“นกยูง”ราชินีแห่งนกที่บ้านโฮ่งเป็นพญานกชั้นสูงใครฆ่าใครเลี้ยงบารมีไม่ถึงมีแต่ความพินาศย่อยยับทั้งครอบครัว

ตามตำนานราชินีแห่งนก “ขนนกยูง” อาภรณ์แห่งเทพยาดานกยูงเป็นสัตว์ชั้นสูง แสดงถึงความหรูหรา โอ่อ่า สง่างาม บางพื้นที่มีความเชื่อหลากหลาย อย่างชาวกรีซ ว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความอมตะ นกยูงยังเป็นบริวาณของเทพผู้ยิ่งใหญ่อีกด้วย ในศาสนาพุทธ ได้กล่าวถึงในมโนราชาดกว่า พระพุทธเจ้าเคยเสวยชาติเกิดเป็นพญานกยูง มีบารมีเหนือกว่านกยูงทั้งปวง อีกทั้งสัตว์ป่าทั้งป่าต่างก็เกรงกลัวในบารมี อีกทั้งทางภาคเหนือก็ถือว่าเป็นเครื่องรางชั้นสูงที่สืบทอด ถ่ายทอดกันลงมาเรียกว่า”พญานกยูงทอง”กาลนี้พญานกยูงทองได้รำแพน แสดงบารมีขึ้นแล้ว พญานกยูงยุคกึ่งพุทธกาลนี้ ได้ผสมผสานศิลปะร่วมสมัย กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ อย่างลงตัว

ดังนั้น เราจึงถือว่า “นกยูง” เป็นสัตว์ชั้นสูงที่มีความเกี่ยวพันกับพระพุทธเจ้านั่นเอง ในพิธีกรรมต่างๆจึงได้มีการนำแพหางนกยูงมาเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องประกอบพิธี

ทั้งนี้ในอดีตครูบาเจ้าศรีวิชัยนักบุญแห่งล้านนาไทย ได้นำนกยูงมาเลี้ยงยังวัดบ้านปาง อ.ลี้ จ.ลำพูน ชาวบ้านในพื้นที่ต่างก็มีการร่วมกันอนุรักษ์โดยการไม่ล่า หรือฆ่านกยูง เพราะเชื่อว่าเป็นนกของ”ครูบาเจ้าศรีวิชัย”นำมาเลี้ยงไว้จนมีปริมาณมากขึ้น ต่อมาศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์นกยูงไทยในถิ่นกำเนิด บ้านแม่ป๊อกใน ต.ศรีวิชัย อ.ลี้ จ.ลำพูน ได้รับการสนับสนุนจากนักวิจัยของ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาร่วมกันทำงานด้วย ที่ผ่านมาทางจังหวัดได้ร่วมกับศูนย์อนุรักษ์ฯ ผลักดันส่งเสริมศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์นกยูงไทย ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ของอำเภอลี้ ในการเดินทางมาชมนกยูงไทย การศึกษาวิถีชีวิตของนกยูงไทย ที่ปัจจุบันจะหาชมได้ยากในตามแหล่งธรรมชาตินอกจากจะมีตามสวนสัตว์ต่างๆ ที่นำมาจัดแสดงให้ชมเท่านั้น ซึ่งจะเป็นแหล่งใหญ่ ของการชมนกยูงไทยอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย

ชึ่งเรื่องนี้นายพิสิษฐ์ ณ พัทลุง ประธานมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ พร้อมด้วย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ประธานมูลนิธิจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ นายวรพงษ์ หงษ์ทอง ผู้จัดการศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์นกยูงไทย และนางสาวไพรรินทร์ ยานะ ตัวแทนเจ้าหน้าที่สวนสัตว์เชียงใหม่ เดินทางเข้าพบกับ นายวีระชัย ภู่เพียงใจ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เพื่อเรียนให้ทราบและชี้แจงว่าที่อำเภอลี้ จ.ลำพูน มีโครงการศูนย์อนุรักษ์นกยูงไทย ซึ่งทางคณะกรรมการ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเรียนเพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ที่เพิ่งมาดำรงตำแหน่งใหม่ได้รับรู้ความเป็นมาของสถานที่ตั้ง วัตถุประสงค์การดำเนินการต่อไป และในอนาคตจังหวัดลำพูนจะมีที่เรียนรู้ ศึกษา ท่องเที่ยว ไม่แพ้กับที่อื่นๆ ในประเทศไทย เน้นในเชิงอนุรักษ์ฟื้นฟู รักษาสิ่งแวดล้อมในพื้นท้องถิ่นสืบไป ซึ่งต่อไปนี้ทางโครงการพร้อมที่จะดำเนินการ เปิดให้ประชาชน นักท่องเที่ยว นักศึกษา หน่วยงาน องค์กร ต่างๆ เข้าไปในพื้นที่อย่างสบายใจ ไม่เกิดความเข้าใจผิด กังวลเรื่องที่ผิดๆ และสับสนในเรื่องบางอย่างที่มีบุคคลบางกลุ่มเข้าใจผิดเกี่ยวกับคณะกรรมการดำเนินงานของศูนย์อนุรักษ์ฯ

เมื่อมีโครงการอนุรักษ์นกยุงไทยอย่างจริงจัง ทำให้นกยุงไทยที่ ครูบาเจ้าศรีวิชัย ได้นำมาเลี้ยงได้แพร่พันธุ์เพิ่มจำนวนขึ้น จึงจะเห็นได้ว่านอกจากเขตอำเภอลี้ ยังมีนกยุงในพื้นที่อำเภอบ้านโฮ่ง เขตติดต่อกันมีนกยุงจำนวนมาก ประกอบกับอำเภอบ้านโฮ่งมีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยภูเขาต้นไม้ใหญ่นานาชนิดเหมาะแก่การเป็นที่อยู่อาศัยเชื่อมติดต่อกับอำเภอลี้

ที่เทือกเขา”ดอยกาน” ต.บ้านโฮ่ง อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูนตั้งตระหง่านทอดยาวไปบรรจบกับพื้นที่อำเภอลี้จึงมีนกยุงอยู่จำนวนมากอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของ “เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบ้านโฮ่ง”สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16(เชียงใหม่)กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ปัจจุบัน”นกยุง”แห่งนี้ได้รับความสนใจจากผู้รักธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นชาวจังหวัดลำพูน รวมไปถึงนักท่องเที่ยวชาวไทย ชาวต่างประเทศทั่วโลกได้พากันมาดู”นกยุง”ในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก ถือเป็น”โอเพ่นฟาร์ม”อยู่อย่างอิสระเสรีตามธรรมชาติ

ผู้สื่อข่าว”เชียงใหม่นิวส์ออนไลน์”จึงได้เดินทางไปยังจุดหมายดังกล่าวโดยใช้เส้นทางถนนลำพูน-ลี้ หลักกิโลเมตรที่ 50 จุดหมายสังเกตได้จากห้างโลตัสสาขาบ้านโฮ่ง(บ้านห้วยกาน)ถึงทางยูเทริ์น(หอนาฬิกา)เข้าบ้านป่าป๋วย มุ่งตรงไปโดยไม่เลี้ยวทางแยกซ้าย-ขวา ไปประมาณ 1 กิโลเมตร จะเห็นป้ายศูนย์ปฎิบัติธรรมขันติวราราม หรือป้ายของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบ้านโฮ่ง อยู่ทางด้ายซ้ายมือ มุ่งตรงไปเรื่อยผ่านสวนลำไย-มะม่วง ของชาวบ้านจนถึงสุดปลายทางจะพบกับสำนักงานของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบ้านโฮ่งและมีลานจอดรถด้านหน้ามองดูล่างข้างจะเห็นวิวที่งดงามมากเห็นพื้นที่อยู่อาศัย สวนผักผลไม้ได้ทั่ว คล้ายๆกับอยู่บนดอยสุเทพ หรือดอยคำ ของจังหวัดเชียงใหม่ มองดูลงมาบริเวณข้างล่าง

ส่วนลานนกยุงอยู่บริเวณใกล้ๆกับลานจอดรถ มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยมาไกลถึ
กรุงเทพฯบ้าง มาจากจ.สารคาม จ.เชียงราย ฯลฯอีกมากมาย ส่วนชาวต่างประเทศ มีฝรั่ง จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง เป็นต้นทั้งนั่งทั้งยืนอยู่อย่างสงบเพื่อดูนกยุงมาจิกกินอาหาร นักท่องเที่ยวได้มาเห็นกับตา ปรากฎว่านักท่องเที่ยวต่างคนก็ไม่ผิดหวังเห็นนกยุงออกมาจิกกินอาหารและตัวผู้จะรำแพนเกี้ยวพาราศรีตัวเมีย ต่างก็อดใจไม่ไหวที่เห็นนกยุงอย่างใกล้ชิดพร้อมกับนำมือถือ กล้องถ่ายรูปกันออกมาเพื่อถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกอวดคนทางบ้าน

ทางคุณบุญรัตน์ เขียวดี เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบ้านโฮ่งและเจ้าหน้าที่คนอื่นๆชึ่งคอยให้คำแนะนำและอธิบายถึงที่มาที่ไปของนกยุงในพื้นที่แห่งนี้ ก็ยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนมีมนุษยสัมพันธุ์ที่ดีเยี่ยม ตอบข้อซักถามได้อย่างชัดเจนที่ว่า”นกยุง”ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวสวนไปจิกกินมะม่วง หรือข้าวโพดด้านล่างจริงหรือไม่ และได้อธิบายว่านกยุงบางครั้งได้ไปสร้างผลกระทบกับชาวสวน ตามปกติธรรมชาติของนกยุงไปจิกมะม่วงที่ล่วงหล่นอยู่บนพื้นดิน ส่วนมากจะเป็นผลมะม่วงที่เน่าเสีย ส่วนมะม่วงที่อยู่บนต้นชาวสวนจะห่อไว้เพื่อป้องกันแมลงมารบกวน นกยุงก็ไม่หากินบนต้นไม้จะหากินบนพื้นดินมากกว่า

“ผู้ที่มาดูนกยุงควรมาดูช่วงเช้า 06.00 น.และ ช่วงบ่าย 16.00 น.เป็นต้นไปเป็นเวลาที่นกยุงออกมาหากิน นักชมนกไม่ควรสวมเสื้อผ้าสีสูดสาด เมื่อมานั่งชมแล้ว ควรนั่งอยู่ห่างๆไม่เดินไปเดินมา หรือส่งเสียงดังจะทำให้นกยุงตื่นคนเดินหนีหายไป”

นอกจากนี้คุณบุญรัตน์ เขียวดี ได้กล่าวอีกว่าทางนายภาณุ นิลวานิช หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบ้านโฮ่ง เน้นย้ำถึงชาวสวนมะม่วง ลำไย และชาวบ้านที่อยู่อาศัยด้านล่างได้งดให้อาหารนกยุงในพื้นที่ของตนเอง เพื่อไม่ให้นกยุงกระจัดกระจายไปอยู่ที่อื่นและอาจไปสร้างความเดือดร้อนให้ การเสริมอาหารขอให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฯดีกว่า

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามชาวบ้านที่พาลูก พาหลานมาเที่ยวในพื้นที่นี้ว่าทำไมชาวบ้านถึงไม่ล่านกยุงนำเนื้อมาประกอบอาหาร เช่น ชาวบ้านป่าทั่วไปและได้รับคำตอบว่า”นกยุง”เป็นนกชั้นสูงเคยมีคนทำร้ายนกยุงที่มาจิกกินผลไม้พืชสวนและนำเนื้อมากิน ปรากฎว่าคนในครอบครัวมีอันเป็นไปทุกคน และมีนายพรานล่าสัตว์ป่าชื่อดังประจำอำเภอบ้านโฮ่ง มักยิงนกยุงชำแหละเนื้อขาย ปรากฎเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้นในครอบครัวทุกคน ปัจจุบันนายพรานคนนี้เลิกอาชีพเป็นนายพรานมาจนถึงทุกวันนี้….000

ขอขอบคุณ
นายภาณุ นิลวะณิช หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบ้านโฮ่ง
นายบุญรัตน์ เขียวดี เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบ้านโฮ่ง
เสน่ห์ นามจันทร์/ภาพ-ข่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น