วัด”ป่าเป้า-กู่เต้า”เชียงใหม่ ศูนย์รวมศรัทธาชาวไทใหญ่

วัดที่มีความโดดเด่นเป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วไทย และในเชียงใหม่ จนเรียกติดปากกันว่า วัดไทใหญ่ มี 2 แห่ง คือ วัดป่าเป้า และวัดกู่เต้า

สำหรับวัดกู่เต้านั้น อยู่ใกล้ๆสนามกีฬา ทน.เชียงใหม่ เป็นวัดที่มีเจดีย์รูปทรงที่คล้ายผลแตงโม หรือบาตรคว่ำวางซ้อนทับกันเป็นชั้นๆขึ้นไป ซึ่งมีตำนานเล่าว่า เจดีย์นี้เป็นที่บรรจุอัฐิของพระเจ้าอโนรธาเมงสอ ราชโอรสพระเจ้าบุเรงนอง มาครองเชียงใหม่ ช่วง พ.ศ.2122-50
เมื่อสิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2156 พระมหามังชวยเทา พระอนุชาได้จัดถวายเพลิงพระศพ แล้วสร้างเจดีย์กู่เต้าเพื่อบรรจุอัฐิและพระอังคารธาตุ ในบริเวณดงป่าไผ่ จึงได้ชื่อว่าวัดเวฬุวันกู่เต้า หรือ วัดกู่เต้าแต่นั้นมา
พระครูประภัศร์ธรรมรังษี(ครูบาจันต๊ะรังษี)เจ้าอาวาส ได้ถอดแบบพระมหามัยมุนี ที่มัณฑะเลย์ หรือพระ พุทธรูปหน้ายิ้ม ที่โด่งดังของพม่า มาสร้างเป็นองค์พระประธาน ประดิษฐานในพระวิหารที่ อลังการงานสร้าง กับประติมากรรมแบบไทใหญ่ ผสมผสานศิลปะร่วมสมัยล้านนามูลค่าไม่น้อย
ส่วนวัดป่าเป้า ซึ่งเป็นวัดอยู่ชิดติดริมถนนมณีนพรัตน์ ร่ำลือกันมากกับประเพณีงานปอยส่างลอง ที่เริ่มจัดเมื่อ พ.ศ.2537 งานประเพณีปีใหม่ของชาวไทใหญ่ ช่วง 26 – 27 พ.ค.ทุกๆปี เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก โดยภายในงานจะมีการจำลองวัฒนธรรมไทใหญ่ในรูปแบบต่างๆ เช่น การแต่งกาย การฟ้อนดาบ ฟ้อนโต ฟ้อนกิ่งกะหล่า การสาธิตการทำอาหาร เป็นต้น

ปกติที่วัดแห่งนี้ มีกิจกรรมงานบุญไม่ขาดทุกเดือน ทั้งนี้วัฒนธรรมชาวไทใหญ่ นั้นจะ ศรัทธา และมีความเชื่อในวิถีแห่งบุญมาก หากศึกษา ประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ อย่าง เข้าถึง เข้าใจ จะพบว่าคนเมืองในปัจจุบัน ที่เรียกกันว่าคนเชียงใหม่ คนล้านนา คนที่นั่น ที่นี่ รวมถึงพวกแม้ว พวกดอย คนลาว ชาวไทใหญ่
ตั้งแต่สมัย บ้านเมืองถูกทิ้งร้าง จนพระเจ้ากาวิละ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ พ.ศ.2325 และได้รับความร่วมมือจากน้องๆ ยกพลจากลำปางมาตั้งมั่นที่เวียงป่าซาง กว่า 14 ปี โดยมีเป้าหมายรวบรวมผู้คนจากเมืองต่างๆ มาไว้ที่เชียงใหม่ เช่นจากเมืองยอง เมืองวะ เชียงตุง เมืองขอน เมืองยู้ เมืองสิบสองปันนา และเมืองหัวเมืองทางฝั่งแม่นํ้าคง(แม่นํ้าสาละวิน) เช่น เมืองยวม เมืองแหง เมืองต้าฝั่ง

ผู้คนที่มีฝีมือก็ให้อยู่เป็นชุมชนรอบนอกกำแพงเมือง ครั้งนั้นไม่มีชาวไทใหญ่ เพราะคนกลุ่มนี้จะเดินทางไปมาระหว่างถิ่นฐานที่อยู่ในสหราชอาณาจักรไต (มาวหลวง) ติดต่อทำการค้าระหว่างเชียงใหม่ กับเมืองต่างๆ
อย่าลืมว่าช่วงสร้างบ้าน สร้างเมืองนั้น กลุ่มไทใหญ่ ยังมีระบบเจ้าฟ้า ราชสำนัก ในขณะที่เชียงใหม่ ยังอยู่ระหว่างล้านนาสู่สยาม ซึ่งการเข้ามาของคนไทใหญ่กลุ่มแรกๆ จะปักหลักยึดหัวหาดย่านช้างเผือก

ต่อมาในสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่ องค์ที่ 7 (พ.ศ.2416-2439) กองทัพเชียงใหม่ได้ยกกำลังไปกวาดต้อนผู้คนชาวไตหรือไทใหญ่ ที่อาศัยอยู่บริเวณฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าสาละวิน แถบบ้านแม่คะตวน จนเกิดตำ นาน หม่อมบัวไหล นางสนมของเจ้าหลวงเชียงใหม่ องค์ที่ 7 ซึ่งมีส่วนบูรณะ สร้างวัดป่าเป้า เพราะศรัทธาในคุณแผ่นดิน ที่ครอบครัวหม่อมซึ่งเป็นไทใหญ่ ได้มาอาศัยใบบุญนครเชียงใหม่
ประวัติศาสตร์ ยังมีบันทึกบอกเล่าถึงการที่เชียงใหม่ ยกกองทัพไปจับคนในบังคับของอังกฤษ ที่เป็นผู้หญิงเอามาแบ่งปันกันในหมู่เจ้านาย จนรัฐบาลสยามขณะนั้นแก้ปัญหา ด้วยการทำสนธิสัญญากับรัฐบาลอังกฤษ เรียกว่าสนธิสัญญาเชียงใหม่ ราวๆปี 2416 ความผันแปร ในชนชาติที่ปลดแอก แยกจากการเป็นเมืองขึ้นอังกฤษ ทำให้รัฐฉาน หรือแม้ แต่สหราชอาณาจักรไต เกิดปมปัญหาบางด้าน คนเมืองอาจจะโชคดี ที่บรรพบุรุษได้กำหนด ให้ก้าวมาอยู่ใต้ร่มความอยู่เย็น เป็นสุขจาก 3 เสาหลัก อันกอร์ปด้วย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ในขณะที่ คนไตหรือไทใหญ่ บรรพบุรุษ อาจผิดพลาด เพราะ เชื่อในคำมั่นสัญญา “ปางโหลง”

คงเป็นการยากที่จะอธิบายและตอบคำถามว่า ทำไมคนไต คนไทใหญ่ จึงยึดมั่นในวิถีแห่งบุญ มองวัด เป็นมากกว่าวัด ทั้งที่ให้โอกาสเริ่มต้น ที่อยู่ ที่เรียน ที่พบปะ ผู้คนที่คุ้นเคยในชนชาติเดียวกับ เชื่อมั่นว่า ทุกคนมีคำตอบ ชาวไทใหญ่หลายๆคนเล่าว่า “ศาสนาช่วยสร้างฝันสู่สวรรค์ มีบุญเบิกฟ้า ชาติไตดั่งคนเมืองอื่นๆในภายภาคหน้า ด้วยแรงศรัทธา เท่านั้น “

ร่วมแสดงความคิดเห็น