จับมือเอกชนเดินหน้า ก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0

ไตรมาสแรก ปี 2561 อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฯ และในฐานะแม่ข่ายขับเคลื่อนอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือเดินหน้าเต็มกำลังจัดกิจกรรมโครงการเด่นบูรณาการด้านวิชาการสู่วิทยาการความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อการพัฒนาสู่ยุค Thailand 4.0

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) หรือ Northern Science Park บนพื้นที่การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยการสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยงบประมาณจำนวน 497 ล้านบาท จะเริ่มทดลองระบบการดำเนินงานภายในหน่วยงานในเดือนกุมภาพันธ์ โดยเป็นศูนย์บริการนวัตกรรมครบวงจร (Total Innovation Solution Center) บนพื้นที่ใช้สอย 20,750 ตารางเมตร ที่ให้บริการเชื่อมโยงธุรกิจภาคเอกชน หน่วยงานภาครัฐ และผู้เชี่ยวชาญจากภาคการศึกษา ด้วยการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา สร้างสรรค์นวัตกรรม บ่มเพาะธุรกิจ พร้อมพื้นที่ให้บริการสนับสนุนธุรกิจนวัตกรรม เช่น R&D Lab, Office space, Meeting Room, หอประชุมขนาดใหญ่ (Auditorium) 440 ที่นั่ง ฯลฯ แวดล้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นอย่างสมบูรณ์แบบ โดยจะมีพิธีเปิดอาคารอย่างเป็นทางการ (Grand Opening) พร้อมให้บริการอย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 4 พฤษภาคม 2561 ร่วมกับงานประชุมระดับนานาชาติ (International Forum) เพื่อแบ่งปันประสบการณ์และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม อันนำไปสู่การสร้างสังคมเครือข่ายความร่วมมือต่อไป

ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฯ ในฐานะผู้ดำเนินการจัดโครงการ “เส้นทางสู่นวัตวณิชย์ (Research to Market – R2M)” โดยเป็นโครงการที่ช่วยสนับสนุนการนำผลงานวิจัยจากสถาบันการศึกษาออกสู่เชิงพาณิชย์และเป็นการสร้างโอกาสให้นักวิจัย ผู้คิดค้นนวัตกรรม และนักศึกษาได้ต่อยอดความคิดจนเกิดเป็นงานวิจัยเพื่อนำไปสู่การนำไปใช้จริงในภาคธุรกิจ รวมทั้งยังเป็นการปลูกฝังแนวคิดสู่การปฏิบัติเพื่อการพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นในสังคมยุคใหม่ โดยดำเนินการจัดประกวดทำแผนพัฒนาธุรกิจจากงานวิจัยระดับภายในมหาวิทยาลัย และระดับภูมิภาค สำหรับปี 2561 นี้ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฯ ได้รับโอกาสในการเป็นผู้ดำเนินการจัดการประกวดแข่งขันโครงการเส้นทางสู่นวัตวณิชย์ ประจำปี 2561 หรือ Research to Market : R2M 2018 ในระดับประเทศจากจำนวนผู้ผ่านการคัดเลือกระดับภูมิภาคเข้าร่วมแข่งขันรวม 20 ทีม โดยมีกำหนดการแข่งขันในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 09.00 – 16.30 น. ณ หอประชุม (Auditorium) อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ

นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาสแรกอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ยังได้จัด “กิจกรรมการส่งเสริมและพัฒนาหลักสูตรความเป็นผู้ประกอบการ” (Entrepreneurship Education) ภายใต้โครงการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมเกิดใหม่ที่มีการเติบโตสูง (Innovative Startup) เพื่อดำเนินการจัดกิจกรรมค่ายอบรมและฝึกปฏิบัติในหลักสูตรการอบรมด้าน
ความเป็นผู้ประกอบการ จำนวน 3 วัน โดยเป็นการอบรมเรียนรู้การทำแผนธุรกิจบนพื้นฐาน Business Model Canvas และการฝึกปฏิบัตินำเสนอแผนธุรกิจ (Pitching) เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นผู้ประกอบการอย่างเข้มข้นให้แก่นักศึกษา โดยสอดคล้องกับการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยในการก้าวสู่มหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ ด้วยการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ตามยุทธศาสตร์ในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ โดยกำหนดการเปิดรับสมัครนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้สนใจร่วมโครงการ ตั้งแต่วันนี้ – 28 กุมภาพันธ์ 2561 ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ และสำหรับนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการจะมีโอกาสได้ร่วมพัฒนาต่อยอดทักษะความสามารถในกิจกรรม “การแข่งขันระดับประเทศ Startup Thailand League” เพื่อคัดเลือกทีมนักศึกษาที่มีศักยภาพสูงรับทุนในการขึ้นต้นแบบผลิตภัณฑ์ (Prototype) เพื่อสร้างโอกาสในการก้าวสู่วงการธุรกิจจริงต่อไป

อย่างไรก็ตาม อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะเป็นศูนย์ดำเนินงานด้านการบริการวิชาการและการต่อยอดงานวิจัยเชิงธุรกิจ โดยมีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน ความเชื่อมโยงระหว่างภาคมหาวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) กับภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดโครงการบูรณาการองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัย และต่อยอดงานวิจัยและองค์ความรู้ในปลายน้ำ เพื่อให้เกิดธุรกิจจริง จึงจัดตั้งโครงการต่างๆอย่างหลากหลายโครงการ รวมทั้งจัดตั้งศูนย์วิจัยเชิงธุรกิจด้านเทคโนโลยีพลาสมาสำหรับเกษตรและชีวภาพ (Agriculture and Bio Plasma Technology Center; ABPlas) ที่มีเครื่องวิจัยพลาสมาที่มีประสิทธิภาพและพร้อมสำหรับการดำเนินความร่วมมือวิจัย พัฒนา และต่อยอดสู่ธุรกิจมากที่สุดในภาคเหนือ โดยดำเนินการภายใต้ความร่วมมือ 3 ฝ่าย อันได้แก่ ภาครัฐ ภาคการศึกษา (มหาวิทยาลัย) และภาคอุตสาหกรรม ในแบบ Triple Helix Model โดยมีงานวิจัยหลักที่ให้บริการ ได้แก่ การทำวิจัยเชิงธุรกิจในภาคการเกษตร การให้บริการกำจัดสารเคมีตกค้างและเชื้อโรคในผักและผลไม้สำหรับภาคอุตสาหกรรม และการสนับสนุนด้านองค์ความรู้พื้นฐานและเครื่องมือเพื่อให้เกิดธุรกิจ Start up

ร่วมแสดงความคิดเห็น