ภูมิพลมหาราช “พลังแห่งแผ่นดิน” ศูนย์รวมใจไทยทั้งชาติ

ใน “บันทึกแม่.. เล่าว่า “..สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี….เคยมีรับสั่งกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถึงความหมายของพระนาม “ภูมิพล” ไว้ว่า “อันที่จริงเธอก็ชื่อภูมิพล ที่แปลว่า กำลังของแผ่นดิน แม่อยากให้เธออยู่กับดิน”

พระปรมาภิไธยของพระเจ้าอยู่หัวคือ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร” พระราชสมภพเมื่อเวลา 08:45 น. ในวันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2470 ที่โรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา โดยในขณะนั้น สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (พระนามเดิม สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์) ทรงศึกษาแพทยศาสตรที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พระนามเดิม หม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา) กำลังทรงศึกษาวิชาการอยู่ที่นั่น

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ทรงเล่าถึง การตั้งพระนามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไว้ในหนังสือ “เจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์” ว่า “สมเด็จพระศรีสวรินทรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จฯ ไปเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระองค์โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามว่า “ภูมิพลอดุลเดช”  (สะกดแบบไม่มี “ย”) คำว่า “อดุลเดช” นั้นเป็นการสะกดเหมือนพระนามพระบิดาซึ่งสะกดแบบไม่มี “ย” มาแต่ต้น คือ มหิดลอดุลเดชฯ  ต่อมามีการเขียนแบบ “อดุลยเดช” ด้วย ในที่สุดจึงนิยมใช้แบบ “อดุลยเดช” พระนามสมเด็จพระเชษฐภคินี สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

มีการแต่งตั้งให้คล้องจองกัน คือ กัลยาณิวัฒนา อานันทมหิดล ภูมิพลอดุลเดช จะต่างที่ ผู้พระราชทานพระนามสมเด็จพระเชษฐภคินี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8  คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อพระชนมายุได้ 5 พรรษา ทรงเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนมาแตร์เดอี กรุงเทพมหานคร

ต่อมาเสด็จฯไปศึกษาในชั้นประถมศึกษา ที่โรงเรียนเมียร์ม๊องต์ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงรอบรู้ มีทักษะหลายภาษา ทั้ง อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และละติน ในระดับอุดมศึกษาทรงเข้าศึกษาใน แผนกวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมืองโลชานน์ เมื่อปี พ.ศ.2481 เสด็จนิวัตพระนครพร้อมพระบรมเชษฐาธิราช พระบรมราชชนนี และสมเด็จพระนางเจ้าพี่นางเธอขณะดำรงพระอิสริยยศเป็น “พระเจ้าน้องยาเธอ” ภายหลัง “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8” เสด็จสวรรคต

ขณะนั้น “เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช” ทรงมี พระชนมพรรษา 18 พรรษา รัฐบาลได้กราบบังคมทูลอัญเชิญขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ และรัฐบาลได้แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการ บริหารราชการแผ่นดินแทนพระองค์ เนื่องจากทรงพระเยาว์ และต้องศึกษาต่อ ณ กรุงโลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์ แม้จะทรงโปรดวิชาวิศวกรรมศาสตร์แต่เพื่อประโยชน์ ในการปกครองประเทศได้ทรงเปลี่ยนมาศึกษาวิชาการปกครองแทนเช่น วิชากฎหมาย อักษรศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ และภูมิศาสตร์

นอกจากนี้ ทรงศึกษาและฝึกฝนการดนตรีด้วยพระองค์เองด้วย ในพ.ศ.2491 หลังจบการศึกษาจากสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์เสด็จไปเยือนกรุงปารีส ทรงพบกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาของหม่อมเจ้านักขัตมงคล กิติยากร เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส ระหว่างประทับยังต่างประเทศ ขณะที่พระองค์ทรงขับรถยนต์พระที่นั่ง จากเจนีวาไปยังโลซาน ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์

ทั้งนี้ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าเยี่ยมพระอาการเป็นประจำจนกระทั่งหายจากอาการประชวร อันเป็นเหตุที่ทำให้ทั้งสองพระองค์มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ต่อมาทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 และเสด็จนิวัตพระนครในปีถัดมา ในวันที่ 28 เมษายน 2493 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ พระตำหนักสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า  วังสระปทุม  โปรดเกล้าฯ สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์

จากนั้นเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณี ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้วโปรดเกล้าฯให้สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ทรงมีพระราชโอรสและธิดา 4 พระองค์ คือ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ ตั้งแต่พุทธศักราช 2502

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินไป ทรงกระชับสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ ทั้งในยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย และประเทศในเอเชีย หลังจากเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่างๆตั้งแต่ปี พ.ศ.2495 ทั่วทุกภาค อาจกล่าวได้ว่า ทุกหนทุกแห่งบนผืนแผ่นดินไทยที่รอยพระบาทประทับลง ทรงขจัดทุกข์ยากนำความผาสุกและทรงยกฐานะความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้นด้วยพระบุญญาธิการและพระปรีชาสามารถปราดเปรื่อง

พร้อมด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล ทรงอุทิศพระองค์เพื่อประโยชน์สุขของราษฎร และเพื่อความเจริญพัฒนาของประเทศชาติตลอดระยะเวลาโดยมิได้ทรงคำนึงประโยชน์สุขส่วนพระองค์ ตลอดระยะเวลาทรงครองราชย์ 70 ปี เป็นที่ทราบกันดีว่า ด้วยพระชนมายุที่มากขึ้น ประกอบกับทรงงานหนักมาโดยตลอด ทำให้พระองค์ต้องเข้ารับการรรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง

ตามที่สำนักพระราชวังได้แถลงการถวายเพื่อรักษาพระอาการประชวร ณ โรงพยาบาลศิริราช ให้ทราบเป็นระยะๆ จนกระทั่งประกาศสำนักพระราชวัง ที่ราวกับสายฟ้าฟาดผ่ากลางใจพสกนิกรไทยทั้งแผ่นดิน “แม้คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาพยาบาลอย่างใกล้ชิดจนสุดความสามารถ แต่พระอาการประชวรหาคลายไม่ ได้ทรงทรุดหนักลงตามลำดับ จนถึงวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 เวลา 15 นาฬิกา 52 นาที เสด็จสวรรคต ณ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยพระอาการสงบ สิริพระชนมพรรษาปีที่ 89 ทรงครองราชย์สมบัติ 70 ปี”

สำนักพระราชวัง
13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น