วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์แห่งอารยธรรมลุ่มน้ำโขง

ดินแดนแห่งลุ่มแม่น้ำโขง ช่วงระหว่างประเทศไทย ประเทศสหภาพพม่า ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันในเชิงสังคม วัฒนธรรมมีตั้งแต่อดีตกาล บริเวณแห่งนี้เป็นที่กำเนิดของอาณาจักรใหญ่น้อย มีนครรัฐมากมาย มีความหลากหลายทางนิเวศวิทยา ด้วยความสัมพันธ์หลายรูปแบบ ทั้งความกลมกลืนทางด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี การปกครอง และภูมิปัญญา ดินแดนแห่งนี้จึงเป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สังคมวัฒนธรรมในกลุ่มอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน ส่วนใหญ่มีพัฒนาการมาจากรัฐในหุบเขา พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงมีที่ราบแทรกอยู่เล็กน้อย และกระจัดกระจายอยู่ตามแอ่งต่างๆของหุบเขา ลักษณะเช่นนี้จึงเป็นพื้นฐานที่ทำให้เกิดนครรัฐ (City state) ที่แยกตัวกันอยู่ แต่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างเอกภาพระหว่างนครรัฐ เพื่อพัฒนาไปสู่อาณาจักรใหญ่ แต่ถึงกระนั้นก็มีนครรัฐบางแห่งสามารถพัฒนาตนเองให้เป็นอาณาจักรได้ เช่น อาณาจักรล้านนา อาณาจักรล้านช้าง ในขณะที่หัวเมืองต่าง ๆ ตอนบนของทั้งสองอาณาจักร ได้แก่ เชียงตุง เชียงรุ่ง รวมทั้งเมืองอื่น ๆ ไม่สามารถรวบรวมหัวเมืองน้อยใหญ่พัฒนาให้เป็นอาณาจักรได้
ขอบเขตศิลปวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขง มีอาณาเขตกว้างขวาง ทั้งนี้ได้รวมพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง (แอ่งเชียงใหม่-ลำพูน) พื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำกก (แอ่งเชียงราย) พื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำอิง (พะเยา) และพื้นที่ราบลุ่มน้ำบึน (เชียงตุง) โดยใช้แม่น้ำโขงเป็นแกนหลัก และศึกษาการรับวัฒนธรรมรวมทั้งการแพร่กระจายวัฒนธรรมในกลุ่มเมืองและอาณาจักรต่างๆ
ภูมิปัญญาต่างๆ ในแถบอนุภูมิภาคแห่งนี้ ได้มีการพัฒนาการทางด้านภาษาและวัฒนธรรมที่ต่อเนื่อชัดเจน โดยการพัฒนานี้มีความเหมือนและแตกต่างกันไปตามเหตุปัจจัย สิ่งแวดล้อมทางประวัติศาสตร์ การเมือง การปกครอง แต่ยังคงความมีอัตตาลักษณ์ (Identity)  ความเป็นตัวตน (Self) ความเป็นชนชาติ (Ethnicity) ที่เหนียวแน่นด้วยคุณธรรม ความเชื่อดั้งเดิม รวมกับการรับเอาพุทธศาสนาในเวลาต่อมา
สิ่งเหล่านี้ส่งผลถึงวิถีชีวิตที่งดงาม มีระเบียบของชีวิตที่ชัดเจนและมีการสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมที่สื่อถึงความเชื่อและค่านิยมดังกล่าว ภูมิปัญญาและศิลปวัฒนธรรมทั้งหลายได้ผ่านกระบวนการวิวัฒนาการจนกลายมาเป็นแอ่งอารยธรรมลุ่มน้ำโขงที่ทรงคุณค่า
อารยธรรมลุ่มแม่น้ำโขงมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์มากว่า 1,000 ปีก่อกำเนิดศิลปวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าและสุนทรียภาพที่มีอัตตาลักษณ์ ท่ามกลางกระแสความผันแปรทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองระหว่างรัฐต่อรัฐ เมืองต่อเมือง ชุมชนต่อชุมชน บนความสัมพันธ์ ระหว่างชาติพันธุ์และเครือญาติที่ผสมผสานอย่างกลมกลืนเป็นเอกภาพบนความหลากหลาย ในดินแดนที่เป็นแอ่งอารยธรรมที่เรียกว่า “ลุ่มน้ำโขง”
วิวัฒนาการของศิลปวัฒนธรรม ก่อให้เกิดอารยธรรมที่หลากหลายก็เพราะเหล่าชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในดินแดนลุ่มน้ำโขงที่ประกอบด้วย อาณาจักรล้านนา อาณาจักรล้านช้าง อาณาจักรขอม และระดับรัฐน้อยใหญ่อีกมาก กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้เป็นผู้สร้างสรรค์ศิลปะ และวัฒนธรรมต่างๆ อย่างสืบเนื่องยาวนาน กลุ่มคนเหล่านี้ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ไท อันได้แก่ ไทยวน ไทลาว ไทใหญ่ ไทเขิน ไทลื้อ ไทดำ ไทแดง เป็นหลัก รวมถึงกลุ่มคนมอญ เขมร จีนและชนเผ่าต่าง ๆ กลุ่มชาติพันธุ์ไทเหล่านี้ก็สามารถแยกแยะได้ด้วยภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แม้จะไม่ชัดเจนนัก แต่จะมีเอกลักษณ์แตกต่างกับกลุ่ม มอญ เขมร จีนและชนเผ่าต่าง ๆ อย่างชัดเจน แต่ถึงอย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ระหว่างชาติพันธุ์ทั้งหลายยังคงสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้
กลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตลุ่มแม่น้ำโขง ปัจจุบันสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษที่ก่อกำเนิดอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ ทว่าท่ามกลางกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงและโลกาภิวัฒน์ รวมทั้งการแบ่งเขตรัฐชาติต่าง ๆ ในดินแดนแถบลุ่มน้ำโขง และกระแสความผกผันทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ทำให้วิวัฒนาการทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม ไม่เด่นชัดและอ่อนด้อยลงไป ความสัมพันธ์ระหว่างชาติพันธุ์ถูกปิดกั้นด้วยอำนาจรัฐและลัทธิทางการเมือง ถึงแม้ว่าปัจจุบันความเป็นรัฐชาติและอาณาจักรจะสูญสิ้นไปไม่ต่ำกว่าร้อยปีแล้วก็ตาม ในกลุ่มชนต่างๆ ก็ยังมีผู้คนบางคนและบางชุมชนที่สามารถดำรงอัตตาลักษณ์ของตนเองและยังสืบสานภูมิปัญญาของบรรพบุรุษเอาไว้ได้อย่างเข้มแข็ง
ภาพถ่ายก็นับเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งที่บันทึกเรื่องราวที่ผ่านสายตามุนษย์ เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์และใช้อ้างอิงถึงความจริง นอกเหนือจากการบันทึกลายลักษณ์อักษรได้ โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง ได้รวบรวมเอาภาพถ่ายเก่ากว่า 35 ภาพ ที่มีการบันทึกไว้เมื่อราว 50-100 ปี เพื่อการศึกษาและการอ้างอิงในงานวิชาการลุ่มแม่น้ำโขง ภาพถ่ายเหล่านี้นอกเหนือจากงานด้านวิชาการแล้ว ภาพต่าง ๆ ยังคงมีความงดงามเทียบได้กับงานศิลปกรรมชั้นยอดของโลกอีกด้วย
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น