ชลประทานและเกษตร จ.เชียงใหม่ แถลงการณ์ ในการช่วยเหลือประชาชนช่วงหน้าแล้ง และโครงการส่งเสริมปลูกพืชหลากหลาย

วันที่ 14 พฤษภาคม 2562 นายทรงพล พงษ์มุกดา นายช่างชลประทานอาวุโส หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน และนายสมพล แสนคำ เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมแถลงข่าวถึงการช่วยเหลือประชาชนในช่วงหน้าแล้ง และโครงการส่งเสริมปลูกพืชหลากหลาย ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่
นายทรงพล พงษ์มุกดา
นายทรงพล พงษ์มุกดา นายช่างชลประทานอาวุโส หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน กล่าวว่า มาตรการในการช่วยเหลือประชาชนในช่วงหน้าแล้ง จังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่ ที่ยังไม่มีการประกาศภัยแล้ง เนื่องจากหน่วยงานราชการช่วยกันแก้ไขปัญหา ให้กับประชาชนในพื้นที่ที่เกิดแบบเร่งด่วน อาทิ นาข้าว หรือ สวนลำไย การเข้าถึงช่วยเหลือเร่งด่วน ทำให้ทางจังหวัดเชียงใหม่ ยังไม่มีการประกาศภัยแล้ง ณ ปัจจุบัน ด้านสถานการณ์น้ำของจังหวัดเชียงใหม่นั้น จากเดิมมีน้ำประมาณ 680,000 ,000 ลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันเหลือ 231,000,000 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 34% ภาพรวมแล้วน้ำยังสามารถเพียงพอช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ประชาชนช่วงฤดูแล้ง
ด้านการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ในจังหวัดเชียงใหม่นั้น มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 2561/62 รอบที่ 2 ทั้งหมดจำนวน 136,895 ไร่ ซึ่งมากกว่าแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจรที่ได้ประกาศไว้ จำนวน 127,940 ไร่ (8,955 ไร่) แต่ก็ยังไม่มีการประกาศภัยแล้งนั้น ซึ่งปัจจุบันมีการเก็บเกี่ยวไปแล้วถึง 45% ของพื้นที่ ซึ่งหากถึงสิ้นปีนี้ ก็จะรอดจากการประกาศภัยแล้ง และเก็บเกี่ยวได้ทันทั้งหมด ด้วยอาทิตย์ที่ผ่านมา ในเขตอำเภอจอมทอง มีสวนลำไยอยู่ประมาณ 15 ไร่ เกิดประสบปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากมีน้ำไม่เพียงพอ ลำไยใกล้จะยืนต้นตาย และเริ่มเหี่ยวเฉา เพราะอากาศร้อนและขาดน้ำ ประมาณ 1% ชองพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งพื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน จากนั้นชลประทานเชียงใหม่ ได้ส่งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าช่วยเหลือ เพื่อสูบน้ำเข้าแปลงลำไย อีกปัญหาหนึ่งที่พบ คือไฟฟ้าบริเวณนั้นไม่เพียงพอต่อการสูบน้ำ ทำให้เกิดไฟตกบริเวณในพื้นที่ และปัจจุบันได้ทำการแก้ไขปัญหา สามารถสูบน้ำเข้ามาในพื้นที่ทำให้พื้นที่มีปริมาณน้ำเพียงพอ

นอกจากนี้ การดำเนินการระยะยาว ประชาชนต้องการ สถานีสูบน้ำประมาณ 2 แห่ง และต้องการทำการขุดลอกให้มีน้ำผ่าน ส่วนบริเวณอำเภอดอยเต่า สวนลำไยที่ขาดน้ำ อยู่ระหว่างการสำรวจหาแนวทางในการแก้ปัญหาเบื้องต้น ด้านการบริหารจัดการน้ำต่อไปนั้นคือ ชลประทานจังหวัดเชียงใหม่ ได้สำรวจและบูรณาการร่วมกับเกษตรจังหวัด ในการช่วยเหลือภัยแล้ง คือการเตรียมพร้อมด้านอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ โดยมีเครื่องสูบน้ำ 60 เครื่อง และรถบรรทุกน้ำ 16 คัน เพื่อรองรับประจำจุดเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดภัยแล้งขึ้น
นายสมพล แสนคำ
ด้านนายสมพล แสนคำ เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า โครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกพืชหลังนาปี 2561 / 2562 ตามคณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2562 เห็นชอบให้ดำเนินงานโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกพืชหลังนา ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดแผนการเพาะปลูก ที่สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน เป็นกลุ่มเกษตรที่ให้ความร่วมมือปฎิบัติตามนโยบายภาครัฐ ในการลดพื้นที่การปลูกข้าวนาปรัง และปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นๆ โดยพื้นที่ปลูกพืชหลังฤดูทำนาดังกล่าว เกษตรกรต้องมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการน้ำที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ค่าสูบน้ำ และการบริหารจัดการศัตรูพืชสูงกว่าฤดูปกติ จึงได้จัดให้มีโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกพืชหลังนาปี 2561 / 2562 โดยให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกพืชหลังฤดูกาลทำนา (นาปี) ในอัตราไร่ละ 600 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่หรือไม่เกินครัวเรือนละ 9,000 บาท ชนิดพืชที่เข้าโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกพืชหลังนาปี 2561 / 2562 ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชตระกูลถั่ว ยกเว้นการปลูกสำหรับการปรับปรุงบำรุงดิน มันสำปะหลัง เฉพาะที่ปลูกในนา พืชผัก พืชอาหารสัตว์ ยกเว้นอ้อย และสับปะรด
ซึ่งมีเงื่อนไขที่เกษตรกรเข้าร่วมโครงการคือ 1.เกษตรกรต้องมีสัญชาติไทย และบรรลุนิติภาวะแล้ว 2.ปลูกพืชระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2562 3.เป็นหัวหน้าครัวเรือนหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายหนึ่งครัวเรือนต่อหนึ่งสิทธิ 4. พื้นที่ที่เข้าโครงการต้องดำเนินการในพื้นที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย 5. เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในรอบสามปีที่ผ่านมา(ปี 2559-2561) ปีใดปีหนึ่ง และพื้นที่เข้าร่วมต้องเป็นพื้นที่นาเท่านั้น ตั้งแต่หนึ่งงานขึ้นไปแต่ไม่เกิน 15 ไร่ 6. เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ต้องไม่ซ้ำซ้อนกับโครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลายฤดูนาปรัง ปี 2561 / 2562 หรือโครงการอื่นของรัฐบาล ที่มีวัตถุประสงค์ใกล้เคียงกันและได้รับการช่วยเหลือเรียบร้อยแล้ว 7. เป็นเกษตรกรที่เปิดบัญชีเงินฝาก ไว้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เกษตร (ธ.ก.ส.) โดยความคืบหน้าการดำเนินงาน ณ วันที่ 13 พฤษภาคม 2562 เกษตรกรที่ทำการขึ้นทะเบียนเกษตรกรจำนวน 6,731 ราย 12,787 แปลง พื้นที่ 35,832 ไร่

ร่วมแสดงความคิดเห็น