ่านมาภาคเอกชนได้พยายามให้มีการกระจายรายได้ไปสู่ภาคประชาชนเพื่อให้มีความยั่งยืนร่วมกันด้วยการส่งเสริมการเกษตรปลอดภัยและสร้างเครือข่ายเพื่อกระจายผลผลิตปลอดภัยไปยังหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ร้านอาหาร โรงแรม ฯลฯ กระทั่งปัจจุบัน จ.เชียงราย มีนโยบายพัฒนาจังหวัดด้วยแนวทางส่งเสริม Health herb heritage หรือสุขภาพ สมุนไพรและมรดกทางประวัติศาสตร์ ภาครัฐมีงบประมาณเข้าไปส่งเสริมกว่า 300 ล้านบาท
นายกิตติกล่าวอีกว่าที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าหลังการพัฒนาในปี 2560 และก่อนหน้านั้นได้ทำให้แต่ละชุมชนท้องถิ่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองขึ้นมาขายด้านการท่องเที่ยวมากมาย ซึ่งต่อไปก็จะมีการส่งเสริมด้านอาหารปลอดภัย เกษตรออแกนิคส์ การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ฯลฯ อย่างต่อเนื่องต่อไปเพราะถือเป็นรากฐานของประชาชนในเชียงรายที่จะได้รับจากความเป็นเมืองท่องเที่ยวดังกล่าวร่วมกันและเมื่อได้รับประโยชน์ร่วมกันก็จะได้ร่วมกันดูแลและพัฒนาร่วมกันได้อย่างยั่งยืนต่อไป.

ร่วมแสดงความคิดเห็น