“ยามเย็น” เพลงทรงโปรดองค์ราชินี

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงพระราชนิพนธ์เพลงไว้ถึง 48 เพลงด้วยกัน เรื่องนี้เป็นที่ทราบโดยทั่วของพสกนิกรไทย แต่ในเพลงพระราชนิพนธ์ 48 บทเพลงนี้มีเพลงพิเศษอยู่เพลงหนึ่งที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ทรงโปรดเป็นพิเศษ เพลงนั้นคือเพลงอะไร
ขออัญเชิญบทพระราชทานสัมภาษณ์ห้วงตอนหนึ่งที่ พระองค์ท่านพระราชทานแก่ คุณชอุ่ม ปัญจพรรค์ นักเขียนชื่อดัง เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2493 ครั้งยังทรงดำรงพระยศเป็น ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร และทรงเป็นพระคู่หมั้นของ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ความว่า ม.ร.ว.สิริกิติ์ ตามธรรมดาพระอารมณ์ดีค่ะ แต่เวลาไม่ทรงสบายเป็นบ้างนิดหน่อย ผู้สัมภาษณ์ รู้สึกว่าพระนิสัยเด็ดขาดนะค่ะ
ม.ร.ว.สิริกิติ์ โปรดการเป็นระเบียบค่ะ เช่น เวลานัดถ้าพลาดเวลาเพียงนิดเดียวเป็นกริ้ว ผู้สัมภาษณ์ คุณหญิงชอบเพลงพระราชนิพนธ์ของในหลวงไหนมากที่สุดค่ะ
ม.ร.ว.สิริกิติ์ ชอบเพลง “ยามเย็น” ค่ะ ชอบมากที่สุด เมื่ออยู่สวิสเคยขอประทานฟังบ่อยๆ นอกจากเพลงนั้นก็เพลง BLUE DAY แต่หนังสือพิมพ์ชอบเอาไปลงว่าชอบเพลง “ชะตาชีวิต” มากที่สุด ความจริงไม่เคยพูดสักคำ
เพลงพระราชนิพนธ์ “ยามเย็น” เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 2 โดยในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อปี 2489 ขณะยังทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช เป็นงานทดลองของพระองค์ในจังหวะฟ็อกซ์ทร็อต และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงนิพนธ์คำร้องภาษาไทย และท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา แต่งคำร้องภาษาอังกฤษ ก่อนพระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์ที่มีคำร้องสมบูรณ์ให้ นายเอื้อ สุนทรสนาน นำออกบรรเลงในงานของ สมาคมปราบวัณโรค ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2489
กาลต่อมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำรัสกับคณะกรรมการของ สมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ในโอกาสเข้าเฝ้าฯทูลเกล้าฯถวายเงินเพื่อสมทบทุน “โครงการพัฒนาตามพระราชประสงค์” ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันพุธที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2524 ถึงเพลงพระราชนิพนธ์นี้ว่า
“เพลงยามเย็น” เพลงที่สองนั้นนะเป็นเพลงพี่ของเพลง “สายฝน” แก่เดือนไป 1 เดือน เขาเกิดเดือนเมษายน (2489)
อนึ่ง นอกจากเพลงพระราชนิพนธ์ “ยามเย็น” จะเป็นเพลงทรงโปรดของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ แล้ว ยังเป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกที่นำออกบรรลงสู่ประชาชน ด้วยทำนองและเนื้อร้องที่ร่าเริงแจ่มใสเหมาะสำหรับการเต้นรำในสมัยนั้น จึงเป็นเพลงยอดนิยมเพลงหนึ่งในเวทีลีลาศ
และจวบจนวันนี้เพลงนี้ก็มีอายุกว่า 71 ปีแล้ว ที่อยู่ในหัวใจของประชาราษฎร์เสมอมา

ร่วมแสดงความคิดเห็น