“เซรามิก” เอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ชุมชนเมืองลำปาง

เครื่องปั้นดินเผาเป็นวัฒนธรรมเชิงหัตถกรรมที่สืบทอดกันมาจากความคิดของบรรพชนที่ทำขึ้น กระทั่งพัฒนาฝีมือเรื่อยมาจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้กันมาจนทุกวันนี้ ประวัติศาสตร์ของการทำเครื่องปั้นดินเผามีมาตั้งแต่อดีตนับร้อยปี ชาวจีนเป็นชนชาติแรกในทวีปเอเชียที่รู้จักการทำเครื่องปั้นดินเผา ในสมัยราชวงศ์ถังและราชวงศ์หมิงถือเป็นยุคทองของเครื่องปั้นดินเผา ขณะที่ในประเทศไทยเครื่องปั้นดินเผาถูกค้นพบมาตั้งแต่สมัยยุคก่อนประวัติศาสตร์กระจัดกระจายยู่ทั่วไปตามแหล่งชุมชนโบราณ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังได้แก่เครื่องปั้นดินเผาที่บ้านเชียง เครื่องถ้วยชามสังคโลกซึ่งถือได้ว่าเป็นเครื่องปั้นดินเผาสมัยสุโขทัยที่มีเทคนิคในการผลิตระดับสูงและมีความคลาสสิก นอกจากนั้นในบริเวณภาคเหนือยังพบแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่สำคัญได้แก่ บริเวณห้วยแม่ต๋ำ จังหวัดพะเยา เตาสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เตาเวียงกาหลง จังหวัดเชียงราย เตาวังเหนือและทุ่งเตาไห จังหวัดลำปาง
การทำเครื่องปั้นดินเผาของลำปาง เริ่มต้นผลิตในลักษณะอุตสาหกรรมอย่างจริงจังในปี 2503 โดยมีชาวจีนสองคนคือ นายซิวกิม แซ่กวอกและนายซิมหยู แซ่ฉิน ได้ร่วมกันตั้งโรงงานทำถ้วยตราไก่แบบพื้นเมืองจีนขึ้น ซึ่งนับเป็นโรงงานทำถ้วยตราไก่แห่งแรกของเมืองลำปาง ตามประวัติกล่าวว่า เมื่อครั้งที่คนทั้งสองอยู่ที่เมืองจีนนั้นเคยทำงานในโรงถ้วยชามมาก่อน ซึ่งต้องทำงานทุกขั้นตอนตั้งแต่การล้างดิน ปั้นถ้วย เคลือบเขียนลายและนำเข้าเตาเผา กระทั่งเมื่อทั้งสองได้เดินทางมาอยู่ในประเทศไทยก็ได้เข้าทำงานที่โรงงานเครื่องปั้นดินเผาที่จังหวัดเชียงใหม่ เดิมโรงงานแห่งนี้ทำเฉพาะโอ่ง กระถางปลูกต้นไม้ กระถางแช่ข้าวเหนียว ต่อมาเจ้าของโรงงานต้องการทำถ้วยชามแบบเมืองจีนเพราะขณะนั้นประเทศจีนปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ถ้วยชามจากเมืองที่นำเข้ามาในประเทศไทยมีอยู่ไม่มากนักและมีราคาแพง
นายซิวกิมและนายซิมหยูจึงสมัครเข้าทำงาน ทั้งสองคนพยายามเสาะหาดินขาวแบบเมืองจีนจากที่ต่าง ๆ มาทดลองทำถ้วยชาม จนครั้งหนึ่งได้สังเกตเห็นหินลับมีดจากลำปางที่ส่งไปขายที่เชียงใหม่มีเนื้อดินขาวละเอียด คล้ายกับดินขาวจากเมืองจีน ทั้งสองจึงเกิดความคิดที่จะไป ค้นหาดูว่ามีดินขาวชนิดนี้อยู่มากน้อยเพียงใด เมื่อได้ดินขาวแล้วก็นำไปพิสูจน์ที่โรงงานเครื่องปั้นดินเผาย่านกล้วยน้ำไทจนรู้แน่ว่าเป็นดินขาวที่ใช้ทำถ้วยชามแน่นอนแล้วก็กลับมาทดลองทำถ้วยชามดูก็ได้ผลตามที่ต้องการจึงคิดที่จะตั้วโรงงานทำเครื่องปั้นดินเผา แต่ขณะนั้นทั้งสองคนยังไม่มีเงินทุนจึงได้กลับไปทำงานที่เชียงใหม่ต่อ โดยนายซิวกิมเปิดร้านตัดเย็บเสื้อผ้า ส่วนนายซิมหยูปลูกผักขายใช้เวลาในการสะสมเงินอยู่ถึง 7 ปีจึงได้กลับมาเปิดโรงงานทำถ้วยตราไก่ขึ้นที่ลำปางใช้ชื่อว่า โรงงานถ้วยชามสามัคคี
การทำเครื่องปั้นดินเผาของโรงงานถ้วยชามสามัคคีในระยะแรกใช้มือทำทุกขั้นตอนเริ่มจากการล้างดิน นวดดิน ขึ้นรูปถ้วย ตกแต่ง ชุบเคลือบ เผา กระทั่งการวาดรูปไก่ด้านข้างถ้วย ถึงแม้ว่าทั้งสองจะตั้งโรงงานได้สำเร็จตามความตั้งใจ ทว่าพวกเขาก็มิอาจหยุดคิดค้นรูปแบบต่างของถ้วยชามเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้วยการทดลองทำน้ำเคลือบจากการบดขี้เถ้าแกลบและน้ำเคลือบให้ละเอีบดด้วยครกกระเดื่องที่ใช้แรงคน ทดลองนำหินสีขาวที่ใช้สร้างทางรถไฟและหินปูหมอนทางรถไฟซึ่งมีลักษณะคล้ายกับหินที่ใช้ทำน้ำเคลือบในเมืองจีนมาทำน้ำเคลือบแทนขี้เถ้าแกลบและได้สืบเสาะหาแหล่งหินจนพบที่จังหวัดตาก นับว่าก้าวสำคัญของการพัฒนาการผลิตเครื่องปั้นดินเผาเกิดจากภูมิปัญญาที่เป็นผลมาจากการสังเกต การคิดและการทดลอง
ต่อมาในปี 2506 – 2509 เป็นช่วงที่มีการพัฒนาเครื่องมือขึ้นมาใช้แทนแรงงานคน เครื่องเหล่านี้ใช้แรงหมุนจากมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นหลัก อาทิ เครื่องกวนดิน เครื่องบดดิน เครื่องผสมน้ำเคลือบ ฯลฯ ซึ่งโรงกลึงในจังหวัดลำปางเป็นผู้ทำเครื่องมือเหล่านั้นขึ้นแล้วจำหน่ายให้แก่โรงงานเครื่องปั้นดินเผาในจังหวัดลำปาง ซึ่งผลจากการพัฒนาเครื่องมือนี้ขึ้นทำให้เกิดโรงงานผลิตถ้วยชามเพิ่มมากขึ้น และลักษณะการผลิตในระยะนี้จะมีกลุ่มคนงานเข้ามารับจ้างเหมาค่าจ้างการผลิตในแต่ละขั้นตอน เจ้าของโรงงานมีหน้าที่เพียงบริการจัดการทั่วไป และมีบทบาทสำคัญเพียงการควบคุมการผลิตเท่านั้น
ปี 2521 เป็นต้นมารัฐบาลได้ประกาศห้ามนำเข้าผลิตถ้วยชามเซรามิกจากต่างประเทศ จึงมีผู้สนใจตั้งโรงงานผลิตเครื่องเคลือบลายตามรูปแบบต่าง ๆ เป็นการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่โดยใช้เตาเผาแก๊ส มีการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัยใช้เทคนิคงานหล่อแบบปูนปาสเตอร์ที่สามารถทำให้ผลผลิตมีปริมาณมากขึ้น มีการพัฒนาวัตถุดิบคือดินขาวและน้ำเคลือบให้มีมาตราฐาน ทำให้สินค้ามีคุณภาพและสามารถส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้
ปัจจุบันมีโรงงานทำเครื่องปั้นดินเผาในจังหวัดลำปางกว่า 150 โรงเป็นโรงงานขนาดใหญ่และขนาดกลางที่ใช้เทคนิคสมัยใหม่ซึ่งประมาณการว่าใช้เงินลงทุนหมุนเวียนของท้องถิ่นในการผลิตเครื่องปั้นดินเผาไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาทต่อปี แต่ด้วยความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และสินค้าที่ผลิตขึ้นคนทั่วไปจึงนิยมเรียกเครื่องปั้นดินเผาเหล่านี้ว่า “ผลิตภัณฑ์เซรามิกลำปาง”
ผลิตภัณฑ์เซรามิกลำปาง ได้มีการพัฒนารูปแบบการผลิตโดยทำขึ้นตามลักษณะของการใช้งาน เช่น ของชำร่วย ของที่ระลึก ของตั้งโชว์ ของใช้บนโต๊ะอาหาร ได้แก่ ถ้วยโถโอชาม ถ้วยกาแฟ แจกัน เป็นต้น นอกจากนั้นยังผลิตเป็นเครื่องวัสดุภัณฑ์ต่าง ๆ ได้แก่ เครื่องสุขภัณฑ์ กระเบื้องปูพื้น ฯลฯ ผลิตภัณฑ์เซรามิกของจังหวัดลำปางเริ่มจากการทำเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนจำหน่ายในท้องถิ่น ต่อมาได้พัฒนารูปแบบการผลิตลวดลายและสีสันสวยงาม จนทำให้ผลิตภัณฑ์เซรามิกจากลำปางกลายเป็นสินค้าที่ต้องการของคนทั่วไป
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น