ขัวเหล็กเชียงใหม่

คนต่างถิ่นทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ที่เดินทางมาเยือนเมืองเชียงใหม่ คงไม่มีใครไม่รู้จักชื่อของสะพานนวรัฐ เพราะถือว่าเป็นสะพานสำคัญ ในการข้ามแม่น้ำปิงระหว่างฝั่งตะวันออกไปฝั่งตะวันตก หากแหล่งท่องเที่ยวในเชียงใหม่ที่ขึ้นชื่อ นอกจากวัดพระธาตุดอยสุเทพ วัดพระสิงห์ ไนท์บาร์ซ่าและประตูท่าแพแล้ว ชื่อของสะพานนวรัฐก็รวมอยู่ในสิ่งที่นักท่องเที่ยวรู้จัก ในฐานะของสะพานข้ามแม่น้ำปิงที่ใช้เป็นสถานที่จัดงานมหกรรมไม้ดอก-ไม้ประดับ อันเลื่องชื่อระบือไกลสะพานนวรัฐ ที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นเจอเนอเรชั่นที่ 3 หรือพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ว่าสร้างขึ้นมาถึง 3 ยุคแล้ว สะพานนวรัฐอันแรกนั้น สร้างขึ้นมาในสมัยที่เมืองเชียงใหม่ ยังใช้การคมนาคมทางน้ำ โดยอาศัยเรือหางแมงป่องบรรทุกสินค้าและคนโดยสารติดต่อธุรกิจและการค้าขาย กับหัวเมืองทางภาคกลาง รวมถึง กทม. เมื่อยังไม่มีถนนหนทางติดต่อระหว่างเมืองใหญ่ ๆ และยังไม่ได้สร้างทางรถไฟขึ้นมาถึงภาคเหนือ เพราะเรือหางแมงป่องนี้ สามารถบรรทุกสินค้าได้มากกว่าการขนส่งทางบก ซึ่งอาศัยวัวต่าง ม้าต่างบรรทุกของ

สะพานอันแรกสร้างขึ้นด้วยไม้สักล้วน (ประมาณปี 2440 – 2450) เป็นสะพานแบบคานยื่น วิศวกรชาวอิตาเลียนชื่อ เคานต์ โรเบอร์ตี้ เป็นผู้ออกแบบและก่อสร้าง สร้างบนตอม่อไม้สัก 6 ตอม่อด้วยกัน โครงส่วนบนสร้างด้วยไม้สักล้วนทำเป็นรูปโค้งครึ่งวงกลมมีอยู่ 5 ช่วง เคานต์ โรเบอร์ตี้ ผู้นี้ยังเป็นผู้สร้างสะพานข้ามแม่น้ำวัง ที่ จ.ลำปาง ก่อนที่จะสร้างสะพานรัชฎาภิเษกขึ้นมาอีกด้วย
สะพานนวรัฐอันแรกนี้ ไม่ใช่สะพานข้ามแม่น้ำปิงแห่งแรกของเชียงใหม่ สะพานที่ใช้สำหรับข้ามแม่น้ำปิงอันแรกของเชียงใหม่ คือสะพานข้ามแม่น้ำปิงหน้าวัดเกตุการาม หรือ “ขัวเก่า” สร้างโดย ดร.มาเรียน เอ็ม.ชีค มิชชั่นนารีชาวอเมริกัน ที่เข้ามาเผยแพร่คริสตศาสนาในสมัยของ ดร.แมคกิลวารี มิชชั่นนารีชาวอเมริกันคนแรก ที่มาเชียงใหม่เมื่อกว่า 100 ปีมาแล้ว

ป้าซิวเฮียง โจลานันท์ เกิดเมื่อปี 2459 ซึ่งบ้านของท่านอยู่ร้านวิศาลบรรณาคาร ให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือ “เชียงใหม่สะป๊ะเรื่องตะวา” ของ พ.ต.ท.อนุ เนินหาด เมื่อปี 2542 ว่า “..ทันเห็นขัวเก่าตั้งแต่เด็กแล้ว สะพานนี้เป็นสะพานไม้สักขนาดใหญ่กว้างพอ ๆ กับสะพานนวรัฐ เสาก็เป็นเสาไม้สัก (น่าจะหมายถึงสะพานนวรัฐที่ 1 ซึ่งคาดว่าสร้างขึ้นก่อนปี 2459 ก่อนที่ท่านเกิด)
สะพานนวรัฐแห่งที่ 1 ซึ่งสร้างด้วยไม้สักนี้ถูกไฟไหม้เสียหายบางส่วน ต่อมาในฤดูน้ำหลากถูกซุงไม้สักจำนวนมากกระแทกพังเสียหาย ประกอบกับในช่วงเวลานั้น ได้มีการสร้างทางรถไฟขึ้นมาถึงเชียงใหม่ ทางราชการจึงได้รื้อออกแล้วสร้างเป็นสะพานนวรัฐแห่งที่ 2 ขึ้นมา สะพานนวรัฐแห่งที่ 2 นี้ใช้ชื่อว่า “สะพานนวรัฐ” เพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่สมัยนั้น สะพานแห่งนี้เป็นสะพานโครงเหล็ก สร้างบนตอม่อคอนกรีตเสริมเหล็ก ส่วนบนเป็นโครงเหล็กล้วนมี 5 ช่วง สร้างโดย มาควิส กัมเบียโซ่ วิศวกรชาวอิตาเลียน โดยโครงเหล็กทั้งหมดส่งมาจากบริษัทคลิฟแลนด์ ประเทศอังกฤษ

ในยุคที่สร้างสะพานนวรัฐแห่งที่ 2 หรือ “ขัวเหล็ก” ได้มีการสร้างทางรถไฟมาถึงเชียงใหม่แล้ว สะพานแห่งนี้รับใช้ชาวเชียงใหม่ได้หลายสิบปี เมื่อชียงใหม่มีความเจริญขึ้น ยวดยานพาหนะก็มีจำนวนมากขึ้นด้วย สะพานซึ่งสร้างมานานเริ่มมีความคับแคบ ไม่เหมาะสมกับสภาพการจราจรในสมัยนั้น ทางการจึงได้รื้อ “ขัวเหล็ก” ออกแล้วสร้างสะพานนวรัฐแห่งที่ 3 ขึ้นซึ่งเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กที่ใช้กันในปัจจุบัน

สะพานนวรัฐ แม้ว่าจะผ่านวันเวลามายาวนานกว่า 100 ปี แต่ด้วยคุณค่าของสะพานที่ใช้เป็นทางสัญจรของชาวเชียง ใหม่ระหว่างฝั่งตะวันออกไปฝั่งตะวันตกของเมือง อีกทั้งยังเป็นสะพานประวัติศาสตร์ ที่อยู่คู่เมืองเชียงใหม่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ชื่อของ “สะพานนวรัฐ” จึงอยู่ในความทรงจำของคนทุกวัยในแต่ละยุคสมัย

ร่วมแสดงความคิดเห็น