เชียงใหม่ ประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์แห่งเดียวในประเทศไทย

อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ สืบสานประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ ซึ่งประเพณีโบราณล้านนาที่สืบทอดมากว่าสองร้อยปี เพื่อเป็นการค้ำจุนพุทธศาสนา ซึ่งถือได้ว่าเป็นประเพณีหนึ่งเดียวในประเทศไทยที่จัดในช่วงประเพณีสงกรานต์หรือวันปี๋ใหม่เมือง โดยปีนี้จัดอย่างยิ่งใหญ่ มีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจชมขบวนแห่ที่ถูกตกแต่งอย่างสวยงามตระการตา

นายสุทิน จันทร์งาม นายอำเภอจอมทอง ได้เป็นประธานเปิดงาน ประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ ประจำปี 2560 ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและอำเภอจอมทอง ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดขึ้นเพื่อสืบสานประเพณี ที่สืบทอดกันมา ถือว่าเป็นอีกหนึ่งงานที่จัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือปี๋ใหม่เมืองของชาวล้านนา โดย ช่วงเช้า เป็นขบวนแห่ไม้ค้ำโพธิ์แบบดั้งเดิมที่ปฏิบัติกันมา เริ่มต้นที่หน้า ธนาคารไทยพาณิชย์สาขาจอมทองไปตามถนนสายเชียงใหม่ – ฮอด ประกอบด้วยขบวนตุง 12 ราศี และขบวนชาวบ้านจาก 11 ชุมชนในอำเภอจอมทอง ซึ่งผู้ที่ร่วมขบวนจะแต่งตัวด้วยชุดพื้นเมืองทั้งชายและหญิง ส่วนผู้หญิงจะกางร่มที่ทำจากกระดาษสา เดินเป็นขบวนยาว อย่างสวยงาม โดยขบวนแห่ไปสิ้นสุดที่บริเวณสถานที่ประกอบพิธี วัดพระธาตุศรีจอมทอง ซึ่งขบวนแห่ไม้ค้ำโพธิ์ในปัจจุบันแทบไม่มีให้เห็นแล้ว มีเพียงที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ที่จัดอย่างยิ่งใหญ่

ซึ่งไม้ค้ำโพธิ์จอมทอง หรือ ไม้ค้ำสะหลีจอมทอง จะมีลักษณะเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือ เป็นไม้ง่ามใหญ่ ถูกแกะสลักลวดลายต่างๆ และถูกตกแต่งตามศิลปวัฒนธรรมประเพณีล้านนา ซึ่งไม้ค้ำสะหลีทั่วไปที่แห่กันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่วนใหญ่จะเป็นไม้ง่ามต้นเล็กๆ ไม่มีการแกะสลักตกแต่ง ถือเป็นประเพณีล้านนาที่สั่งสมและสืบทอดกันมานานนับร้อยปี ทั้งนี้ตามตำนานเล่าว่าต้นโพธิ์ที่วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร นำมาจากประเทศอินเดียมาปลูกไว้ที่วัด เป็นไม้มงคล ห้ามตัดกิ่งไม้ แต่เมื่อถึงฤดูแล้ง มีลมพายุทำให้กิ่งต้นโพธิ์หักโค่น เจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีจอมทององค์ที่ 14 จึงได้ขอแรงให้ชาวบ้านนำไม้มาค้ำ จึงได้เกิดการสืบทอดในการประกอบพิธีแห่ไม้ค้ำโพธิ์มาจนถึงปัจจุบันนี้

ด้านนายสุรพล เกียรติไชยยากร ประธานส่งเสริมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว อ.จอมทอง เปิดเผยว่า สำหรับประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ จะจัดกันทุกวันที่ 15 เมษายน ชาวภาคเหนือถือเป็นวันเถลิงศกหรือวันขึ้นปีใหม่และเรียกว่าวันพญาวัน เป็นการแสดงออกถึงความเชื่อของชาวล้านนาที่จะจรรโลงพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนตลอดไป ซึ่งหมายถึงการนำไม้ค้ำที่ตกแต่งสวยงามแล้วนำไปค้ำต้นโพธิ์ ซึ่งถือว่าตัวแทนของพระพุทธศาสนา ไม่ให้ต้นโพธิ์ที่มีอายุมากแล้วโค่นล้มโดยง่าย ในขบวนจะมีการจำลองวิถีชีวิตของชาวจอมทอง และตลอดทั้งวันมีการสรงน้ำพระบรมธาตุเจดีย์เจ้าจอมทอง ส่วนช่วงบ่าย เป็นการแห่ไม้ค้ำโพธิ์ของกลุ่มหนุ่มสาว เป็นการแสดงวัฒนธรรมร่วมสมัย เน้นทางด้านการบันเทิง สนุกสนาน หนึ่งปีมีหนึ่งครั้ง

ร่วมแสดงความคิดเห็น