12 วันกับการปฏิบัติการค้นหาจระเข้ล่าสุด จับจระเข้ได้ที่เกาะกระทะหาดลายัน

12 วันกับการปฏิบัติการค้นหาจระเข้ล่าสุด จับจระเข้ได้ที่เกาะกระทะหาดลายัน คาดเป็นจระเข้น้ำเค็มเพศเมียอายุประมาณ 6-7 ปี ขณะที่จังหวัดสั่งชุดเฉพาะกิจเอกซเรย์ทุกพื้นที่หลังวันที่ 10 สิงหาคม ผู้ลักลอบเลี้ยงจระเข้ที่ไม่ได้จดแจ้งกับจังหวัดจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
วันนี้ (29กรกฎาคม2561 ) เวลา 09.00 น. นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยพลเรือโทสมนึก เปรมปราโมทย์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3,นายโกวิทย์ เก้าเอี้ยน ประมงจังหวัดภูเก็ต และนายนิคมสุขสวัสดิ์ หัวหน้าชุดไกรทอง ลุ่มน้ำตาปีจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี แถลงข่าวผลการจับจระเข้ ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเขต 5(ภูเก็ต)

นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีผู้พบเห็นจระเข้ในทะเลภูเก็ตบริเวณหาดยะนุ้ย ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ทางจังหวัดภูเก็ตได้ดำเนินการจัดตั้งชุดปฏิบัติการค้นหาจระเข้ พร้อมติดป้ายแจ้งเตือนประชาชนและจัดเจ้าหน้าลาดตะเวณรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว ตลอดเวลา 12 วันที่ผ่านมาชุดปฏิบัติการค้นหาจระเข้ ได้ดำเนินการค้นหาจระเข้อย่างต่อเนื่อง

และเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ทีมปฏิบัติการค้นหาจระเข้ เดินเท้ามาตลอดทั้งคืน บริเวณปลายแหลมเกาะทะ หาดลายัน จนกระทั่งในเวลาประมาณ 04.00 น. (29 กรกฎาคม 2561)ได้เห็นดวงตาของจระเข้ ทีมปฏิบัติการจึงวางแผนจับโดยใช้วิธีการอวนล้อม 2 ชั้น
-ใช้อวนตาเขียวตีวงรอบนอก1 ชั้น และชั้นในใช้อวนขาวปลากระเบน ล้อมวงใน วิ่งซิกแซกในร่องน้ำ เพื่อจำกัดพื้นที่ให้จระเข้อยู่ในวงจำกัด-หลังจากจระเข้ติดในอวนเรียบร้อยแล้ว ทีมไกรทองได้เข้าจับจระเข้ด้วยมือเปล่าใช้เวลาประมาณ 15 นาที
-และนำขึ้นฝั่งมัดและเคลื่อนย้ายมาที่ ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเขต 5(ภูเก็ต)
– เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้ทำการวัดขนาดจระเข้มีความยาว 2.50 เมตร น้ำหนักประมาณ 150 กิโลกรัม เป็นเพศเมีย ไม่มีไม โครชิพติดที่ลำตัว จึงสันนิษฐานว่าเป็นจระเข้ที่มีคนลักลอบเลี้ยงและไม่ได้จดแจ้งกับทางสำนักงานประมงจังหวัดภูเก็ต สภาพทางกายภาพเบื้องต้นเป็นจระเข้น้ำเค็ม

ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตกล่าวเพิ่มเติมว่า จระเข้ตัวนี้น่าที่จะมาจากการเลี้ยง โดยมีข้อมูลที่ชัดเจนคือมีตะไคร้น้ำบนหลังของจระเข้ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกว่าน่าจะอยู่ในที่ที่มีน้ำขังเป็นเวลานาน ประกอบกับหากเป็นจระเข้ตามธรรมชาติจะจับยากมากซึ่งการปฏิบัติการครั้งนี้จะใช้โดรนมาเป็นตัวในการตรวจสอบพิกัดทั้งนี้อุปสรรคที่สำคัญอย่างยิ่งในการจับจระเข้คือคลื่นลมแรง ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้มีการปักธงใดห้ามนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำโดยเด็ดขาด ในการดำเนินงานทั้งนี้ทางเจ้าหน้าที่ต้องใช้ความอดทนความพยายามในการเกาะติดเพื่อติดตามโดยตลอดซึ่งใช้เวลาถึง 12 วันและขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนทั้งทัพเรือภาคที่ 3 ,องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น,สำนักงานประมงจังหวัดทีมประมงพื้นบ้าน จนทำให้การปฏิบัติภารกิจสำเร็จ

สำหรับมาตรการในการป้องกันเหตุการณ์ในครั้งนี้ จังหวัดได้มีการออกประกาศให้ผู้ที่ครอบครองจระเข้ไว้โดยไม่ได้ขอรับอนุญาตโดยจังหวัดภูเก็ตมีผู้ขออนุญาตเลี้ยงจระเข้ที่ถูกต้องเพียง 5 รายเท่านั้นโดยจังหวัดได้มีประกาศว่าผู้ใดที่มีที่ยังไม่ได้มีการแจ้งครอบครองที่ถูกต้องให้แจ้งภายในวันที่ 10 ส.ค.61 สำหรับมาตรการที่ 2 ให้มีการแจ้งข่าวสาร หากพบเห็นผู้ใดมีการซื้ออาหารประเภทปลาสดหรือไก่เป็นจำนวนมากๆเป็นประจำ โดยที่ไม่มีเหตุผลอย่างเช่นการนำไปประกอบอาหารให้มีการแจ้งเบาะแสเพื่อที่จะได้มีการเฝ้าระวังโดยขณะนี้ได้มีการแจ้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านให้มีการปูพรมมสังเกตการณ์ว่าใครมีพฤติกรรมดังกล่าว โดยจะมีรางวัลให้กับผู้ที่แจ้งเบาะแสและนำไปสู่การพบเห็นจระเข้ ถือเป็นมาตรการที่ทางจังหวัดกำหนดเพือการป้องกันไว้ ส่วนการแก้ไข จะมีการพัฒนารูปแบบอุปกรณ์การล้อมจับให้ง่ายที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาอุปกรณ์ในการล้อมจับไม่สามารถเข้าได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางจังหวัดจะดำเนินการป้องกันและแก้ไขในอนาคต

พร้อมกันนี้จังหวัด ได้มีการประสานงานกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้ช่วยเฝ้าสังเกต บ้านไหนที่มีการล้อมรั้วมิดชิด หรือมีการซื้อไก่เป็นประจำเป็นปริมาณมากๆ ให้แจ้งมายังทางจังหวัด ทั้งนี้ทางจังหวัดจะดำเนินการอย่างเข้มข้น โดยมีการให้รางวัลผู้พบเห็นด้วย ให้ผู้ที่ยังไม่ได้จดแจ้งมาแจ้งที่สำนักงานประมงจังหวัดภายในวันที่ 10 สิงหาคม 2561 นี้ ซึ่งเป็นประเด็นที่ทางจังหวัดภูเก็ตให้ความสำคัญและจะต้องตั้งข้อสังเกตให้เยอะๆ

นอกจากนี้ ทางจังหวัดได้ประสานกับองค์ การปกครองส่วนท้องถิ่นติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อตรวจสอบสังเกตสิ่งผิดปกติต่างๆ และหลังจากนี้การดำเนินการหลังจากนี้ทางจังหวัดจะมีการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอว่าจระเข้เป็นสายพันธุ์อะไร ส่วนการจะนำจระเข้ไปไว้ที่ไหนนั้น จะเป็นอำนาจของอธิบดีกรมประมง
ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางจังหวัดภูเก็ตจะนำไปถอดบทเรียนและจะหาวิธีการมาตรการป้องกันและเข้มงวดอย่างดีที่สุด

ประมงจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ผู้ที่จะเลี้ยงจระเข้จะต้องขออนุมัติอนุญาตจากกรมประมงซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบฟาร์มเลี้ยงบ่อเลี้ยงที่ถูกต้องตามระเบียบที่กำหนดเพื่อป้องกันการหลบหนีและหลุดลอด ออกจากฟาร์มเลี้ยง เพราะฉะนั้นการที่จะต้องมีที่กักขังที่แข็งแรงป้องกันการหนีของจระเข้ ซึ่งจะต้อง มีการจดทะเบียนให้ถูกต้องซึ่งขณะนี้ในจังหวัดภูเก็ตมีผู้จดทะเบียนที่ถูกต้องจำนวน 5 ราย ซึ่งสวนสัตว์เป็น 1 ใน 5 ราย และสถานแสดงพันธุ์จระเข้ก็เป็นหนึ่งใน 5 รายเช่นเดียวกัน ซึ่งในอนาคตจะต้องช่วยกันสอดส่องและให้ผู้ที่เลี้ยงมาขออนุญาต มาแจ้งก่อนวันที่ 10 ส.ค.61 ซึ่งกรณีนี้จระข้ที่จับได้จะต้องตรวจดีเอ็นเออีกครั้งว่าเป็นจระเข้พันธุ์อะไร
ทั้งนี้ฟาร์ม ที่มีการจดทะเบียนถูกต้อง จะต้องมีการติดไมโครชิพที่จระเข้ ซึ่งจระเข้ในตัวดังกล่าวจากการตรวจสอบแล้วไม่มีการฝังไมโครชิพ สำหรับผู้เลี้ยงจระเข้ที่ไม่ได้จดแจ้งกับทางราชดารจะต้องมีความผิดปรับไม่เกิน 10, 000 บาท จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 กล่าวว่า เมื่อ 2 วันที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่ทัพเรือภาคที่ 3 ได้ร่วมปฏิบัติการกับชุดไกรทองตลอดเวลาเพื่อเป็นการเรียนรู้ซึ่งกันและกันหากเกิดเหตุการณ์ในขั้นต้นทางทัพเรือภาคที่ 3 จะได้ดำเนินการป้องกันได้ ทั้งนี้จากการเฝ้าสังเกตนักท่องเที่ยวปรากฏว่านักท่องเที่ยวไม่มีความกังวลจากเหตุการณ์ดังกล่าวยังคงเล่นน้ำ ตามปกติ
สำหรับจระเข้ตัวนี้ชาวบ้านพบครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมาบริเวณหาดยะนุ้ยจากนั้นเคลื่อนตัวไปยังหาดในหาน ตำบลราไวย์ ก่อนจะไปโผล่ที่หาดกะตะ หาดกะรน ตำบลกะรน อำเภอเมืองภูเก็ตกระทั่งวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมาพบไปคอยขึ้นเหนือน้ำบริเวณหาดไตรตรัง ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ โดยเจ้าหน้าที่กรมประมงชุดไกรทองลุ่มน้ำตาปียังออกตามหาอย่างต่อเนื่อง
จนกระทั่งวันที่ 26 กรกฎาคม 2561 มีการพบร่องรอยจระเข้เกยตื้นที่ หาดบางเทา ทีมไล่ล่าจึงตั้งศูนย์ปฏิบัติการไล่ล่า ที่อุทยานแห่งชาติหาดลายัน โดยมีการวางกรงใส่โครงไก่เพื่อเป็นเหยื่อล่อจระเข้ แต่ปรากฏไม่เป็นผล ทีมปฏิบัติการจึงเน้นการค้นหาโดยใช้เรืออกค้นหา การเดินเท้าริมชายหาด และใช้โดรนบินสำรวจทางอากาศจนกระทั่งจับได้ในเช้าวันนี้ 29 กรกฎาคม 2561
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต/ข่าว/ภาพ

ร่วมแสดงความคิดเห็น