เครื่องปั้นดินเผา มรดกล้ำค่าของเวียงกาหลง

เส้นทางพาดผ่านจากอำเภอเวียงป่าเป้าไปยังอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปางที่ร่มรื่นไปด้วยแมกไม้ขุนเขา ที่นี่คือสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แหล่งเตาเผายิ่งใหญ่เมืองโบราณนามเวียงกาหลง ซึ่งตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลเวียงกาหลง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย บนเส้นทางหมายเลข 1035 เป็นเมืองโบราณที่สร้างมา 2,000 กว่าปีมาแล้ว

สิ่งที่บ่งบอกอนุชนรุ่นหลังก็คือ แนวกำแพงเมือง เตาเผาโบราณ ชิ้นส่วนภาชนะเครื่องเคลือบหมากหมายชนิด และการยืนยันพร้อมสันนิษฐานว่า เตาเผาที่ค้นพบประมาณ 3,000 กว่าเตา ที่ไม่มีข้อมูลการค้นพบเตาเผาโบราณที่ไหนมาก่อนในประเทศไทย และคาดว่าเครื่องปั้นดินเผาเวียงกาหลง เป็นที่รู้จักมาตั้งแต่สมัยพระยานครพระราม หรือสวัสดิ์มหากายี ในพุทธศตวรรษที่ 19-26 และรุ่งโรจน์จนเป็นที่รู้จักของนักสะสมในปี พ.ศ.2467 เป็นต้นมา เนื่องจากเครื่องเคลือบของเวียงกาหลงเป็นเครื่องเคลือบที่มีคุณภาพ ประณีต สวยงาม มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว มีน้ำหนักเบา ลายเส้นคมชัดดูแล้วไม่เบื่อตา

 

อาจารย์สุธี สันวรรณ ฝ่ายประสานงานศิลปวัฒนธรรมเวียงกาหลง ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันเครื่องปั้นดินเผาเวียงกาหลงเน้นรูปแบบลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ 4 แบบ ซึ่งเป็นที่นิยมของนักสะสมและผู้ที่ชอบนำไปตกแต่งอาคารบ้านเรือน คือลายศรีโคมคำ ลวดลายสัตว์ป่าหิมพานต์ ลวดลายดอกกาและลวดลายปลา ซึ่งทุกลวดลายบนภาชนะล้วนสะท้อนเรื่องราวในพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น ความเป็นเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้สร้างชื่อเสียงมาสู่จังหวัดเชียงรายและประเทศไทย จะสังเกตจากยอดสั่งซื้อที่สั่งเข้ามา และปัจจุบันได้มีการพัฒนาจนกลายมาเป็นสุดยอดสินค้า OTOP ผลิตภัณฑ์ 5 ดาว

ความโดดเด่นของเครื่องปั้นดินเผาเวียงกาหลงก็คือ การใช้ดินดำที่มีคุณลักษณะพิเศษที่แหล่งปั้นดินเผาแหล่งอื่นไม่มี เพราะเป็นดินดำที่มีความละเอียดไม่หยาบแม้จะมีทรายปนอยู่ เมื่อนำไปเผาจะทำให้เกิดลายแตกรานบนภาชนะ เป็นการออกแบบที่โดดเด่นที่ไม่ต้องพึ่งการออกแบบใด ๆ ทั้งสิ้น สำหรับขั้นตอนของการทำเครื่องปั้นดินเผาเวียงกาหลง อาจารย์สุธี บอกว่า มีการนำดินดำมาขึ้นเป็นรูปทรงเสร็จแล้วจะนำไปเผาในอุณหภูมิ 800 องศาเซลเซียส จากนั้นจะนำมาเขียนลวดลายด้วยสีแร่ธรรมชาติ และนำไปชุบน้ำนาเคลือบก่อนจะนำไปเผาต่อที่อุณหภูมิ 1,220-1,250 องศาเซลเซียส จนเสร็จสิ้นกระบวนการก็จะได้เครื่องปั้นดินเผาที่คงคุณค่าความงามทางศิลปะและความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

เครื่องปั้นดินเผาเป็นศิลปหัตถกรรมอย่างหนึ่ง ที่มีประโยชน์ในการใช้สอยมากมายนับตั้งแต่เป็นภาชนะของใช้ไปจนถึงการนำไปตกแต่งอาคารบ้านเรือน รีสอร์ท สปาหรือโรงแรม ซึ่งสร้างความประทับใจแก่ผู้พบเห็นไม่น้อย

เวียงกาหลงปัจจุบันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ศึกษา เพื่อศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผา ตลอดจนความเป็นมา สถานที่เที่ยวชนก็ง่ายและสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยว เพราะอยู่บนถนนสายเชียงราย – เชียงใหม่ เขตอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย

 

ชื่อเสียงของเวียงกาหลง ขจรขจายออกไปจนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ปัจจุบันเครื่องปั้นดินเผาเวียงกาหลง ที่นี่ประยุกต์ลวดลาย สร้างความสวยงามของภาชนะอย่างสมสัดส่วนและลงตัว โดยเฉพาะความละเอียดของเนื้อดินและการขึ้นรูปที่มีความบางเบา เพราะใช้เนื้อดินที่มีคุณภาพสูง เรียกว่า “ดินดำ” ที่สันนิษฐานว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 1,000 ปี และมีแห่งเดียวในประเทศไทยด้วย ทำให้งานที่ออกมามีเนื้อผิวละเอียดอ่อน นับเป็นสุดยอดหัตถกรรมของเครื่องปั้นดินเผาที่มีความได้เปรียบกว่ากลุ่มเตาเผาอื่น

ท่านที่มีโอกาสเดินทางไปเยือนอำเภอเวียงป่าเป้า บนถนนสายเชียงราย-เวียงป่าเป้า หมายเลข 1035 เลี้ยวขวาบริเวณปั๊มน้ำมันเชลล์ประมาณ 2 กิโลเมตร จะเห็นอาคารโดดเด่นรูปทรงล้านนา ใต้จั่วหลังคาติดป้ายชื่อ “กองงานอุดมธรรม” ซึ่งเป็นทั้งโรงเรียน โรงงาน โรงธรรม ภายใต้การดูแลของอาจารย์สุธี สันวรรณ ฝ่ายประสานงานศิลปวัฒนธรรมเวียงกาหลง

ข้อมูลจำเพาะ เวียงกาหลง เป็นตำนานที่เล่าสืบกันมาถึงแม่พญากาเผือกตัวหนึ่ง ที่สร้างรังเลี้ยงลูกอ่อนอยู่บริเวณวัดพระเกิด อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง และได้ออกหากินไปไกลจากถิ่นตนจนกระทั่งพบความอุดมสมบูรณ์บริเวณเวียงกาหลงแห่งนี้ เลยทำให้หากินจนเพลินและไม่สามารถกลับรังของตนได้ถูก จึงเรียกสถานที่แห่งนี้ว่า “เวียงกาหลง” ซึ่งเป็นการหลงทางของแม่พญากาเผือกนั่นเอง

ร่วมแสดงความคิดเห็น