ม.ราชภัฏอุบลราชธานี จัดอบรมหลักสูตรการออกแบบ การเรียนรู้แบบบูรณาการภาษาไทย

วันที่ 14 กรกฎาคม 2561 รศ.ดร.จิณณวัตร ปะโคทัง คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมอบรมหลักสูตรการออกแบบ การเรียนรู้แบบบูรณาการภาษาไทย เพื่อพัฒนาการอ่าน คิดวิเคราะห์ เขียนของผู้เรียน รหัส612031068-005 ระหว่างวันที่ 14-15 กรกฎาคม 2561 ณ โรงแรมเมอร์เคียว เชียงใหม่
รศ.ดร.จิณณวัตร ปะโคทัง คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี กล่าวว่า โครงการอบรมพัฒนาครูประจำการแบบครบวงจร ปี 2561 หลักสูตร การออกแบบการเรียนรู้แบบบูรณาการภาษาไทยเพื่อพัฒนาการอ่าน คิด วิเคราะห์ เขียนของผู้เรียนครั้งนี้ ใช้กรอบหลักสูตรและเกณฑ์การประเมินตามกรอบแนวคิด TPCK ที่บูรณาการทั้งหลักการพัฒนาครูที่บูรณาการระหว่างเนื้อหาสาระวิชา( Content Knowledge) กับหลักวิชาชีพครู ( Pedagogy Knowledge) สาระวิชาที่บูรณาการเนื้อหาสาระกับศาสตร์วิชาชีพครู ( Pedagogy Content Knowledge :PCK) การหลอมรวมเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ากับการจัดเตรียมการเรียนการสอนตามเนื้อหาสาระเฉพาะทาง ( Technological Content Knowledge) และแนวคิดที่นำไปสู่การปฏิบัติตามกระบวนการชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ( Professional Learning Community)
โดยจัดกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการฯมีวัตถประสงค์เพื่อให้ครูมีความรู้ความเข้าใจในการออกแบบการเรียนรู้แบบบูรณาการภาษาไทยเพื่อพัฒนาการอ่าน คิดวิเคราะห์ เขียนของนักเรียนประถมศึกษา จากนั้นจึงจัดกิจกรรมนำความรู้สู่ห้องเรียน โดยให้ครูได้จัดกิจกรรมในชั้นเรียนของตนเอง ที่มีวิทยากรเป็นพี่เลี้ยงและกำกับติดตามนิเทศผ่านระบบสารสนเทศออนไลน์
พร้อมทั้งจัดกิจกรรมเปิดชั้นเรียนออนไลน์ เพื่อให้ครูได้จัดนิทรรศการ นำเสนอผลงาน ถอดบทเรียนและสรุปองค์ความรู้ที่ได้จากการอบรมผ่านชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ซึ่งจะทำให้ผู้เข้ารับการอบรมได้รับความรู้ ประสบการณ์ มีทักษะในการจัดกิจกรรม และสร้างเครือข่ายชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป
โครงการเรียนรู้แบบบูรณาการของภาษาไทยแบบคิดวิเคราะห์ นี้จัดจำนวน 6 รุ่น จำนวนรุ่นละ 90 คน จัดอยู่ในพื้นที่ 4 รุ่นและนอกพื้นที่ 2 รุ่น คือที่จังหวัดเชียงใหม่และหาดใหญ่ คาดหวังว่า ครูที่มาเข้ารับการอบรมเรื่องความรู้เกี่ยวกับภาษาไทยแบบคิดวิเคราะห์ ครูสามารถเอาความรู้ที่ได้ ไปพัฒนาเด็กที่ห้องเรียนได้

และเพื่อให้คุณครูได้มีชั่วโมงอบรม เก็บชั่วโมงไปเพื่อขอเลื่อนตำแหน่งวิทยะฐานะของคุณครู ให้สูงขึ้นได้คุณครูที่มาอบรมครั้งนี้ จะได้ 12 ชั่วโมง ในปีหนึ่งคุณครูจะต้องพัฒนาตนเองอย่างน้อย 20 ชั่วโมงตามเกณฑ์ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งโครงการนี้ทำทั่วประเทศ มีคุณครูที่มาจากจังหวัดทางภาคเหนือตอนบน ได้แก่เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง น่าน จำนวนประมาณ 90 คน

ร่วมแสดงความคิดเห็น