“วัดเสาหิน” วัดโบราณในเวียงกุมกาม

ชื่อของวัดเสาหิน อาจฟังดูไม่คุ้นชื่อนัก แต่ถ้ากล่าวถึงความสำคัญของวัดนี้ ถือได้ว่าเป็นวัดโบราณเก่าแก่ที่สร้างมาตั้งแต่ร่วมสมัยเวียงกุมกาม ระหว่าง ปี พ.ศ.1827 – 2101 วัดเสาหิน เป็นวัดสำคัญของเวียงกุมกาม ปัจจุบันปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีให้เห็นได้แก่ ตัววิหาร เจดีย์ประธาน หอไตรและวิหารเสาหินจำลอง วิหารวัดเสาหินสร้างขึ้นในสมัยใด ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด
วิหารหลังนี้เป็นอาคารทรงล้านนาขนาดย่อม มีข้อพิเศษที่นอกจากหันหน้าไปในทิศที่ยังหาความหมายไม่ได้คือ หันหน้าไปทางทิศเหนือค่อนมาทางทิศตะวันออกแล้ว ส่วนฐานของวิหารจะยกพื้นสูงเพื่อป้องกันน้ำท่วม ตัวบันไดสร้างเป็นรูปนกหัสดีลิงค์ที่มีหงอนคล้ายนาค ซึ่งเป็นสัตว์ในชาดกของพุทธศาสนาที่ใช้เป็นพาหนะขึ้นสู่สวรรค์

นักโบราณคดีต่างกล่าวกันว่า บันไดแบบนี้ไม่เป็นที่นิยมนำมาก่อสร้างเป็นบันไดในทางพุทธศาสนา โดยตั้งข้อสังเกตว่าช่างในสมัยนั้นมีอิสระทางความคิด มีการออกแบบที่แตกต่างจากความเชื่อหลักของชาวล้านนาที่ส่วนใหญ่นิยมทำเป็นรูปนาค หรือ ตัวหางวัน ทั้งนี้อาจต้องการให้หมายถึง การที่คนได้เข้ามาในวิหารหลังนี้ก็เหมือนกับการได้เดินทางไปสู่แดนพุทธภูมิ
นอกจากนั้นโครงสร้างส่วนฐานของวิหารจะก่ออิฐถือปูน ย่อส่วนลักษณะทรงสำเปาคำ (สำเภา) คือส่วนกลางใหญ่ ส่วนหัวและท้ายเล็กดูคล้ายเรือสำเภา เสาและโครงสร้างหลังคาทำด้วยไม้เนื้อแข็งทั้งหลัง มุงด้วยกระเบื้องดินขอ ป้านลมทำด้วยไม้แกะสลักเป็นรูปพญานาคติดกระจกสี ช่อฟ้าไม้ติดกระจก บริเวณโครงสร้างของหน้าแหนบทำแบบม้าตั่งไหม ตกแต่งลายไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจกด้วยลวดลายประจำยาม ฐานชุกชีมีลักษณะเด่นสร้างเป็น 4 ชั้น แต่ละชั้นมีความกว้างและสูงลดหลั่นกันลงมา ประดับด้วยกระจกสีทำเป็นรูปดอกกลมประจำยาม กระจังแทรกด้วยลายก้ามปูขด ถือว่ามีความงดงามตามแบบฉบับของศิลปะล้านนา

ส่วนของฐานชุกชีนี้ ตามความเชื่อของคนโบราณที่เล่าสืบต่อกันมาว่ามีเสาหินอยู่ใต้ฐานชุกชีนี้ ความเชื่อเชื่อเสาหินนั้นมีคติเดียวกับเสาอินทขิล ซึ่งเป็นเสาหินที่พระอินทร์ประทานลงมาเพื่อให้เกิดความสงบสุขในบ้านเมือง ภายในผนังวิหารยังเขียนภาพจิตรกรรมเรื่องพระเวสสันดร 13 กัณฑ์ ลักษณะฝีมือของช่างภาคกลาง สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ.2412 ปรากฏเป็นรูปปราสาทราชวัง ประตูและกำแพงเมือง นอกจากนั้นในภาพเขียนยังปรากฏภาพของชาวยุโรปต่างชาติเป็นทหาร หรือ ขุนนางนุ่งโจงกระเบน สอดแทรกด้วยภาพผู้หญิงชาวล้านนานุ่งผ้าถุงไม่สวมเสื้อคล้องผ้าปิดส่วนสงวนถือไม้คานหามเปี๊ยด
วิหารวัดเสาหิน หลังนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯและพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ฯ ได้เสด็จมาทอดพระเนตรภาพจิตรกรรมและทรงให้อนุรักษ์ภาพจิตรกรรมนี้ไว้เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลศึกษาค้นคว้า ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปประธานจำนวน 11 องค์ เหนือเพดานบนแท่นพระประธานมีภาพเขียนลายทองล่องชาดเป็นรูปนกอินทรีย์ นอกจากนั้นในวัดยังมีโบราณสถานที่สำคัญได้แก่ เจดีย์ประธานทรงระฆังฐาน ย่อมุมขนาดใหญ่ซ้อนกัน 4 ชั้นมีซุ้มพระประธาน

ด้านทิศเหนือ 1 ซุ้ม บนฐานเจดีย์ชั้นบนมีรูปปั้นนรสิงห์ประจำ 4 มุม ส่วนฐานชั้นแรกมีรูปสิงห์จำนวน 4 ตัวอยู่บริเวณมุมฐานเจดีย์ และมีกำแพงแก้วรอบอีกชั้นหนึ่งตามความเชื่อของชาวบ้าน เชื่อว่าเจดีย์องค์นี้สร้างขึ้นครอบเจดีย์องค์เดิมที่มีขนาดเล็กกว่า ภายในวัดยังมีอุโบสถที่พญาสามฝั่งแกน เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ได้สร้างไว้มีฐานประทักษิณสูงลักษณะทรงล้านนา โครงสร้างก่ออิฐถือปูนหลังคาเป็นไม้เนื้อแข็ง หลังคามุงกระเบื้องดินขอ ถือได้ว่าเป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญของเมืองเชียงใหม่อีกแห่งหนึ่ง
นอกจากนั้นยังมีวิหารเสาหินจำลอง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของวัดและเป็นที่สักการะบูชาตามคติความเชื่อโบราณว่า เสาหินเดิมอยู่ใต้ฐานประธานในวิหารทำให้บ้านเมืองล่มสลาย เมื่อใดมีเสาหินปรากฏในบริเวณวัดนี้ เมืองที่ล่มสลายไปจะกับฟื้นขึ้นมามีความเจริญรุ่งเรือง

อีกครั้ง วิหารเสาหินจำลองนี้สร้างเป็นอาคารชั้นเดียวทรงจตุรมุขหลังคาซ้อน 3 ชั้น ประดิษฐานเสาหินที่ทำด้วยหินทรายขาว ขนาดกว้าง 12 นิ้ว สูง 1.99 เมตร บริเวณรอบ ๆ เสาหินมีพระพุทธรูปที่ทำจากหินทรายขาวขนาดเล็กจำนวน 8 องค์ วัดเสาหินจึงนับว่า เป็นวัดโบราณอีกวัดหนึ่งของเชียงใหม่ที่สร้างมาร่วมสมัยกับเวียงกุมกาม ปรากฏหลักฐานมาจนถึงปัจจุบัน หากจะนับอายุน่าจะประมาณ 700 กว่าปี

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น