สาระน่ารู้…. โรคนิ่วในไต

หลายคนกังวลว่าตัวเองจะเป็นโรคไตหรือโรคนิ่วในไต เพราะสังเกตเห็นว่าตัวเองมีอาการปัสสาวะผิดปกติไป เช่น ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะมีฟองมาก ปัสสาวะมีกลิ่นฉุนผิดปกติ หรือ กระทั่งปัสสาวะมีสีเข้มมากขึ้น ซึ่งอาการเหล่านี้จริงๆ แล้ว เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่จำเป็นต้องเป็นโรคนิ่วอย่างเดียว “นิ่ว” ก็คือก้อนหิน ที่อยู่ในร่างกายของคน เกิดขึ้นได้กับหลายอวัยวะ เช่น นิ่วในไตและทางเดินปัสสาวะ นิ่วในระบบน้ำดี นิ่วในต่อมน้ำลาย และอวัยวะอื่นๆ

นิ่ว มีด้วยกันหลายชนิด หลายสี หลายขนาด ความแข็งมีตั้งแต่ แข็งน้อยไปจนถึงแข็งมาก โดยทั้งหมดขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของนิ่ว ซึ่งนิ่วที่พบมากที่สุด คือนิ่วที่มี แคลเซียม เป็นองค์ประกอบส่วนนิ่วที่แข็งที่สุดคือนิ่ว Cystine ซึ่งพบได้น้อย

ไตนั้นเป็นอวัยวะทีมีความสำคัญมากคือเป็นที่ขับของเสียในร่างกายออกมาในรูปน้ำปัสสาวะ และรักษาสมดุลของร่างกาย

ไตของมนุษย์มีด้วยกัน 2 ข้าง อยู่บริเวณสีข้าง หรือเอว ดังนั้นเมื่อมีความปกติ ผู้ป่วยมักมีอาการปวดเอวหรือปวดท้องข้างใดข้างหนึ่งร่วมกับปัสสาวะที่ผิดปกติไป

นิ่วในไตนั้นเป็นสาเหตุหนึ่งของ “โรคไตวายเรื้อรัง” แต่ถ้ารักษาได้ทันถ่วงทีก็จะทำให้ไตทำงานได้ดีเป็นปกติผู้ป่วยนิ่วในไตส่วนใหญ่มักไม่มีอาการแสดง มักเจอโดยบังเอิญ จากการตรวจเช็คร่างกายแล้วพบความผิดปกติของน้ำปัสสาวะ บางคนอาจมีอาการปวดเอวเรื้อรัง ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะเป็นๆ หายๆ หรือบางครั้งมาพบแพทย์ ด้วยอาการของไตวายซึงเป็นภาวะที่ยากต่อการรักษาให้ไตกลับมาทำงานเป็นปกติ ดังนั้นผมจึงแนะนำว่า อายุตั้งแต่วัยทำงานขึ้นไป ควรตรวจสุขภาพกับแพทย์เป็นประจำทุกปีเพื่อการรักษาได้อย่างทันท่วงที

การตรวจวินิจฉัยโรคนิ่วในไต มีด้วยกันหลายวิธี เช่น x-ray ธรรมดา , Ultrasound, X-ray computer C.T , X-ray ฉีดสารทึบรังสี ซึ่งขึ้นอยู่กับอาการ และการประเมินผู้ป่วยแต่ละราย ส่วนการรักษาก็มีหลายวิธี เริ่มตั้งแต่นิ่วขนาดเล็กมาก อาจสังเกตอาการไปก่อน การใช้ยาสลายนิ่ว การใช้เครื่องสลายนิ่ว (ESWL) การส่องกล้องทางท่อปัสสาวะ(RIRS) ส่วนนิ่วที่มีขนาดใหญ่อาจรักษาด้วยการเจาะรูบริเวณสีข้างเพื่อเข้าไปในไตแล้วจึงเอานิ่วออก (PCNL) สุดท้ายคือการผ่าตัดเพื่อนำนิ่วออกจากไต

สาเหตุของการเกิดโรคนิ่วในไตมีหลายสาเหตุ เช่น พันธุกรรม ความผิดปกติของ Metabolism ในร่างกาย ดื่มน้ำน้อยและเสียเหงื่อมาก ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ โรคลำไส้อักเสบเรื้อรังหรือเคยผ่าตัดลำไส้มากก่อน คนอ้วน รับประทานอาหารที่มีรสเค็ม เนื้อสัตว์ อาหารที่มีoxalate สูง ยาบางชนิด เช่น steroid ยาขับปัสสาวะ ใช้ยาระบายอุจจาระเป็นประจำ โรคมะเร็ง ภาวะท่อไตอุดตัน และสุดท้ายคือ ผู้ป่วยที่เคยเป็นนิ่วมาก่อนจะมีโอกาสเกิดนิ่วซ้ำได้มากกว่าคนทั่วไป

ดังนั้นเราควรปฏิบัติตนเพื่อลดความเสี่ยงของโรคนิ่วในไต คือ ดื่มน้ำประมาณ 2 ลิตรต่อวัน เครื่องดื่ม carbonate drinking น้ำส้ม น้ำมะนาว ลดความอ้วน ออกกำลังกาย ลดอาหารรสเค็ม เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัว ควรรับประทานเนื้อปลา ลดอาหารที่มี oxalate ไม่ควรกินวิตามินซี เกิน 2 กรัม ต่อวัน ควรรับประทาน แคลเซียม เพราะแคลเซียมจะช่วยลดการดูดซึมของ oxalate ในลำไส้ หลีกเลี่ยงการใช้ยาบางชนิดเป็นประจำสุดท้ายควรตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ

…..นพ.สุทธิพันธ์ วงศ์วนากุล
ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ
รพ.แมคคอร์มิค / ข้อมูล…..

ร่วมแสดงความคิดเห็น