รายงานพิเศษ…ทีมวิจัยมะเร็งกระดูก คณะแพทย์ มช.แนะญาติหรือผู้ป่วยให้รีบเข้ารับการรักษาทันทีที่รู้ตัว โอกาสหาย

ทีมวิจัยมะเร็งกระดูก คณะแพทย์มช. แนะญาติหรือผู้ป่วยให้รีบเข้ารับการรักษาทันทีที่รู้ตัว ชี้มีโอกาสหายหรือรอดชีวิต เผยสังคมมุมมืดมักฉวยโอกาสชักจูงอาจทำให้เสียค่าใช้จ่ายมากและอ้างรักษาหายขาดได้ วอนให้เชื่อมั่นแพทย์และพยาบาลแผนปัจจุบันเป็นหลัก

ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วย ผศ.นพ.วิชัย ชื่นจงกลกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ,รศ.ดร.นพ.ดำเนินสันต์ พฤกษากร หัวหน้าทีมวิจัยมะเร็งกระดูก ของคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, รศ.ดร.นพ.ดำเนินสันต์ พฤกษากร อาจารย์ประจำภาควิชาออร์โธปิดิกส์ ผศ.นพ.สัณหวิชญ์ จันทร์รังสี อาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ ,ผศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ได้ร่วมกันแถลงข่าวประจำปี 2560 พร้อมแถลงผลสำเร็จการผ่าตัดผู้ป่วยให้เหลือครึ่งตัวและสามารถมีชีวิตอยู่กับครอบครัวได้ปกติ หลังจากป่วยด้วยโรคมะเร็งกระดูก

รศ.ดร.นพ.ดำเนินสันต์ พฤกษากร ทีมวิจัยมะเร็งกระดูก คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า การวิจัยในเรื่องการผ่าตัดมะเร็งครั้งนี้ ได้รับทุนวิจัยที่สนับสนุนโดยคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ สวทช. ได้ศึกษาพบว่า อัตราการรอดชีพของผู้ป่วยมะเร็งกระดูก ในประเทศไทย มีแนวโน้มจะรักษาให้ประสบความสำเร็จน้อยกว่า ประเทศในแถบอเมริกา และแถบยุโรป โดยเฉลี่ยน่าจะมีอัตราการรอดชีพ (รักษาหายขาด) ถึงประมาณ 70% แต่ผลการรักษาในประเทศ ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 40% เท่านั้น

“โดยในอัตราการรักษาหายขาดที่ต่ำกว่าต่างประเทศ ไม่ใช่เพราะว่าวิธีการรักษา และยาของประเทศเราไม่ได้มาตรฐาน แต่ปัญหาเกิดจากความร่วมมือของผู้ป่วยในการเข้ารับการรักษา ซึ่งจากการวิเคราะห์ลงลึกไปในข้อมูลพบว่า ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาตามวิธีมาตรฐานที่ทีมแพทย์แนะนำ มารับการรักษาตั่งแต่ในช่วงเริ่มเป็นและภาวะโรคยังไม่ลุกลาม ผลการรักษาของผู้ป่วยไทยก็อยู่ในระดับมาตรฐาน แต่กลุ่มผู้ป่วยที่ปฏิเสธการรับเคมี การผ่าตัด และกลุ่มที่ลังเล หรือของลองใช้วิธีอื่น ๆ ดูก่อน พอไม่ได้ผลค่อยหวนกลับมาใช้วิธีที่แพทย์แนะนำเกิน 3 เดือน พบว่ามีโอกาสที่จะสำเร็จในการรักษาน้อยกว่า 10% และ ประมาณ 20% ตามลำดับ”ทีมวิจัยมะเร็งกระดูก คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวและชี้แจงอีกว่า

เมื่อมาวิเคราะห์รวมกันทำให้ อัตราการรักษาโรคหายของประเทศโดยรวมทั้งกลุ่ม ตกลงต่ำอย่างน่าตกใจ ทั้งนี้ทางทีมวิจัยของคณะแพทย์ได้วิเคราะห์แล้วว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาในเชิงสาธารณสุขที่ออกแนว การส่งเสริมสุขภาพ และความเข้าใจของประชาชน เพียงแค่ประชาชนทุกคน เข้าใจปัญหา เปิดใจรับฟังแพทย์และพยาบาล สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้ โดยไม่ขัดขวางต่อการเข้ารับการรักษาด้วยวิธีปัจจุบัน ก็จะทำให้ อัตราการเสียชีวิตที่หายไปเกือบ 20% กลับคืนมาได้อย่างไม่ยาก

อย่างไรก็ตามร้อยละ 20 สำหรับผู้ป่วยมะเร็งกระดูกในประเทศไทย ถือเป็นปัญหาใหญ่ในระดับชาติ แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือ 100% ของชีวิตคนๆ หนึ่งสำหรับครอบครัวนั้น ทางคณะแพทย์จึงอยากจะขอรณรงค์ ทุก ๆ ครอบครัว ที่มีผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งกระดูก ให้เข้ากลับมารับการรักษาด้วยวิธีแผนปัจจุบัน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนไทย

ทีมวิจัยมะเร็งกระดูก คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวด้วยว่า จากประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยมะเร็งกระดูก ซึ่งมักจะพบมากในเด็กและวัยรุ่น ทำให้ทราบว่า เมื่อผู้ป่วยและครอบครัวทราบผลการวินิจฉัยจากหมอ สภาพจิตใจของพ่อแม่และครอบครัว จะเหมือนล่องเรือลำน้อยอยู่ในมหาสมุทร ทันทีมันเคว้งคว้างไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร ในเวลาที่ครอบครัวมีสภาพจิตใจที่อ่อนแอเปราะบางที่สุด กลับเป็นเวลาที่ง่ายที่สุดที่จะถูกชักจูง ทุกคนต้องการคำมั่นสัญญาจากหมอว่า ลูกจะหาย 100%

“ลูกคุณมีโอกาสหายถึง 70% ก็ไม่ทำให้รู้สึกเติมเต็มความสบายใจได้ดีนัก แค่คำพูดว่า หมอจะทำให้ดีที่สุดนะครับ ดูเหมือนจะน้อยเกินไปสำหรับครอบครัว ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับครอบครัวคนไข้ห่างเหินออกไป เราไม่สามารถสัญญาอะไรไปได้มากกว่านี้ แต่เราจะทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ การสัญญาอะไรไปมากกว่านี้นั้นก็คงเป็นการโฆษณาชวนเชื่อที่มากเกินไป เราอยากจะส่งต่อความเป็นห่วงนี้ถึงทุกครอบครัวเลยว่า ทันทีที่รู้ว่าบุตรหลานของท่านเป็นโรคร้าย สิ่งแรกคือ ผู้ปกครองต้องเข้มแข็ง ต้องเชื่อมั่นว่าทุกอย่างจะดีขึ้น ขั้นตอนการรักษาที่ยาวนาน หลายครั้งที่ท่านจะเห็นลูกหลานเอ่ยคำว่าหนูไม่ไหว แล้ว ถ้าท่านไม่ให้กำลังใจลูกหลานของท่าน ท่านก็อาจจะไม่มีลูกให้อยู่ด้วยไปตลอดชีวิต” รศ.ดร.นพ.ดำเนินสันต์ กล่าวและเสริมอีกว่า

ในเวลาที่ท่านอ่อนแอ และเปราะบางที่สุด ในสังคมก็มีมุมมืด ที่มาในหลายรูปแบบ ที่จะชักจูงไปในทางที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อตัวท่านเอง โดยกลุ่มคนเหล่านี้อาจจะมาในหลายรูปแบบ เช่น ผู้มีอิทธิฤทธ์ ผู้มีความเชียวชาญในการรักษามะเร็งที่ไม่ใช่หมอ อาหารเสริม ขอให้ข้อสังเกตต่อไปนี้ การชักจูงใดที่ 1. ก่อให้ท่านต้องจ่ายค่าใช้จ่ายอย่างมาก (หมอและพยาบาลรักษามะเร็งไม่เคยเรียกเงินจากท่าน) 2.กล่าวอ้างว่ารักษาได้หายขาด 100% (หมอและพยาบาลไม่เคยโฆษณาผลการรักษาที่เกินจริง) และ 3.มีแนวโน้มจะชักชวนให้หยุดพูดคุยหรือ เลิกเชื่อหมอแผนปัจจุบัน (หมอและพยาบาลมักจะไม่ห้ามการใช้วิธีทางเลือกร่วมด้วย ตราบใดที่ยังใช้วิธีแผนปัจจุบันเป็นหลัก)

หากพบเหตุผลในข้อใด ข้อหนึ่งในสามข้อ ให้พึงระวังว่าคนกลุ่มนี้กำลังหวังผลประโยชน์จากตัวท่าน เราไม่เคยห้ามคนไข้ให้ใช้วิธีทางเลือก ท่านสามารถพูดคุยและใช้วิธีการเหล่านี้ร่วมด้วยได้ ถ้าต้องการ แต่ขอให้มั่นใจและพูดคุยกับแพทย์และพยาบาลแผนปัจจุบันเป็นหลัก เรามีตัวอย่างครอบครัวที่เข้มแข็ง ซึ่งพวกเค้าอยากส่งกำลังใจให้ครอบครัวที่มีคนเป็นมะเร็ง ทุกครอบครัวในประเทศไทย และขอช่วยเป็นแรงสำคัญในการรณรงค์ ให้ทุกคนเข้าร่วมการรักษาตามแพทย์แผนปัจจุบัน.

ร่วมแสดงความคิดเห็น