“ผักป้อก้าตี๋เมีย” ทำไมถึงต้องตีเมีย ?

“ผักป้อก้าตี๋เมีย” บ้างก็เรียก ผักกับแก้ เป็นผักที่ออกตามฤดูกาล ช่วงต้นฤดูฝนระหว่างเดือน พฤษภาคม – มิถุนายนของทุกปีเท่านั้น ในกาดนัดขวัญเวียง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ วันนี้มีขายในราคาขีดละ 40 บาท ชาวบ้านที่มาจับจ่ายซื้อของต่างก็มารุมซื้อ ก็หากินยาก กินได้ช่วงนี้เท่านั้น ส่วนทางภาคกลางเรียกว่า ผักเฟือยนก แต่ “แก๋งผักป้อก้าตี๋เมีย” เป็นอาหารท้องถิ่นทางภาคเหนือ จึงหารับประทานได้ทางภาคเหนือเท่านั้น
ซึ่งดูจากลักษณะภายนอกแล้วคล้ายเฟิร์น จัดเป็นตระกูลเฟิร์นขนาดเล็กพบมากในป่าที่มีความชื้นสูงและมีอุณหภูมิที่เย็น จึงพบมากในแถบภาคเหนือ ลักษณะเด่นคือ มีก้านที่กรอบ ลำต้นเป็นเหง้า ไหลทอดไปกับพื้นดิน ใบ เป็นใบประกอบ ก้านใบยาวและแข็งหนา ยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร ใบคลี่ แผ่ออกเป็นแผ่นกว้าง ใบอ่อนจะม้วนงอ การขยายพันธ์เกิดจากใบจะมีขน Ramenta ปกคลุมอยู่ สปอร์ จะเกิดอยู่หลังใบ มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา เมื่อหลุดออกจากอัปสปอร์ สามารถปลิวไปได้ไกลๆ ตกในที่เหมาะสมจะเกิดเป็นต้นอ่อนต่อไปได้

ทางภาคเหนือ นิยมนำมาแกง พร้อมกับดอกลิงแลว การตำเครื่องแกงคล้ายกับการแกงขนุน แกงพื้นเมืองทั่วไป นิยมแกงใส่ปลาแห้ง (ปลาช่อน) เพิ่มผักชะอม และถั่วฝักยาวได้ตามชอบ
แต่ทำไมถึงต้องตีเมีย มีเรื่องเล่าจากรุ่นสู่รุ่น ก็ยังเป็นเรื่องเล่าที่บอกต่อกันมา ว่า “มีพ่อค้า (คำเมืองเรียกว่า “ป้อก้า”) คนหนึ่งหลังจากออกไปค้าขายกลับมาที่บ้าน หิวหาอาหารในครัวไม่มีอาหารอะไรเลย ภรรยาจึงไปเก็บผักนี้มาต้มแกงให้กิน เมื่อแกงเสร็จแล้วภรรยาก็เอามาให้กิน พ่อค้าก็โกรธด่าว่า “ผักยังไม่สุก ก้านก็แข็ง เอามาให้กินทำไม” ว่าจบก็เอาไม้ไล่ตีเมียด้วยความโกรธและความหิว จึงเป็นที่มาของชื่อ ผักพ่อค้าตีเมียนั่นเอง

ซึ่งถ้าใครเคยกินแล้วจะรู้ว่า ลักษณะเด่นของผักพ่อค้าตีเมียก็คือ เมื่อแกงสุกแล้ว ยอดจะนุ่ม ในขณะที่ก้านยังกรอบ เป็นคุณสมบัติพิเศษของก้านผักพ่อค้าตีเมียจะแกงนานเท่าไหร่ก้านก็จะแข็งและกรอบแบบนี้ จึงเป็นเรื่องเล่าต่อๆ กันมา ว่าทำไมถึงต้องเรียกว่า “ผักป้อก้าตี๋เมีย”

ร่วมแสดงความคิดเห็น