คนเชียงใหม่ 79.07% ย้ำ !! การสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการ ริมดอยสุเทพ เป็นปัญหาท่ีต้องแก้ไขโดยด่วน หวั่นทำสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม

ดอยสุเทพ เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ชัยมงคลสำคัญของเมืองเชียงใหม่ล้านนาต่อเนื่องมาถึง 722 ปี ทั้งยังเป็นสถานที่ตั้งขององค์พระธาตุศักดิ์สิทธิ์ประจำเมือง มีพิธีกรรมสักการบูชา สืบเนื่องต่อกันมา ดังนั้นพื้นที่ดอยสุเทพจึงเป็นสมบัติอันสูงค่าร่วมกันของชาวเมืองขนบจารีตที่สืบทอดกันมาหลายร้อยปี จากบรรพชน คนเชียงใหม่รุ่นสู่รุ่น จากปู่ย่าตายาย สู่ลูกหลานเหลน ความผูกพันดังกล่าวจึงลึกซึ้ง มีศักดิ์และสิทธิ์เหนือกว่ากฎหมายใดๆ ที่เกิดขึ้นในชั้นหลัง ประชาชนคนเชียงใหม่ จึงผูกพันกับดอยสุเทพ ถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวเชียงใหม่ ตลอดถึงชาวไทยทั้งปวง (เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ, เมษายน 2561)

แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงปีที่ผ่านมากลับปรากฏภาพที่ทำให้เกิดความไม่พอใจของคนเชียงใหม่ ซึ่งเป็นภาพของพื้นที่ป่าดอยสุเทพที่ถูกรุกล้ำเพื่อสร้างอาคาร โดยพบว่าโครงการดังกล่าวเป็นโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการ ซึ่งกระทรวงการคลังได้อนุมัติให้ใช้พื้นที่เมื่อปี 2549 และมีการอนุมัติงบประมาณในการก่อสร้างเมื่อปี 2557 ที่ผ่านมา งบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างโครงการดังกล่าว ประกอบด้วย อาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 พร้อมบ้านพักข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม เป็นจำนวนเงินกว่า 955 ล้านบาท ซึ่งต้องใช้พื้นที่ป่าดอยสุเทพกว่า 147 ไร่ 3 งาน 41 ตารางวา (https://today.line.me/th/pc/article) ซึ่งถึงแม้จะมีการคัดค้านโครงการดังกล่าวจากหลายภาคส่วนตั้งแต่ปี 2558 แต่ก็ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จะยกเลิกการก่อสร้าง กลับมีการดำเนินการจนแล้วเสร็จ จนกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต
ในขณะที่สำนักงานศาลยุติธรรมได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่าไม่อาจยุติและรื้อถอนโครงการ ได้เพราะจะถูกคู่สัญญาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย และจะถูกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินดำเนินการหาผู้รับผิดชอบตามกฎหมายด้วยประกอบกับการแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา ที่ไม่เห็นด้วยกับรื้อโครงการดังกล่าว เนื่องจากเป็นโครงการที่มีการใช้งบประมาณของรัฐ และอาจเกิดการถูกฟ้องร้องระหว่างเอกชนผู้รับเหมา กับรัฐ ซึ่งที่ท่าทีดังกล่าวตรงข้ามกับนโยบายทวงคืนผืนป่าที่ คสช. ประกาศไว้เมื่อก้าวสู่อำนาจในปี 2557 ซึ่งกำหนดว่าจะคืนผืนป่าให้ได้ 40% ตามแผนแม่บท

(https://www.bbc.com/thai/thailand-43708707) ยิ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่คนเชียงใหม่เป็น อย่างมาก ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ในมุมมองของคนเชียงใหม่ ถือเป็นการรุกพื้นที่ป่าดั้งเดิม ซึ่งเป็นแนวเขตแดนที่ภาคประชาสังคมและกองทัพซึ่งเป็นผู้ดูแลพื้นที่นี้ทำสัญญาร่วมกันไว้เมื่อ 30 ปีที่แล้ว และ แม้โครงการดังกล่าว แม้จะอ้างว่าก่อสร้างในพื้นที่ราชพัสดุ แต่แท้จริงแล้วก็คือเขตป่าดอยสุเทพที่ต่อเนื่องเป็นผืนเดียว มีการถางทำลาย เปิดหน้าดิน ซึ่งจากการดำเนินการดังกล่าวส่งผลทำให้พื้นที่มีความลาดชันสูง และเมื่อไม่มีต้นไม้ปกคลุมเมื่อมีฝนตกลงมา พื้นที่ดังกล่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณบ้านพัก 45 หลัง จะถูกน้ำจากดอยสุเทพ ไหลลงมาเซาะพื้นที่สนามหญ้า และสวนของบ้านพักเกือบทุกหลัง ทำให้เห็นร่องรอยความเสียหายของหน้าดินอย่างชัดเจน ขณะที่พื้นที่โดยรอบที่โครงการที่ไม่มีต้นไม้เนื่องจากมีการปรับพื้นที่เพื่อการก่อสร้าง พบว่าสภาพหน้าดินถูกน้ำไหลลงมาเซาะจนเป็นร่อยรอยอย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน โดยสภาพดังกล่าวถูกบันทึกภาพได้เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา (https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_1354213) สิ่งดังกล่าวจึงถือเป็นการล่วงละเมิดสิทธิ์ของประชาชนชาวเมือง ละเมิดระบบนิเวศวัฒนธรรม อันเป็นสมบัติอันล้ำค่า ไม่มีแม้แต่ไต่ถาม ขอความเห็นใดๆ นับตั้งแต่เริ่มโครงการ จนใกล้แล้วเสร็จ

และถึงแม้วันที่ 11 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมสัญจร (กบศ.) จะมีมติมอบหมายให้สำนักงานศาลยุติธรรม ทำความตกลงขอใช้ที่ดินบริเวณศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย จังหวัดเชียงราย เพื่อก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 พร้อมที่พักอาศัย เพื่อทดแทนพื้นที่ริมดอยสุเทพ แต่อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวก็ยังเป็นที่น่าวิตกกังวลว่าจะมีการดำเนินการแก้ไขปัญหาพื้นที่เดิมอย่างไร ทั้งในส่วนของอาคารก่อสร้างที่รุกล้ำพื้นที่ป่าดอยสุเทพฯ และเรื่องของการฟื้นฟูพื้นที่ เนื่องจากหากพิจารณาถึงการดำเนินการในโครงการดังกล่าวบริเวณริมดอยสุเทพจะพบว่าใช้เวลาตั้งแต่ ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน หรือกว่า 11 ปี ด้วยเหตุดังกล่าว ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จึงได้สำรวจความคิดเห็นของคนเชียงใหม่ จำนวนทั้งสิ้น 473 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 15 – 22 สิงหาคม 2561 ในหัวข้อ “ความคิดเห็นของคนเชียงใหม่ ต่อกรณีบ้านพักข้าราชการตุลาการในพื้นที่ป่าริมดอยสุเทพ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของ คนเชียงใหม่ ต่อสถานการณ์การก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการ สาเหตุและแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
จากการสอบถามถึงการรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์การก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการในพื้นที่กรมธนารักษ์หรือเดิมเป็นพื้นที่เขตทหาร ที่เรียกกันว่า หมู่บ้านป่าแหว่ง พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 54.24 รับรู้ และเข้าใจสถานการณ์ และผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี รองลงมา ร้อยละ 40.68 รับรู้ แต่ไม่เข้าใจถึงที่มาที่ไป และผลกระทบที่เกิดขึ้น มีเพียงร้อยละ 5.08 ที่ไม่เคยรับรู้เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว
เมื่อสอบถามถึงความคิดเห็นต่อปัญหาการสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการ ริมดอยสุเทพ ที่มีผลต่อจังหวัดเชียงใหม่หรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 79.07 เห็นว่า เป็นปัญหาที่สำคัญ ที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน รองลงมา ร้อยละ 10.99 เห็นว่าไม่เป็นปัญหาเร่งด่วนอะไร ถือเป็นปัญหา ที่เกิดขึ้นได้โดยทั่วไป ร้อยละ 9.09 เห็นว่าไม่เป็นปัญหา เพราะดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย และ ร้อยละ 0.85 เห็นว่าไม่เป็นปัญหา เพราะไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไร โดยเหตุผลของที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน พบว่า อันดับ 1 (ร้อยละ 64.04) เนื่องจากส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการทำลายป่าไม้ และแหล่งน้ำ ทำให้ป่าไม้มีปริมาณลดลง อันดับ 2 (ร้อยละ 17.42) เนื่องจากเป็นเรื่องไม่เหมาะสม ไม่สามารถยอมรับได้ ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชน เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่เกิดขึ้นกับดอยสุเทพสัญลักษณ์สำคัญของจังหวัด อันดับ 3 (ร้อยละ 9.55) เนื่องจากเป็นการใช้อำนาจของรัฐที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อหน่วยงานรัฐ และอันดับ 4 (ร้อยละ 8.99) อาจส่งผลให้เกิดการทำตาม และมีผลเสียอื่นๆ ตามมา เช่นความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน จากการสอบถามถึงความเข้าใจต่อประเด็นปัญหาการสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการในพื้นที่ป่าริมดอยสุเทพ พบว่า อันดับ 1 (ร้อยละ 70.82) เห็นว่าเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม อันดับ 2 (ร้อยละ 67.02) เห็นว่าเป็นปัญหาการใช้อำนาจของรัฐอย่าง ไม่เหมาะสม อันดับ 3 (ร้อยละ 53.28) เห็นว่าเป็นปัญหาการจัดการที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน อันดับ 4 (ร้อยละ 43.76) เห็นว่าเป็นปัญหาเรื่องการสื่อสารระหว่างรัฐกับประชาชน อันดับ 5 (ร้อยละ 38.27) เห็นว่าเป็นปัญหาการตีความเกี่ยวกับข้อกฎหมาย อันดับ 6 (ร้อยละ 29.39) เห็นว่าเป็นปัญหาด้านวัฒนธรรมความเชื่อของประชาชน และอันดับ 7 (ร้อยละ 3.81) เห็นว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำของสิทธิ/ชนชั้นในการเข้าถึงทรัพยากร สำหรับความต้องการในการแก้ไขปัญหาการสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการ ของประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า ร้อยละ 57.17 ต้องการให้ยุติการก่อสร้าง คืนพื้นที่ทั้งหมด และปรับสภาพเป็นป่าเหมือนเดิม รองลงมา ร้อยละ 29.76 ต้องการให้ยุติการก่อสร้าง และรื้อถอนพื้นที่บางส่วน ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 7.07 ต้องการให้ดำเนินการก่อสร้างต่อไป ไม่ต้องรื้อถอน แต่ให้ประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์แทน และ ร้อยละ 6.00 ต้องการให้ดำเนินการก่อสร้างต่อไป และให้ตุลาการศาลไปใช้พื้นที่เหมือนเดิม เพราะดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย

ผลที่ได้จากการสำรวจสะท้อนให้เห็นว่าคนเชียงใหม่ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับสถานการณ์ดังกล่าว รวมถึงต้องการให้คืนพื้นที่ทั้งหมด และปรับสภาพให้เป็นป่าเหมือนเดิม ซึ่งจากสถานการณ์ในปัจจุบันที่มีมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมสัญจร (กบศ.) ได้มอบหมายให้สำนักงานศาลยุติธรรมดำเนินการย้ายพื้นที่การก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 พร้อมที่พักอาศัย ไปจังหวัดเชียงรายแทนพื้นที่เดิม คนเชียงใหม่ก็ยังคงรอคอยการดำเนินการอย่างต่อเนื่องของภาครัฐ ที่จะคืนพื้นที่ป่าดอย สุเทพ และฟื้นฟูให้กลับมาเป็นป่าดังเดิม ซึ่งถือเป็นบททดสอบสำคัญสำหรับรัฐบาล ที่จะทำตามแนวนโยบายการทวงคืนผืนป่า ให้กลับมาได้รับศรัทธาคืนเหมือนดังเดิม

ที่มา : ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์)

ร่วมแสดงความคิดเห็น