รำลึกอดีตบนเวทีนางสาวไทยกับ “นวลสวาท ลังกาพินธุ์”

ผมจำได้ว่าครั้งหนึ่งเคยนั่งพูดคุยกับคุณนวลสวาท ลังกาพินธุ์ หรือที่หลายคนในวงสังคมเชียงใหม่เรียกท่านว่า “ป้านวล” เมื่อราวๆ 10 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งช่วงเวลานั้นท่านยังมีชีวิตอยู่และมักจะเข้าไปช่วยงานสังคมต่างๆของเชียงใหม่อยู่สม่ำเสมอ แต่จะมีใครสักกี่คนที่เคยรู้ ว่าวันวานของป้านวล ท่านเคยเป็นถึงอดีตรองนางสาวไทยในยุคเมื่อเกือบ 60 ปีที่แล้ว ที่วันนี้ได้มาเล่าย้อนอดีตให้ฟัง
ผมเชื่อว่าคนเชียงใหม่ที่อายุเลยเลข 60 ขึ้นไปหลายคนคงจะยังไม่ลืมข่าวคราวการประกวดนางสาวไทยเมื่อปี พ.ศ.2496 ที่มีตัวแทนของพี่น้องชาวเชียงใหม่เข้าประกวดและได้รับตำแหน่งรองนางสาวไทยอันดับที่ 1 มาครอง ชื่อของนวลสวาท ลังกาพินธุ์ ได้กลายเป็นที่รู้จักมักคุ้นขึ้นมาทันที

แม้เรื่องราวและประสบการณ์ต่างๆจะเกิดขึ้นมานานเกือบ 60 ปีแล้ว เมื่อครั้งที่มีโอกาสได้พูดคุยถึงอดีตของวันวานกับป้านวล ซึ่งครั้งหนึ่งท่านเป็นผู้สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งในฐานะนางสาวถิ่นไทยงาม รองนางสาวไทยและผู้ที่อุทิศตนให้กับงานสังคม ป้านวลเล่าให้ฟังถึงชีวิตในวัยเด็กว่า พื้นเพของตนเป็นคนจังหวัดลำพูน เกิดที่บ้านแซม อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน จบจากโรงเรียนป่าซางวิทยาซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมประจำอำเภอ ก่อนที่จะผันตัวเองไปเรียนวิชาการเรือนที่กรุงเทพ กว่า 3 เดือนที่ร่ำเรียนวิชาการเรือนก็ได้รับความรู้
หลายอย่างทั้งการเย็บผ้า การทำดอกไม้สด การร้อยดอกไม้และมาลัยรวมทั้งเรียนวิชากริยามารยาทด้วย หลังจากที่เรียนจบก็กลับมาช่วยงานที่บ้านป่าซาง ซึ่งขณะนั้นคุณพ่อได้รับงานของกรมทางหลวง ด้วยการส่งไม้เสาโทรศัพท์ ไม้มอนทางรถไฟและส่งหินให้กรมทางหลวงทำถนน

เมื่ออายุได้ 15 ปีสามารถขับรถได้ก็มักจะติดตามคุณพ่อไปทำงาน ป้านวลเล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งเคยขับรถจี๊ปไปตรวจงานที่แม่โจ้ เพื่อตรวจดูว่าไม้ที่ส่งไปนั้นลงถูกจุดที่ต้องการหรือเปล่า เมื่อพบว่าไม้ท่อนไหนวางไม่ถูกที่ก็จะนำมามัดติดกับท้ายรถจี๊ปแล้วลากไปไว้ที่จุดของมัน ท่านมักจะขับรถไปตรวจงานด้วยตัวเองอยู่เสมอ จนเป็นที่มักคุ้นของคนในกรมทางหลวง

“สมัยก่อนคุณพ่อจะส่งหินให้กับกรมทางหลวง มักจะติดตามไปช่วยงานกับคุณพ่อ บางครั้งก็ขับรถจี๊ปไปตรวจงานเอง จนเป็นที่มักคุ้นของคนในกรมทางหลวง…วันหนึ่งกรมทางหลวงต้องการที่จะส่งคนเข้าประกวดนางงาม จึงได้มาชวนให้ไปเป็นเพื่อนอีกคนหนึ่ง จน
กระทั่งได้รับตำแหน่งนางสาวถิ่นไทยงามในปีนั้น”

ต้นปี พ.ศ.2496 เมื่อกรมทางหลวงต้องการจะส่งคนเข้าประกวดนางสาวถิ่นไทยงามจึงได้มาชวนให้ไปเป็นเพื่อนกับอีกคนหนึ่งในหมู่บ้าน ปรากฏว่าตนเองได้รับตำแหน่งนางสาวถิ่นไทยงาม การประกวดนางงามของเชียงใหม่สมัยก่อนจะมีการแบ่งการประกวดเป็น 2 งาน คือนางสาวถิ่นไทยงาม มีตัวแทนสาวงามจาก 17 จังหวัดภาคเหนือเข้าประกวดและนางสาวเชียงใหม่ จะต้องเป็นผู้ที่เกิดในเชียงใหม่เท่านั้น หลังจากที่ได้รับตำแหน่งนางสาวถิ่นไทยงามแล้ว ทางจังหวัดจึงได้ส่งเข้าไปประกวดนางสาวไทยในงานฉลองรัฐธรรมนูญประจำปี พ.ศ.2496
ที่กรุงเทพฯ จนกระทั่งได้รับตำแหน่งรองนางสาวไทยอันดับที่ 1 กลับมา ยิ่งทำให้มีชื่อเสียงมากขึ้น จนเพื่อนๆและคนรู้จักพากันมาเยี่ยมที่บ้าน ด้วยเหตุนี้เองจึงมีโอกาสเปิดร้านจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง ผ้าไหมและผ้าฝ้ายทอมือ โดยตนเองได้ซื้อฝ้ายให้ชาวบ้านในหมู่บ้านนำไปทอแล้วนำมาขายที่ร้าน เป็นการส่งเสริมอาชีพและรายได้ให้กับชาวบ้าน

หลังจากที่ช่วยเหลืองานสังคมให้กับจังหวัดเชียงใหม่ระยะหนึ่ง ปี พ.ศ.2502 ด้วยวัย 25 ปี จึงได้แต่งงานกับคุณประโพธ เปาโรหิตย์ หนุ่มนักเรียนอังกฤษและเป็นผู้หนึ่งที่อยู่ร่วมในขบวนการเสรีไทย หลังจากที่แต่งงานก็ได้ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ช่วยเหลืองานสังคมและการกุศลต่างๆเป็นเวลาถึง 24 ปี กระทั่งปี พ.ศ.2526 เมื่อสามีเกษียณอายุจึงได้ย้ายมาตั้งรกรากที่เชียงใหม่

แม้การประกวดนางสาวไทยจะผ่านมาเนิ่นนานกว่า 60 ปีแล้ว แต่การย้อนเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ในครั้งนั้น ยังเป็นการถ่ายทอดที่ประหนึ่งเหมือนเหตุการณ์เพิ่งผ่านมาเพียงไม่นาน แม้วันนี้ป้านวลสวาท ลังกาพินธุ์ ได้จากโลกนี้ไปแล้ว แต่อัตถประวัติและคุณงามความดีของท่านยังปรากฏสืบมาจนถึงปัจจุบัน ตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านของท่านเป็นชีวิตที่เรียบง่ายสุขสงบ อุทิศแรงใจในการช่วยเหลืองานสังคมมาโดยตลอด นับเป็นตัวอย่างหนึ่งของคนล้านนาที่ต่อสู้งานเพื่อส่วนรวมมาตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงลมหายใจสุดท้าย

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น