กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทำการตรวจหาสารปรอท ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางทาหน้าในท้องตลาด

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สุ่มตรวจผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางทาหน้าและผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางทำให้หน้าขาว พบสารปรอทคิดเป็นร้อยละ 24 ของตัวอย่างทั้งหมด จึงขอแจ้งเตือนประชาชนตระหนักถึงโอกาสเสี่ยงได้รับพิษจากสารปรอท

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย สำรวจผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางทาหน้าและผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางทำให้หน้าขาว โดยสุ่มตรวจปริมาณสารปรอท จำนวน 50 ตัวอย่าง ผลปรากฏว่าตรวจพบสารปรอท จำนวน 12 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 24 โดยปริมาณสารปรอทที่พบอยู่ในช่วงร้อยละ 0.035-3.959 ของน้ำหนักผลิตภัณฑ์ หรือเกือบร้อยละ 4 โดยน้ำหนัก เกิดจากการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พัฒนาการตรวจ จากเดิมที่เคยระบุว่าเครื่องสำอาง มีสารปรอทหรือไม่ จนสามารถระบุปริมาณที่ปนอยู่ในผลิตภัณฑ์

สารปรอทและประกอบปรอทเป็นสารห้ามใช้ในเครื่องสำอาง ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง พ.ศ.2559 ลำดับที่ 221 เพราะสารปรอทนั้นมีฤทธิ์ทำลายไต ระบบประสาท เยื่อบุและทางเดินหายใจ การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารปรอท เช่น สารปรอทแอมโมเนียติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้เกิดพิษสะสมของสารปรอทที่ผิวหนังและถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดทำให้ตับและไตอักเสบ เกิดโรคโลหิตจาง ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ทำลายสีของผิวหนังและเล็บมือ ทำให้ผิวหนังบางขึ้นเรื่อยๆ เกิดการแพ้ เป็นแผลเป็น หรืออาจมีความเป็นพิษเฉียบพลันได้ แต่ในปัจจุบันมีผู้ผลิตเครื่องสำอางที่ลักลอบผสมสารปรอทแอมโมเนียขายทางอินเตอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก

นายแพทย์สุขุม กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้มีการเฝ้าระวังและพัฒนาการตรวจวิเคราะห์เครื่องสำอางมาอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันได้มีการคิดค้นแอพพลิเคชั่นหน้าต่างเตือนภัยสุขภาพ (tumdee drug alert) ที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถสืบค้นข้อมูลของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางก่อนเลือกซื้อว่าปลอดภัยหรือไม่ได้ด้วยตนเอง อีกทั้งยังได้พัฒนาชุดทดสอบอย่างง่าย ประกอบด้วยชุดทดสอบไฮโดรควิโนน ชุดทดสอบปรอทแอมโมเนียในครีมทาหน้า และชุดทดสอบกรดเรทิโนอิก (กรดวิตามินเอ) ในเครื่องสำอาง หน่วยงานที่รับผิดชอบงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุขสามารถนำชุดทดสอบดังกล่าวใช้ตรวจสอบเบื้องต้นในการคัดกรองเครื่องสำอางที่จำหน่ายในพื้นที่ได้ด้วยตนเอง เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้บริโภค โดยสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ชุดทดสอบและผลิตภัณฑ์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 0-2951-0000 ต่อ 98463 หรือศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ส่วนภูมิภาคทั้ง 14 แห่งทั่วประเทศ

“ประชาชนควรเลือกซื้อเครื่องสำอางจากผู้ผลิตจำหน่ายที่เชื่อถือได้ มีการระบุชื่อและที่อยู่ผู้ผลิตชัดเจน อย่าหลงเชื่อโฆษณา เพราะอาจได้รับเครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ผ่านการจดแจ้งตามกฎหมาย”อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมแสดงความคิดเห็น