สักการะพระธาตุจอมปิง ชมภาพเงาสะท้อนผ่านรูเข็ม

ใครที่มีโอกาสเดินทางไปจังหวัดลำปางต้องแวะไปวัดพระธาตุลำปางหลวง วัดที่สวยงามที่สุดแห่งล้านนา พระเจดีย์ ,วิหารหลวงแบบเปิดโล่ง, ซุ้มประตูโขง, บันไดพญานาคทางขึ้นวัด, ซุ้มพระเจ้าล้านทอง พระประธานในพระวิหารหลวง รวมทั้งบรรดาศิลปวัตถุตกแต่งภายในวัดล้วนแล้วแต่เป็นศิลปกรรมชิ้นเอกที่เมื่อมารวมกันอยู่ภายในวัดแห่งนี้ทำให้ดูมีพลังและจิตวิญญาณอย่างไม่ต้องหาคำอธิบายใดๆมาเปรียบเปรย

วัดพระธาตุลำปางหลวงเป็นปูชนีย์ที่สำคัญของจังหวัดลำปางเป็นเสมือนศูนย์รวมของชุมชนที่สำคัญแห่งหนึ่ง จนวัดพระธาตุลำปางหลวงได้ชื่อว่าเป็นวัดที่สวยงามที่สุดของล้านนา ภายในวัดพระธาตุลำปางหลวงมีความงดงามอลังการของสถาปัตยกรรมล้านนา ตั้งแต่
พระเจดีย์ พระวิหาร ซุ้มประตูโขง จนถึงซุ้มพระเจ้าล้านนา ซึ่งเป็นพระประธานในวิหารหลวง ล้วนแล้วแต่สะท้อนถึงความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาและศิลปกรรมในล้านนาสมัยนั้นเป็นอย่างดี

ทว่าไม่ไกลจากวัดพระธาตุลำปางหลวง ไปทางทิศใต้ประมาณ 10 กิโลเมตรมีเจดีย์โบราณที่สร้างขึ้นในยุคสมัยของพระนางจามเทวีและมีความสำคัญต่อจิตวิญญาณของชาวเขลางค์นครเหมือนกันนั่นก็คือ เจดีย์พระธาตุจอมปิง ตามประวัติกล่าวว่า เมื่อครั้งที่พระนางจามเทวีเสด็จมาสร้างวัดพระธาตุลำปางหลวงแล้วพระองค์ก็ได้เสด็จมาสร้างวัดพระธาตุจอมปิง ต่อมาวัดแห่งนี้ถูกทิ้งให้รกร้าง กระทั่งท่านนันทปัญญาซึ่งเป็นพี่เลี้ยงของพระเจ้าลกคำ (พระเจ้าติโลกราช เมืองเชียงใหม่) ได้มาทำการบูรณะ ซึ่งในอดีตชุมชนแห่งนี้มีชื่อเรียกว่า เมืองจุมภิตาราม ท่านนันทปัญญามีเพื่อนชื่ออ้ายจอมแพร่ ทั้งสองได้สร้างวัดขึ้นคนละวัด วัดที่อ้ายจอมแพร่สร้างคือวัดจอมปิงลุ่ม ส่วนวัดที่ท่านนันทปัญญาสร้างชื่อวัดจอมพี่เลี้ยง (วัดพระธาตุจอมปิงในปัจจุบัน)

ถึง พ.ศ.2000 ได้เกิดศึกพระยาใต้ (สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยา) ยกทัพมาประชิดเมืองลำปาง เจ้าหมื่นด้งนครไม่อยู่ เหลือแต่พระนางราชเทวีที่กำลังตั้งครรภ์ จึงได้ปลอมตัวเป็นผู้ชายออกไปสู้รบจนกองทัพของพระยาใต้พ่ายไป เมื่อเจ้าหมื่นด้งนครและ
เจ้าติโลกราชทราบก็ยกกองทัพจากเมืองเชียงใหม่มาช่วย หลังจากที่เสร็จสงคราม ชาวเมืองจุมภิตารามก็ได้ร่วมฉลองชัยชนะที่บริเวณวัดแห่งนี้ พระนางราชเทวีจึงได้สร้างเจดีย์ไว้องค์หนึ่งและได้เรียกชื่อวัดแห่งนี้เสียใหม่ว่า “วัดจอมพิงค์ชัยมงคล” ต่อมาเพี้ยนมาเป็น “วัดจอมปิง” ในปัจจุบัน

วัดพระธาตุจอมปิงมีปูชนียสถานที่สำคัญคือ พระบรมธาตุ เป็นเจดีย์ทรงล้านนา สูง 34 เมตร กว้าง 17 เมตร ครั้งหนึ่งเจดีย์องค์นี้เคยถูกฟ้าผ่าเมื่อปี พ.ศ.2500 ตามตำนานพื้นเมืองกล่าวว่าภายในเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้านหน้าองค์เจดีย์เป็นพระวิหารหลวง ครูบาศรีวิชัยเคยมาบูรณะเมื่อปี พ.ศ.2470 ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยสูง 7 เมตร นอกจากนั้นยังมีธรรมาสน์โบราณ ภาพพุทธประวัติ ด้านนอกมีรูปปั้นยักษ์ เสือ ช้าง พญานาค อยู่ตามซุ้มประตูทางเข้า

ข้างพระวิหารหลวงเป็นพระอุโบสถ ซึ่งได้รับการบูรณะขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ.2501 ภายในมีพระพุทธรูป ตู้ใส่พระธรรมโบราณ เมื่อนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาวัดพระธาตุจอมปิง มักไม่พลาดที่จะเข้าไปชมเงาของพระธาตุจอมปิง ซึ่งเป็นภาพสะท้อนสีธรรมชาติผ่านรูเล็กๆที่หน้าต่างมาตกกระทบพื้นพระอุโบสถ นับเป็นสิ่งมหัศจรรย์ ว่ากันว่าในลำปางมีวัดที่สามารถมองเห็นเงาพระธาตุได้อย่างชัดเจนมีอยู่เพียง 2 วัดคือ ที่วัดพระธาตุลำปางหลวงกับวัดพระธาตุจอมปิงแห่งนี้

ภายในวัดพระธาตุจอมปิงยังมีพิพิธภัณฑ์ที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุต่างๆที่ขุดพบในบริเวณวัด ได้แก่ลูกปัดหิน พระพุทธรูปโบราณ กระพรวนสำริดอายุกว่าพันปีและยังมีสิ่งของมีค่าน่าชมอีก นอกจากนั้นบริเวณด้านหลังของวัดมีศาลเจ้าพ่อม้าขาว ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อครั้งที่เจ้าเมืองได้สร้างเมืองเสร็จต้องการคนเฝ้าบ้านเมือง เลยประกาศออกไปหาคนเฝ้า ต่อมามีชายผู้หนึ่งได้ขี่ม้าขาวเข้ามาอาสาจะเฝ้าเมืองนี้ให้ ทราบชื่อภายหลังว่า หนานกัณทิยะ ซึ่งเป็นพระแล้วสึกออกมา จากนั้นท่านก็ได้ทำพิธีประหารตัวเองด้วยการตัดคอ นำร่างฝังไว้
บริเวณเมืองนี้ ชาวบ้านจึงพากันขนานนามท่านว่า “เจ้าพ่อม้าขาว”

การได้นมัสการองค์พระธาตุจอมปิง จึงเปรียบได้ว่าเป็นการได้เดินทางย้อนรอยประวัติศาสตร์และค้นหาตำนานองค์พระเจดีย์ที่สะท้อนภาพรูเข็มแห่งล้านนา ซึ่งปัจจุบันเหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่ง แม้แต่เชียงใหม่เองในปัจจุบันก็ยังไม่ปรากฏว่ามีเงาพระธาตุหลงเหลือให้เห็นอยู่ในสภาพที่ชัดเจนเท่ากับวัดพระธาตุจอมปิงและวัดพระธาตุลำปางหลวงเลย

บทความโดย
จักรพงษ์  คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น