รุกพัฒนาศักยภาพ SMEs แข่งในออนไลน์-ออฟไลน์

สสว.เดินหน้าให้ความรู้ด้านการตลาดผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SMEsและวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ หวังพัฒนาศักยภาพให้สามารถแข่งขันได้ทั้งการตลาดออนไลน์และออฟไลน์ เผยโครงการเฟสแรกผลตอบรับดีเยี่ยม พบผู้ประกอบการเข้าร่วมแล้ว 6,487 ราย ใน 22 จังหวัด พร้อมต่อยอดสินค้าของผู้ประกอบการเข้าร่วมแล้วกว่า 2.5 หมื่นผลิตภัณฑ์ เร่งเสริมความแกร่งรายย่อยตามเป้าหมาย 10,000 ราย มั่นใจจะเป็นแรงหนุนดันเศรษฐกิจปี 2561

นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว.ได้จัด “กิจกรรมให้ความรู้ด้านการตลาด” ภายใต้โครงการประชารัฐเพื่อวิสาหกิจชุมชนและโครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (SMEs Strong / Regular) เพื่อสนับสนุนให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย Micro SMEs และวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ ตั้งเป้า 10,000 ราย ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการทั่วประเทศอย่างสูง
ผอ.สสว.กล่าวว่า โครงการดังกล่าวได้ดำเนินการจัดอบรมสัมมนาและ work shop ใน 3 หัวข้อหลัก ได้แก่ 1. กลยุทธ์การตลาดและวิธีขาย เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคในยุค 4.0 2. มาตรฐานสินค้าและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยปรับแนวคิดรองรับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อการผลิต ด้านความเชื่อมั่นที่ลูกค้ามีต่อกิจการรวมถึงตราสินค้า และ 3. การตลาดออนไลน์ เน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้เครื่องมือต่างๆ ในการทำตลาดออนไลน์ และการสร้างฐานลูกค้าในตลาดโลกออนไลน์ ให้สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวแบ่งการดำเนินการเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรก สสว.ดำเนินการเอง 11 จังหวัด และ สสว.ร่วมกับมหาวิทยาลัยสวนดุสิตอีก 30 จังหวัด ครอบคลุมผู้ประกอบการทั่วประเทศ ซึ่งการดำเนินงานกำลังจะเสร็จสิ้น 22 จังหวัด และมีผู้ประกอบการเข้าร่วม 6,487 ราย ถือได้ว่าเกินกว่าเป้าหมายของการดำเนิงาน และคาดว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายจำนวน 10,000 ราย ได้ภายในกลางเดือนธันวาคม 2560

“จากการประเมินผลการจัดกิจกรรมที่ผ่านมา พบว่าผู้ประกอบการรายย่อยจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ 5 อันดับแรก เรียงลำดับได้ดังต่อไปนี้ 1. การตลาดออนไลน์ 2. สินเชื่อจาก สสว. 3. พื้นที่การจำหน่ายสินค้าภายในประเทศ 4. การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการสร้างตราสินค้า 5. การจับคู่ธุรกิจและงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ” นายสุวรรณชัยกล่าว

ผอ.สสว.กล่าวต่อว่า ผู้ประกอบการรายย่อยส่วนใหญ่มีความเข้าใจและตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อกิจการและผลิตภัณฑ์มากขึ้น ซึ่งกิจกรรมนี้ช่วยทำให้เปลี่ยนแนวคิดและสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้พัฒนาความสามารถด้านการตลาดได้ตรงที่สุด ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า จากความต้องการใน 5 อันดับแรกนั้นเป็นไปในทิศทางเกี่ยวกับด้านการตลาดถึง 4 เรื่อง ซึ่งคาดว่าผู้ประกอบการกว่า 10,000 รายนี้ พร้อมจะเป็นแม่ทัพการตลาดเอสเอ็มอีที่จะสร้างรายได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ประเทศได้ต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น