คณะกรรมธิการการปกครองท้องถิ่น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประชุมหารือปัญหาน้ำเน่าเสียของคลองแม่ข่า

วันที่ 12 มีนาคม 2561 เวลา 10.00 น. ที่ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายชาญวิทย์ วสยางกูร รองประธานคณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นประธานประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาน้ำเน่าเสียของคลองแม่ข่า การบริหารจัดการน้ำเน่าเสียและแนวทางการแก้ไขปัญหาคลองแม่ข่า พร้อมด้วยคณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยมีนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

สำหรับ ผลการดำเนินงานในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในพื้นที่คลองแม่ข่าที่จังหวัดเชียงใหม่รับผิดชอบ มีอยู่ใน 3 พื้นที่ ได้แก่ 1.) น้ำแม่ข่าช่วงที่ 1 (ช่วงต้นน้ำ) อยู่ในเขตตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม สภาพปัญหาที่พบ เป็นการรุกล้ำลำน้ำ โดยประชาชนสร้างบ้านเรือนและถนนทับลำน้ำ ทำให้ปิดกั้นน้ำ และ ในลำน้ำยังมีขยะ วัชพืช น้ำเน่าเสีย ปนเปื้อนยาฆ่าแมลงจำนวนมาก 2.) น้ำแม่ข่าช่วงที่ 2 (ช่วงกลางน้ำ) อยู่ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ทั้งหมด 22 ชุมชน ปัญหาที่พบหลักๆ คือคุณภาพลำน้ำมีวัชพืชหนาแน่น ตื้นเขิน อุดตัน มีการทิ้งขยะละน้ำเสียจากบ้านเรือน สถานประกอบการทำให้ลำน้ำมีสีดำละส่งกลิ่นเหม็น 3.) น้ำแม่ข่าช่วงที่ 3 (ช่วงท้ายน้ำ) เริ่มตั้งแต่เขตเทศบาลป่าแดดไปจนถึงจุดที่น้ำแม่ข่าไหลลงสู่แม่น้ำปิงที่ตำบลสบแม่ข่า อำเภอหางดง โดยปัญหาที่พบจะเป็นด้านคุณภาพของน้ำ เพราะเป็นที่รองรับน้ำเน่าเสียจากต้นน้ำและเขตเทศบาลมีวัชพืชปกคลุม มีการทิ้งน้ำเสียจากสถานประกอบการ

ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่ได้กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาคลองแม่ข่า 8 มาตรการ ดังนี้
1) มาตรการแก้ไขปรับปรุงคุณภาพน้ำแม่ข่า โดยการดำเนินการ จะบำบัดน้ำเสียและเร่งแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำ
2) มาตรการแก้ไขการบุกรุกที่ดินตามแนวลำน้ำแม่ข่า การดำเนินการจะเริ่มใช้การบังคับกฎหมาย ในส่วนของการบุกรุกล่วงล้ำลำน้ำ
3) มาตรการจัดหาแหล่งน้ำต้นทุน จะเริ่มดำเนินการในการจัดหาและพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุน
4) มาตราการปรับปรุงภูมิทัศน์และพัฒนาริมน้ำแม่ข่า โดยเกิดจากความร่วมมือระหว่างภาคราชการ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ในการเข้ามามีส่วนร่วมทำกิจกรรม เกิดการร่วมกลุ่มเครือข่ายในการอนุรักษ์และพัฒนา การบำเพ็ญประโยชน์ จิตอาสาในการพัฒนา ในการปรับปรุงภูมิทัศน์และพัฒนาริมน้ำแม่ข่า
5) มาตรการปรับสิ่งก่อสร้างเดิม ซึ่งจะเริ่มการปรับปรุงสิ่งก่อสร้างเดิมโดยการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่ล่วงล้ำลำน้ำ
6) มาตรการบริหารจัดการน้ำแม่ข่าอย่างเป็นระบบ ในการดำเนินการแก้ไขปัญหา จะแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะสั้น จะเร่งเติมน้ำดีเข้าเจือปน พร้อมซ่อมบำรุงประตูน้ำให้สามารถปิด-เปิด เพื่อควบคุมการปล่อยและกักเก็บน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการขุดลอกท่อน้ำเสีย การขุดลอกคลองแม่ข่าและคลองสาขาต่างๆ ส่วนในระยะยาว จังหวัดเชียงใหม่ได้รณรงค์ป้องกันในการทิ้งของปฏิกูลของเสียลงแม่น้ำร่วมกับการบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมการก่อสร้างสิ่งรุกล้ำลำน้ำและการปล่อยของเสียลงลำน้ำแม่ข่าอย่างเข้มงวด
7) มาตรการสร้างองค์ความรู้และจิตสำนึกของชุมชน โดยการเริ่มสร้างองค์ความรู้และจิตสำนึกให้กับชาวบ้านในชุมชน รวมไปถึงการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการศึกษา เรียนรู้ ค้นคว้า วิจัย และถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาเกี่ยวกับการอนุรักษ์ พัฒนาและแก้ไขปัญหาคลองแม่ข่าในมิติต่างๆ และมาตรการสุดท้าย
8) มาตรการพัฒนาและปรับปรุงลำน้ำสาขาลำน้ำแม่ข่า โดยเริ่มการดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงลำน้ำสาขาลำน้ำแม่ข่า รวมไปถึงการขุดลอกและกำจัดวัชพืช การขุดโคลนตามท่อระบายน้ำ การทำความสะอาด คลองระบายน้ำ และประตูระบายน้ำ

อย่างไรก็ตาม จังหวัดเชียงใหม่ ขอความร่วมมือประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ ไม่ทิ้งขยะและปล่อยน้ำเสียลงสู่คลองแม่ข่า และร่วมมือร่วมใจกันในดูแลรักษา ฟื้นฟูคลองแม่ข่า ควบคู่ไปกับภาครัฐในการจัดการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืน

ร่วมแสดงความคิดเห็น