โฮมสเตย์เฮือนโบราณ “บ้านประตูป่า” บ้านเก่ากลางสวนลำใย

เมืองลำพูนถือได้ว่าเป็นเมืองเก่าที่มีประวัติศาสตร์สืบต่อกันมายาวนาน อีกทั้งยังเป็นเมืองที่ดำรงไว้ซึ่งพุทธศาสนาและการทำเกษตรกรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของภาคเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่เพาะปลูกลำใย นับเป็นอันดับหนึ่งของพื้นที่ๆ มีผลผลิตลำใยมากที่สุดนอกจากนี้ลำพูนยังได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมของอาคารบ้านเรือนที่เก่าแก่อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งอาคารโบราณเหล่านั้นก็ล้วนเคยได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่นจากหน่วยงานต่าง ๆ มาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอาคารคุ้มเจ้าราชสัมพันธวงศ์ ซึ่งได้รับอาคารดีเด่นทางสถาปัตยกรรมจากสมาคมสยามสถาปนิก รวมถึงบ้านแม่บัวลา ใจจิตร ซึ่งอยู่ที่บ้านมะกอก อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ก็ได้รับรางวัลอาคารดีเด่นทางสถาปัตยกรรมจากสมาคมสยามสถาปนิก เช่นกัน เรือนโบราณของคนลำพูน ยังมีอีกหลายหลังซึ่งยังไม่ได้รับการเผยแพร่มากนัก เช่นเฮือนโบราณบ้านต้นแงะ ต.ประตูป่า อ.เมือง จ.ลำพูน ซึ่งเป็นบ้านของนายสุข และนางโนจา จันต๊ะไพร ปัจจุบันตกทอดเป็นของคุณจันทร์สุดา แสนไชย อดีตรองนางสาวลำพูนซึ่งเป็นทายาทคนสุดท้องคุณจันทร์สุดา ทายาทผู้รับมรดกเฮือนโบราณเล่าว่า คุณพ่อของท่านคือนายสุข จันต๊ะไพร ได้ซื้อบ้านหลังนี้มาจากหลวงแชวงศักดิ์-คุณหญิงลัดดา บ้านศรีย้อยในราคา 20,500 บาท เมื่อปี พ.ศ.2495 ในการรื้อบ้านก็ใช้วิธีแบบรื้อทั้งหลังแล้วนำมาสร้างใหม่ โดยใช้วัวเทียมเกวียนในการขนย้ายไม่ต่ำกว่า 100 เกวียน จากบ้านศรีย้อยมายังบ้านต้นแงะ ซึ่งสมัยนั้นนายสุขได้เกณฑ์ชาวบ้านมาช่วยกัน หลังจากที่ขนย้ายบ้านมายังบ้านต้นแงะแล้ว ก็ได้ใช้สล่าบ้านต้นแงะและบ้านสันหัวงัวในการสร้างขึ้นใหม่โดยอาศัยแบบเดิมของบ้าน ใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 4 เดือนจึงแล้วเสร็จ ทำบุญฉลองขึ้นบ้านใหม่เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2495 ซึ่งถ้านับถึงวันนี้มีอายุ 61 ปี นายสุข ได้ชื่อว่าเป็นผู้หนึ่งที่มีความขยันขันแข็งในการทำสวน โดยเฉพาะสวนลำใยของท่านมีประมาณ 20 ไร่ ท่านลงมือขุดร่องน้ำรอบสวนลำใยด้วยตัวของท่านเอง นอกจากนั้นทุกเย็นท่านยังต้องรดน้ำสวนลำใยของท่านเป็นประจำ จนครั้งหนึ่งเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้าย ต้องการจะมอบรางวัลให้กับตาสุขในฐานะผู้มีความขยันอดทนในการทำงาน จะให้นายสุขไปรับรางวัลที่คุ้มเจ้าหลวง คุณตาสุขได้บอกปฏิเสธเจ้าหลวงไปเนื่องจากท่านบอกว่า “ขี้เกียจเข้าเวียง”
จากผลพวงของการสวนลำใยของนายสุข จันต๊ะไพร จึงทำให้พื้นที่บริเวณบ้านต้นแงะและใกล้เคียง เรื่อยไปจนถึงบ้านหนองช้างคืน อุโมงค์เป็นพื้นที่เพาะปลูกลำใยคุณภาพดีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพราะมีพื้นที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกลำใย อีกทั้งคุณภาพดิน คุณภาพน้ำ คุณภาพอากาศก็มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเจริญเติบโตของลำใย จนทำให้ชื่อเสียงของลำใยที่มาจากพื้นที่ดังกล่าวมีรสชาติและคุณภาพดีประวัติความเป็นมาของลำใยนั้นมีถิ่นกำเนิดที่ประเทศจีนตอนใต้ ปลูกกันอย่างแพร่หลายในมณฑลกวางตุ้ง(Kwangtung) ฟุเกี่ยน (Fukein) กวางสี (Guangxi) และแพร่กระจายเข้าไปสู่อินเดีย ศรีลังกา พม่า ฟิลิปปินส์ ยุโรป สหรัฐอเมริกา (มลรัฐฮาวายและฟลอริดา) คิวบา หมู่เกาะอินดีสตะวันออก เกาะมาดากัสกา และไทย แหล่งปลูกลำไยในประเทศไทยที่สำคัญคือ จังหวัดที่อยู่ในเขตภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย แพร่ น่าน และพะเยาลำไยที่ไปปลูกในจังหวัดลำพูนนั้น มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นทางลำพูนและเชียงใหม่ยังมีเจ้าผู้ครองนครอยู่ เวลาที่เจ้าผู้ครองนครไปเฝ้าในหลวงก็ต้องเดินทางด้วยเรือไปตามแม่น้ำปิง คราวหนึ่งเมื่อเจ้าดารารัศมี พระราชชายาเสด็จฯกลับกรุงเทพ หลังจากเสด็จฯไปเยือนเชียงใหม่และประทับอยู่ ณ ที่นั้นชั่วระยะหนึ่ง มีลูกเรือ ชื่อ นายข่วง ได้ตามเสด็จฯมาด้วย เมื่อได้เฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว เจ้าดารารัศมีพระราชชายาได้รับพระราชทานพวงลำไยผลใหญ่พวงหนึ่ง ซึ่งนัยว่าเป็นของบรรณาการมาถวายจากประเทศจีน นายข่วงลูกเรือของพระราชชายาฯ จึงพลอยได้รับประทานลำไยนั้นด้วย และก็ปรากฏว่าติดใจในรสชาติของลำไยนั้นเป็นอย่างมาก ถึงกับเก็บเม็ดลำไยนั้นนำติดขึ้นยังเมืองเหนือด้วย เมื่อถึงบ้านนายข่วงก็นำเม็ดลำไยพันธุ์ดีนั้นปลูกลงแผ่นดินเมืองเหนือครั้งแรกที่บ้านน้ำโจ้ ตำบลดอนแก้ว ในเขตอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาลำไยต้นนั้นก็เจริญเติบโตแล้วออกผลแพร่พันธุ์กันสืบมา อันว่าบ้านน้ำโจ้นั้นถึงแม้จะเป็นเขตจังหวัดเชียงใหม่ก็ตาม แต่มีอาณาเขตติดกับบ้านหนองช้างคืน จังหวัดลำพูน ต่อมาขุนเข้ม ขามขัณฑ์ กำนันจึงได้นำเม็ดลำไยจากต้นแรกที่นายข่วงนำมาปลูกนั้น มาปลูกไว้ที่บ้านหนองช้างคืน ที่บ้านป่าขามรวมถึงบริเวณบ้านประตูป่าเป็นครั้งแรก
ปัจจุบันเฮือนโบราณบ้านต้นแงะ ถือเป็นมรดกทางด้านสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่า เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาศึกษาค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม โดยคุณจันทร์สุดา กล่าวว่า บ้านหลังนี้นับเป็นมรดกที่นายสุข ซึ่งเป็นบิดา ได้ทิ้งไว้ จึงเกิดแนวคิดในการอนุรักษ์เฮือนโบราณหลังนี้ เพื่อให้ลูกหลานได้เข้ามาศึกษาหาความรู้ อีกทั้งเฮือนโบราณในปัจจุบัน นับวันยิ่งหาดูยาก เพราะคนรุ่นใหม่มองเห็นว่าเฮือนเก่านั้นดูล้าสมัย ก็เลยพากันรื้อทิ้งแล้วสร้างบ้านแบบสมัยใหม่ขึ้นมาแทน ซึ่งตนเห็นว่าตนเองโชคดีที่บรรพบุรุษได้ทิ้งมรดกเอาไว้ จึงต้องการอนุรักษ์บ้านโบราณหลังนี้ซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางสวนลำใยให้คงอยู่ต่อไป

จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น