ปีนี้ภัยธรรมชาติกระหน่ำหนัก แล้งดินถล่มนาล่มน้ำท่วมยับ!

องค์กร หน่วยงานด้านภูมิอากาศทั้งในไทยและต่างชาติ รวบรวมข้อมูลภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้นค่อนโลก ชี้ว่าแปรปรวนหนัก เกินคาดทั้งความแห้งแล้ง แผ่นดินไหว พายุฝน น้ำท่วมตั้งแต่ต้นปี 61 และประเมินว่า ปลายฝนต้นหนาวนี้ ภาวะอากาศหนาวเย็นแบบสุดขั้วจะส่งผลต่อหลายภูมิภาคของโลก รวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนด้วย

ทั้งนี้ภัยธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นประจำฤดูกาล จากการเก็บสถิติที่ผ่านๆมาในรอบ 5-10 ปีพบว่า ภาวะเอลนีโญ่ ลานีญ่า และโลกร้อน ส่งสัญญาณเตือนว่า หายนะในความสมดุลย์ในระบบวงจรธรรมชาติกำลังสูญเสียการควบคุมตามกลไกที่มีอยู่ ยากที่มนุษย์จะเอาชนะ เปรียบเหมือนมะเร็งร้ายกำลังคุกคามทุกชีวิตบนโลก นอกเหนือจากที่มีภัยสงคราม ภัยความอดอยากหิวโหย สารพัดภัยในรูปแบบต่างๆ
ในแถบอาเซียน เคยมีความพยายาม จัดตั้งองค์กร หน่วยงานเพื่อเผชิญภัยพิบัติเหล่านี้ ท้ายที่สุด ก็ทำได้เพียงแค่การช่วยเหลือเท่าที่ศักยภาพแต่ละบ้านเมืองดำเนินการได้ พร้อมๆกับธารน้ำใจไร้พรมแดน เช่น กรณีเขื่อนแตก ในสปป.ลาว ที่จำต้องสั่งระงับทุกโครงการลงทุนก่อสร้างเขื่อน จนกว่าจะหามาตรการป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับประเทศที่พยายามจะเป็น”แบตเตอรี่แห่งเอเชีย”ได้
สำหรับประเทศไทย การเผชิญภัยพิบัติ ธรรมชาติ จากภัยแล้ง ผ่านพ้นมาด้วยความเจ็บปวดของพี่น้องเกษตรกร ที่จำยอมรับชะตากรรมประจำฤดูกาลขาดแคลนน้ำเพื่อการเพาะปลูก เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนการเริ่มต้นไถหว่าน ฤดูกาลทำนา ก็ต้องพบกับปัญหา นาล่ม ตั้งแต่เริ่มปลูก นับแสนๆไร่ อันเนื่องมาจากน้ำท่วม
มิหนำซ้ำผลกระทบจากสภาพพื้นที่เสี่ยงภัย ดินถล่ม ซึ่งมีต้นตอจากการ บุกรุก ทำลายผืนป่า ภาพเหตุการณ์ที่ อ.บ่อเกลือ น่าน ความสูญเสียกว่า 8 ชีวิตและอีกหลายร้อยครอบครัว ที่ต้องช่วยฟื้นฟู วางรากฐานชุมชนใหม่ ให้ห่างไกลจากปัญหาดินถล่มซ้ำซาก ก็ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในไทย ยังมีตัวอย่างความสูญเสียที่เกิดกระจายซ้ำแล้วซ้ำเล่าทั่วทุกภาคของประเทศ
จุดเริ่มต้นของภัยพิบัติที่รุนแรงนั้น ไม่ว่าจะพายุฝนแต่ละลูก ที่อาจนำลูกเห็บ ลมกรรโชกแรง น้ำป่า น้ำท่วม น่าจะมีปราการของป่าไม้ช่วยรับมือ ก็ต้องใช้เวลาฟื้นฟู คืนป่าที่สมบูรณ์อีกชั่วอายุคน
ในขณะที่ ปัญหาน้ำท่วมขังพื้นที่เศรษฐกิจ ความเสียหายจากโครงการพัฒนาที่ไปกีดขวางที่ทางน้ำไหลตามธรรมชาติ โดยเฉพาะโครงการที่อยู่อาศัย ถนนหนทาง มีวิธีการแก้ไขด้วยระบบผังเมืองที่ต้องมีประสิทธิภาพ มีการบังคับใช้กฎกติกาเพื่อสะสางปัญหาที่สุมซุกไว้ในเมือง ชุมชนต่างๆ ก็เป็นการลูบหน้าปะจมูก ไม่จริงจังกับภารกิจ หน้าที่
กรณีตัวอย่างเขตเศรษฐกิจชั้นในของนครเชียงใหม่ ตราบใดที่ กำแพง พนังกั้นน้ำตลอดแนวฝั่งลำน้ำปิง ยังไม่ครบสมบูรณ์ รวมถึงการไล่รื้อถอนสิ่งกีดขวางทางน้ำไหลตามธรรมชาติ ไม่ได้รับการแก้ไข และการพัฒนา ก่อสร้างที่ไม่คำนึงถึงภูมิสังคมอย่างเข้าถึง เข้าใจ บ้านเมืองนี้ ภัยธรรมชาติที่มาหลอมรวมกับภัยจากน้ำมือคน จะกลายเป็นภัยพิบัติ ที่กัดกร่อนคุณภาพชีวิตผู้คน ให้ ทุกข์ทนจนกว่าจะปรับตัว รับสภาพอย่างกลมกลืน กลายเป็นการอยู่ร่วมกับปัญหาอย่างชาชิน จากรุ่นสู่รุ่น

ร่วมแสดงความคิดเห็น