อุทยานแห่งชาติศรีลานนา ต้นน้ำสำคัญที่ชุบเลี้ยงเมืองเชียงใหม่

อุทยานแห่งชาติศรีลานนา มีพื้นที่รับผิดชอบ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่แตง อำเภอเชียงดาว อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วยสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์และเป็นป่าต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำปิงตอนบน มีสัตว์ป่า นานาชนิด และจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตกม่อนหินไหล อ่างเก็บน้ำของเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เป็นอุทยานแห่งชาติ 1 ในจำนวน 5 แห่ง ของโครงการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ เพื่อการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ วันที่ 5 ธันวาคม 2530 มีเนื้อที่ประมาณ 878,750 ไร่ หรือ 1,406 ตารางกิโลเมตร 
เดิมบริเวณที่ดินป่าเชียงดาว ป่าแม่งัด และป่าแม่แตง จัดเป็นป่าต้นน้ำลำธารชั้น 1 ตามมติคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 14 มกราคม 2518 และเป็นป่าปิดตามมติคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 9 มกราคม 2522 ในเดือนมีนาคม 2524 กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้มีคำสั่งที่ 280/2524 ลงวันที่ 6 มีนาคม 2524 ให้นายสันติ สีกุหลาบ นักวิชาการป่าไม้ 4 ออกไปสำรวจและเก็บข้อมูลพื้นที่ป่าบริเวณดอยเวียงผา จังหวัดเชียงใหม่ ตามที่ นายอรุณ สำรวจกิจ มีจดหมายลงวันที่ 14 มกราคม 2524 ถึงอธิบดีกรมป่าไม้  ต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2526 กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้มีคำสั่งที่ 1/2526 ลงวันที่ 3 มกราคม 2526 ให้นายไมตรี อนุกูลเรืองกิจ เจ้าพนักงานป่าไม้ 3 ไปสำรวจหาข้อมูลเพิ่มเติมบริเวณดอยเวียงผา และบริเวณน้ำตกม่อนหินไหล จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งต่อมากองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้มีคำสั่งที่ 293/2528 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2528 ให้นายอรุณ เหลียววนวัฒน์ นักวิชาการป่าไม้ 4 ไปดำเนินการสำรวจและจัดตั้งบริเวณป่าแม่กอง ป่าแม่งัด ป่าเชียงดาว และป่าฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอุทยานแห่งชาติ ผลการสำรวจตามรายงานหนังสือ ที่ กษ 0713(ดก)/1 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2528 ปรากฏว่า พื้นที่การสำรวจทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ป่าแม่แตง (บางส่วน) ป่าแม่งัด (บางส่วน) และป่าเชียงดาว (บางส่วน) มีสภาพป่าและธรรมชาติเหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ  กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ มีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2529 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2529 เห็นชอบให้ดำเนินการจัดตั้งพื้นที่บริเวณป่าเหนืออ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอุทยานแห่งชาติเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนพรรษา 5 รอบ กองอุทยานแห่งชาติ ได้จัดตั้งบริเวณดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยใช้ชื่อว่า “อุทยานแห่งชาติศรีลานนา” และเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2529 ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางตรวจเยี่ยมอุทยานแห่งชาติศรีลานนา จังหวัดเชียงใหม่ เห็นชอบกับโครงการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติดังกล่าว ทั้งได้มีบัญชาและกำชับว่า “ให้ดูแลรักษาป่าให้ดีอย่าปล่อยให้มีการบุกรุกทำลายจนสภาพป่าไม้ธรรมชาติสวยงาม และสิ่งแวดล้อมต้องสูญเสียไป” ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้รับทราบโครงการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติเพื่อเฉลิมพระเกียรติแล้ว ตามหนังสือสำนักเลขาธิการรัฐมนตรี ที่ นร 0202/21487 ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2530
ส่วนอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ดำเนินการออกประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าเชียงดาว ป่าแม่งัด และป่าแม่แตง ในท้องที่ตำบลปิงโค้ง ตำบลเชียงดาว ตำบลแม่นะ อำเภอเชียงดาว ตำบลสันทราย ตำบลป่าไหน่ ตำบลบ้านโป่ง ตำบลน้ำแพร่ ตำบลป่าตุ้ม ตำบลแม่แวน ตำบลแม่ปั๋ง ตำบลโหล่งขอด อำเภอพร้าว ตำบลบ้านเป้า ตำบลช่อแล ตำบลแม่หอพระ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 106 ตอนที่ 120 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2532 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 60 ของประเทศ มีเนื้อที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภาคเหนือ หรือใหญ่เป็นอันดับ 8 ของประเทศ
การเดินทาง
การเดินทางไปอุทยานแห่งชาติศรีลานนา สามารถใช้เส้นทางได้ถึง 4 เส้นทาง คือ
– ทางหลวงหมายเลข 107 สายเชียงใหม่ – ฝาง เลียบแม่น้ำปิงป่าเชียงดาวฝั่งซ้าย แม่น้ำปิงช่วงอำเภอเชียงดาว เป็นถนนลาดยางสภาพดี
– ทางหลวงหมายเลข 1001 สายเชียงใหม่ – พร้าว ผ่านป่าแม่แตง ป่าแม่งัด เป็นถนนลาดยางสภาพดี ตรงกิโลเมตรที่ 79 บ้านประดู่ ตำบลแม่ปั๋ง – อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ มีทางแยกเข้าอ่างเก็บน้ำชลประทานแม่แตงเข้าสู่บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติและน้ำตกม่อนหินไหลได้
– ทางหลวงหมายเลข 1150 สายปิงโค้ง เชียงดาว – พร้าว เป็นทางหลวงสายที่แยกจากทางหลวงหมายเลข 107 ผ่านป่าเชียงดาวตอนบนและป่าแม่งัดตอนบนสภาพถนนเป็นดินลูกรัง
– ทางหลวงหมายเลข 1150 สายเชียงรายผ่านอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านไปยังอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย สภาพถนนลาดยางดีมาก
ขอบคุณที่มา : http://park.dnp.go.th/visitor/nationparkshow.php?PTA_CODE=1060

ร่วมแสดงความคิดเห็น