“สัญญาปางโหล๋ง” อิสรภาพ-น้ำตา-สัญญาที่ถูกหักหลัง

ประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อร้องหาอิสรภาพของชาวไตในแผ่นดินฉาน เปิดฉากในปีแรกตั้งแต่รัฐฉานครบกำหนดแยกตัวเป็นรัฐอิสระตามสนธิสัญญาปางโหล๋ง ในปี พ.ศ.2501 หลังจากที่พม่าไม่ทำตามข้อตกลง แถมยังส่งกองทัพพม่าเข้ายึดครองแผ่นดินรัฐฉาน เมื่อสัญญาถูกหักหลังชาวไตถูกกดขี่จากทหารพม่าจึงเป็นสาเหตุให้พี่น้องชาวไตต้องจับอาวุธลุกขึ้นต่อสู้เพื่อเรียกร้องข้อตกลงตามสัญญา เหนือสิ่งอื่นใดที่พวกเขาต้องการนั่นคือ ผืนแผ่นดินและอิสรภาพ
27 มกราคม 2490 นายกรัฐมนตรีแอตลีแห่งอังกฤษเชิญนายพลอองซานไปเจรจาหาลู่ทางมอบเอกราชคืนให้พม่า และให้จัดการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนเมษายนปีนั้น ซึ่งเป็นข้อตกลงที่อองซานพอใจมาก 2 สัปดาห์หลังจากที่นายพลอองซานกลับมาจากอังกฤษ อองซานก็ได้เชิญผู้นำชนเผ่าสำคัญในพม่า โดยเฉพาะตัวแทนจากรัฐไทแคว้นฉาน ,กะฉิ่นและเผ่าชินเข้าประชุมครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ที่ “เวียงปางโหล๋ง” ทำให้บรรดาผู้นำชนเผ่าต่างๆพอใจและบรรลุข้อตกลงดังกล่าว โดยให้กลุ่มชนต่างๆอยู่รวมกับพม่าเป็นเวลา 10 ปีก่อนที่จะอนุญาตให้มีการแยกตัวออกไปเป็นรัฐอิสระ ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวเป็นเสมือนแสงสว่างและความหวังของกลุ่มชนเผ่าต่าง ๆ ที่จะได้รับอิสรภาพ

 

มิถุนายน 2490 พรรคสันนิบาตต่อต้านลัทธิฟาสซิสม์เพื่อเสรีชน (AFPFL) ภายใต้การนำของอองซานได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งทั่วไป ครองเก้าอี้ในรัฐสภาถึง 190 ที่นั่งจาก 200 ที่นั่ง อองซานก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างสมภาคภูมิ ก้าวตามรอยพระราชปณิธานของพระเจ้าอนุรุธมหาราช วีรกษัตริย์ของชาวพม่าและรักษาสัจวาจาที่ให้ไว้กับผู้นำชนกลุ่มน้อยที่เวียงปางโหลงทันทีด้วยการร่างรัฐธรรมนูญตอกย้ำคำมั่นสัญญา โดยระบุให้เอกราชกับชนเผ่าต่าง ๆ เมื่ออยู่รวมกันครบ 10 ปีก็สามารถแยกตัวไปตั้งประเทศเป็นอิสระได้ให้เกียรติชนชาติส่วนน้อย ด้วยการเชิญเจ้าฟ้าส่วยใต้ เจ้าฟ้าไทใหญ่ เมืองยองห้วย ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหภาพพม่าเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ ไม่มีช่วงเวลาไหนในประวัติศาสตร์อีกแล้ว ที่โค้งรุ้งแห่งเอกราช อิสรภาพ สันติภาพและความเข้าใจอันดีระหว่างชนเผ่าต่างๆจะเปล่งประกายทาบทาเหนือโค้งฟ้าแห่งดินแดนเจดีย์ทองได้สวยสดงดงามเท่าเวลานี้ แต่…พม่าเหมือนดั่งดินแดนต้องมนต์ดำแห่งคำสาปเป็นนิรันดร์

 

9 กรกฏาคม 2490 ขณะที่กำลังมีการประชุมของคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลชั่วคราวแห่งสหภาพพม่า ชายฉกรรจ์กลุ่มหนึ่งซึ่งมีอาวุธปืน บุกจู่โจมเข้าไปในอาคารรัฐสภา แล้วสาดกระสุนเข้าใส่บุคคลสำคัญในที่ประชุมอย่างบ้าคลั่ง ซึ่งทำให้รัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ถึงแก่ชีวิตทันที 8 นาย ในจำนวนนั้นมีผู้นำคนสำคัญในการต่อสู้เรียกร้องเอกราชจากอังกฤษคือ ท่านนายพลอองซาน รวมอยู่ด้วย บุคคลที่จ้างวานเหล่ามือปืนก็คือ อูซอ อดีตนายกรัฐมนตรีช่วงก่อนที่พม่าจะได้รับเอกราช เขาไม่ใช่ใตรอื่น หากแต่คือหนึ่งในคณะตรีทศมิตร หรือ 30 สหายผู้เคยเคียงบ่าเคียงไหล่กับอองซานในการต่อสู้เรียกร้องเอกราชจากอังกฤษนั่นเอง แต่ครั้นเมื่ออองซานได้รับการยกย่องเชิดชูให้เป็นผู้นำประเทศด้วยวัยเพียง 32 ปี เขาไม่อาจยอมรับ “เด็กเมื่อวานซืน” ในสายตาของเขาได้ จึงประกาศไม่เห็นด้วยกับรายละเอียดในสัญญาปางโหลง ด้วยเหตุผลที่กล่าวร้ายอองซานว่า แปรพักตร์ไปรับใช้ฝ่ายจักรวรรดินิยมอังกฤษเสียแล้ว

 

โทษกรรมของอูซอในครั้งนั้น คือการถูกศาลพิพากษาตัดสินประหารชีวิตในความผิดฐานจ้างวานฆ่า แต่ผลกระทบของคดีมิได้จบลงที่คำตัดสินของศาล หรือการที่อูซอต้องตายตกไปตามกัน หากแต่..การจบชีวิตของอองซานทำให้ประทีปอันเรืองโรจน์ของชาวพม่าดับวูบลง การฆาตกรรมนายพลอองซาน ทำให้พม่าสูญเสียผู้นำที่น่าเชื่อถือและมีประสบการณ์ซึ่งมีอยู่จำนวนน้อยอยู่แล้ว ความวุ่นวายของชนชาติส่วนน้อยที่มีในระยะต่อมา ก็สืบเนื่องมาจากการฆาตกรรมครั้งนั้นนั่นเอง..(หม่องทินอ่อง นักประวัติศาสตร์พม่า)

การอสัญกรรมของนายพลอองซานในครั้งนั้นทำให้การเมืองของพม่าเกิดความวุ่นวาย ขาดผู้นำที่สำคัญ ผู้คนเริ่มออกมาเรียกร้องทวงถามหาสัญญาแห่งอิสรภาพ จนทำให้มีการตั้งคณะทำงานปกครองประเทศเพื่อปราบปรามชนกลุ่มน้อยที่เรียกร้องอิสรภาพในนาม “สภาฟื้นฟูกฏหมายและความเป็นระเบียบเรียบร้อยแห่งชาติ” หรือสลอร์ก (SLORC) โดยมีอูนุ (อดีต 1 ใน 30 สหายกู้ชาติ) ขึ้นมาตำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี บัดนี้ พม่าก็ตกอยู่ในสภาพของสงครามกลางเมือง ! คำมั่นสัญญาที่มีการลงนามกันอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร บัดนี้มีค่าเพียงธุลีดินใต้ฝ่าเท้าของอูนุไปเสียแล้ว โดยยกเหตุผลขึ้นมากล่าวอ้าวว่า “ตามข้อตกลงขั้นแรกที่เวียงปางโหลง ที่อูอองซานได้ตกลงทำสัญญานั้น ชาวไตมีสิทธิ์เต็มที่ที่จะแยกเป็นชาติได้โดยอิสระในปี 2500..แต่เมื่อแยกออกไปแล้วจะกระทบกระเทือนต่อเอกราชและความยิ่งใหญ่ของพม่าเป็นอย่างมาก ในสถานการณ์ปัจจุบันนี้พม่าจะปล่อยให้แยกตัวไปไม่ได้เด็ดขาด ชนชาติไตที่คิดจะแยกตัวไปควรล้มเลิกความคิดได้แล้ว เพราะมันเป็นการผิดกฏหมายใหม่ ซึ่งถือว่าการแยกชาติ
นั้น มีโทษขั้นประหารชีวิตทีเดียว..”
ถ้านับถึงปัจจุบันอาจเป็นเวลาเนิ่นนานมาถึง 72 ปีแล้ว ที่สัญญาปางโหลงได้ถูกเขียนขึ้นอันเป็นคำมั่นสัญญาเพื่อให้ชนกลุ่มต่าง ๆ ในพม่ามีอิสระในการปกครองตนเอง แต่อนิจจา ดินแดนพม่าถูกสาปให้เป็นดินแดนที่ไม่เคยมีความสงบสุขไปเป็นนิรันดร์ แม้ว่าปัจจุบันพม่าได้มีการเลือกตั้งและได้คณะรัฐบาลที่มาจากฟากฝั่งประชน แต่ทว่าเบื้องลึกนั้น คณะนายทหารสลอร์กสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ สัญญาที่เวียงปางโหล๋ง จึงเป็นเพียงคำสัญญาที่ถูกหักหลัง

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น