“ปอยส่างลอ” ทุงจ่ามไต สืบไว้วันต๋าเมอหน้า งานบวชลูกแก้ว ประเพณีของชาวไต

ประเพณีปอยส่างลอง เป็นประเพณีที่สำคัญของชาวไทยใหญ่ ที่ผู้เฒ่าผู้แก่เชื่อกันว่า จะได้บุญกุศลอันใหญ่หลวง เมื่อได้บวชลูกหลาน จึงมีการจัดงานนี้อย่างยิ่งใหญ่ทุกปี ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน

ประวัติความเป็นมาของปอยส่างลอง

ในสมัยพุทธกาล มีพระเจ้าแผ่นดินปกครองเมือง หย่าจะโก่ยว อ่านว่า อย่าจะเกี่ยว (เมืองราชคฤห์) มีพระมเหสีทรงพระนามว่า จิ่นส่านะเต่หวี มีพระโอรสนามว่า เจ๊กต๊ะมังซา มีพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา พระเจ้าแผ่นดินมีความตั้งใจจะให้โอรสของพระองค์ บวชอยู่ในพระบวรพุทธศาสนา ไม่อยากให้โอรสของพระองค์เป็นกษัตริย์ปกครองแผ่นดินเหมือนพระองค์ ดังนั้น พระองค์จึงนำโอรสไปมอบให้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมกับพระพุทธเจ้า เพื่อจะได้ทำพิธีบรรพชาเป็นสามเณรต่อไป ประกอบกับพระโอรสก็มีความตั้งใจจะบรรพชาเป็นสามเณรอยู่แล้ว

ก่อนที่จะถึงกำหนดเวลานำพระโอรสไปทำการบรรพชาเป็นสามเณรในสำนักของพระพุทธเจ้านั้น ก็ได้นำพระโอรสไปแต่งองค์ทรงเครื่องประดับประดาด้วยเครื่องทรงของกษัตริย์ในเวลานั้น ( ที่มาของส่างลอง ) เสร็จแล้วจัดให้มีการแห่แหน จัดงาน มีการเลี้ยงอาหารแก่ข้าราชบริพารและชาวบ้าน เป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน แล้วจึงได้นำไปกระทำพิธีบรรพชา ปอยส่างลองจึงเกิดขึ้นในสมัยพุทธกาลเป็นต้นมา

บันทึกจากหนังสือไทยใหญ่และจากการให้ข้อมูลของแม่เฒ่าเจงหยิ่ง ทิพกนก เมื่ออายุได้ ๘๗ ปี ขณะนี้แม่เฒ่าได้เสียชีวิตแล้ว ซึ่งแม่เฒ่าเจงหยิ่ง เป็นผู้สนใจและคลุกคลีกับปอยส่างลองมาตั้งแต่วัยสาว (นายบุญเลิศ วิรัตนาภรณ์และนายอำไพ จันทรรัตน์ผู้บันทึกข้อมูล)

ถือว่าส่างลองเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ เป็นหน่อพุทธางกุร ขณะเป็นส่างลอง จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษและอย่างใกล้ชิด เป็นส่างลอง จะต้องขี่คอไม่ให้ติดดิน ต้องนั่งอยู่บนพรม มีหมอนอิง จะไปไหนตะแปส่างลองต้องอุ้มไป ดูแลมิให้คลาดสายตา ซึ่งเป็นความเชื่อตามวรรณกรรมไทยใหญ่ในเรื่อง อะหน่าก้าดตะหว่าง ซึ่งกล่าวถึงพระเจ้าอ่าจ่าตะ-ซาดมังจี (พระเจ้าอชาตศรัตรู) หลังจากได้สำนึกผิดในการทำปิตุฆาต โดยหลงผิดไปร่วมกับพวกพระเทวทัต ทำบาปหนักและได้ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ทำอย่างไรจะได้เป็นเหล่ากอของพระพุทธเจ้า คือ เป็นอลองพญา (หน่อพุทธางกุร) พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ต้องนำบุตรชายเข้าบวชในศาสนา ดังนั้น พระเจ้าอ่าจ่าตะซาดมังจี จึงได่นำบุตรชาย คือ เจ้าชายอะจิ๊กต๊ะมังซา (อชิตกุมาร ) พระโอรสของพระองค์เข้าบรรพชาเป็นสามเณร (แต่ไม่ปรากฏว่าได้แต่งองค์ทรงเครื่องเป็นส่างลองหรือไม่) วรรณกรรมฉบับนี้แต่งเมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีเศษ โดยพระอู่ก่าวิจิ่งต่า วัดสบตุ๋ง เมืองตุ๋ง จังหวัดจ้อกแม ประเทศพม่า

ความหมายของคำว่า ปอยส่างลอง

คำว่า ปอยส่างลอง เป็นภาษาไทยใหญ่ เกิดจากการสมาสคำ ๓ คำ คือ
ปอย – ส่าง – ลอง ปอย แปลว่า งาน เช่น ปอยเหลินสิบเอ็ดหรือปอยจ่าตี่ คืองานก่อเจดีย์ทราย เป็นต้น

ส่าง มีผู้ให้ความเห็นหลายท่านว่า อาจสันนิฐานว่าเพี้ยนมาจากคำว่า สาง หรือขุนสาง หมายถึงพระพรหม ในหนังสือของธรรมะชาวไทยใหญ่กล่าวถึงว่า พระคณิตพรหม ได้ถวายจีวรแก่เจ้าชายสิทธัตถะ ณ ริมฝั่งแม่น้ำอโนมา เมื่อคราวที่พระองค์หนีออกบวช

ส่าง อีกความหมายหนึ่ง คำว่า ส่าง มาจากคำว่า เจ้าส่าง เป็นภาษาไทยใหญ่ ใช้เรียกสามเณรว่าเจ้าส่าง เป็นคำสรรพนามของสามเณร

ลอง มาจากคำว่า อลอง หมายถึงพระโพธิสัตว์หรือหน่อพุทธางกุร ผู้ที่เตรียมจะบรรพชาเป็นสามเณร และการเป็นส่างลองนั้น อาจจะเป็นการนำแบบอย่างตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะออกบวช การที่ตะแปส่างลองและพ่อแม่ส่างลองจึงได้ปฏิบัติกับส่างลองเสมือนการปฏิบัติต่อพระมหากษัตริย์ เช่นยกย่องส่างลอง

ปอยส่างลอง ถือเป็นงานบุญประเพณีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจังหวัดแม่ฮ่องสอน หากต้องการมาชมการจัดปอยส่างลองที่ยิ่งใหญ่อลังการ ที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน ก็สามารถมาชมกันได้ในช่วงปลายเดือนมีนาคม – เมษายน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่โรงเรียนปิดภาคเรียนใหญ่ เพราะผู้ที่จะเป็นส่างลอง ๙๐ เปอร์เซ็นต์เป็นเด็กนักเรียนประกอบกับเป็นช่วงที่ว่างเว้นจากงานในไร่นา มีอาหารอุดมสมบูรณ์ ฝนไม่ตก สะดวกในการจัดงาน หรืออีกนัยหนึ่งคือ ตามวรรณกรรมในเรื่อง อ่าหนั่นต่าตองป่าน หรือเรื่องการทูลถามของพระอานนท์ แต่งขึ้นเมื่อประมาณ ๒๐๐ ปีเศษ โดยพระสุหนั่นต่า บ้านกุ๋นอ้อ จังหวัดจ๊อกแม ประเทศพม่า กล่าวถึงเรื่องที่พระอานนท์ทูลถามพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับการเป็นส่างลองว่า มีอานิสสงส์มากน้อยอย่างไร พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า การนำบุตรของตนเองบวช จะได้สวรรค์สมบัติเป็นเวลา ๘ ก่ำผ่า ( กัลป์ ) ถ้ารับเป็นพ่อข่าม แม่ข่าม เอาบุตรคนอื่นบวช จะได้อานิสสงส์ ๔ ก่ำผ่า วรรณกรรมดังกล่าวได้บรรยายเรื่องราวส่างลองไว้ว่า

ในอดีตบรรดากษัตริย์และเศรษฐีคหบดี ได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดปอยส่างลองขึ้น บังเอิญมีบุตรชายของหญิงหม้ายคนหนึ่ง มีรูปร่างอัปลักษณ์ แต่อยากจะบวช และไม่มีทรัพย์สมบัติเพียงพอ ด้วยบุญบารมีและแรงศรัทธาของบุตรชาย ได้บันดาลให้พระอินทร์เกิดเมตตา จึงเสด็จมานำไปพยาบาล ให้อาบน้ำเงิน น้ำทอง ขัดสีฉวีวรรณ ล้างคราบไคลต่าง ๆ จนกลายเป็นกุมารที่มีรูปร่างสวยงาม ขุนสาง (พระพรหม)ได้นำปานกุม (ชฎา)และลอแป (สร้อยสังวาลย์)ให้พร้อมทั้งรับภารการเป็นพ่อข่าม (พ่ออุปถัมภ์) จึงได้รับการยกย่องในช่วงก่อนบรรพชาว่า สางลอง หรือ ส่างลอง จนถึงปัจจุบัน

การเชิญผู้มาร่วมงาน สมัยก่อนยังไม่มีการ์ดเชิญเหมือนปัจจุบัน จะใช้เทียน ๑ เล่ม นำไปให้พร้อมกับบอกว่าใครให้มาบอกให้ไปร่วมงาน ใครเป็นเจ้าปอยโหลง จัดงานวันไหนถึงวันไหน รับส่างลองวันไหน แหล่โคหลู่วันไหน ข่ามส่างหรือบรรพชาสามเณรวันไหน เวลาเท่าไรที่ไหนหรือจะใช้เมี่ยงห่อใหญ่ไปมอบให้ผู้ใหญ่บ้านกำนันห่อเดียวแล้วก็บอกให้ทราบรายละเอียดเหมือนบอกเทียน เมื่อปู่ก้าง(ผู้ใหญ่บ้าน) ปู่เหง (กำนัน)ได้รับห่อเมี่ยงแล้วถึงเวลาเย็นหรือหัวค่ำ ก็จะตีฆ้องให้ลูกบ้านมาประชุม เมื่อมาพร้อมกันแล้วปู่ก้าง ปู่เหงก็จะบอกให้ลูกบ้านทราบว่า ใครเชิญไปร่วมทำบุญปอยส่างลองที่ไหน เมื่อไร โดยขอเชิญทุกครัวเรือนไม่เว้นแม้แต่หลังคาเดียว เรียกว่า “ปั๊ดปื้น” เมื่อลูกบ้านรับทราบแล้วพอถึงวันงานก็จะไปร่วมงาน ซึ่งเป็นวิธีการเชิญผู้ไปร่วมงานแต่เก่าก่อนดั้งเดิม

ในระหว่างการเตรียมงานหรือวันงานผู้เฒ่าผู้แก่ เด็กหนุ่มสาวต่างก็จะมาช่วยเจ้าของบ้านโดยมิได้เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ในตอนกลางคืนก็จะมีการเฮ็ดกวาม (ร้องเพลงพื้นเมืองภาษาไทยใหญ่) มีการตีกลองมองเซิง หรือมองลาวและกลองยาวอย่างสนุกสนานรื่นเริง ก่อนถึงวันงานผู้เป็นส่างลองจะทำการโกนผมโดยก่อนลงมือโกนผม ผู้เป็นพ่อแม่ทำพิธีตัดผมลูกเสียก่อน พอถึงวันเริ่มงาน จะนำเด็กไปขอขมาตามที่ต่างๆ แห่เครื่องไทยทานจากบ้านไปสู่วัดแห่ส่างลองจากบ้าน ไปสู่ที่วัดหรือที่บ้านอีก 1 วัน จึงเสร็จพิธี

ร่วมแสดงความคิดเห็น