ดูให้ดีก่อนกินเห็ดถอบ !! ความแตกต่างของเห็ดถอบ (กินได้) กับเห็ดพิษ (กินไม่ได้) เหมือนกันมาก

ฤดูกาลต้นฤดูฝนนี้ มีประชาชนนิยมบริโภคเห็ดถอบ หรือ เห็ดเผาะ เป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นอาหารพื้นถิ่น ออกตามฤดูกาล ซึ่งการเก็บเห็ดมีความยากลำบาก ที่ต้องเข้าไปเก็บในป่าในดอย จึงทำให้มีราคาแพง ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ก็ได้ออกเตือนให้ประชาชน ให้ระมัดระวังการซื้อหรือเก็บเห็ดป่ามาปรุงอาหาร เนื่องจากช่วงนี้มีฝนตกลงมาในหลายพื้นที่ ทำให้มีเห็ดป่าขึ้นเองตามธรรมชาติ ประชาชนจึงเริ่มเข้าป่า เพื่อเก็บเห็ดมาขายหรือนำมาปรุงอาหาร ซึ่งเห็ดที่เก็บมาอาจเป็นเห็ดพิษ เมื่อรับประทานเข้าไปจะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ แนะหากไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าจะเป็นเห็ดพิษ ไม่ควรนำมาปรุงอาหาร
ซึ่งมีเห็ดพิษอยู่ 2 ชนิด จากภาพ ที่ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาเตือน จะเห็นว่า เห็นถอบหรือเห็ดเผาะ มี 2 ชนิด ทั้งแบบที่กินได้ และเห็ดพิษที่กินไม่ได้ มาดูกันว่าต่างกันตรงไหนลักษณะภายนอกคล้ายกันมาก เห็ดเผาะที่กินได้ สังเกตุดีๆ จะไม่มีราก ส่วนเห็ดเผาะ ที่มีพิษกินไม่ได้ จะมีราก (ดูได้จากรูป)ส่วนเห็ดพิษอีกชนิดหนึ่งที่คล้ายกันมาก คือ เห็ดไข่หงส์ คล้ายหมวก รูปกลม มีสีน้ำตาลอ่อนอมเหลือง เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 – 6 เซนติเมตร สูง 2 – 3 เซนติเมตร ด้านบนแบนลงเล็กน้อย ผิวแตกเป็นเกล็ดใหญ่ โคนมีเส้นใยหยาบเป็นกระจุกยึดติดกับดิน(สีนวลขาว) เปลือกหนา 3 – 4 มิลลิเมตร เมื่อดอกเห็ดแก่ด้านบนปริแตกออก ซึ่งสปอร์ภายในดอกเห็ดสีม่วงน้ำตาลบรรจุอยู่ รูปกลม ผิวขรุขระเป็นร่องแห เห็ดชนิดนี้ขึ้นเป็นดอกเดี่ยวใกล้กัน และกระจายทั่วไปในป่าสน เป็นเห็ดพิษทำให้เกิดอาการคลื่นไส้และอาเจียน ไม่ควรรับประทานทั้งดิบและสุก ดังนั้นก่อนนำมาบริโภค ควรสังเกตุให้ดี มี 3 ชนิด เห็ดเผาะ ที่กินได้ จะไม่มีราก เห็ดพิษที่คล้ายเห็ดเผาะ กินไม่ได้ มี 2 ชนิด คือ เห็ดเผาะ (แบบมีราก) และ เห็ดไข่หงส์
ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้มีฝนตกในหลายพื้นที่ ทำให้มีเห็ดป่าขึ้นเองตามธรรมชาติ ประชาชนมักเก็บมาขายหรือนำมาปรุงอาหาร ซึ่งในแต่ละปีจะพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากการกินเห็ดพิษเป็นประจำ เนื่องจากเห็ดป่ามีทั้งเห็ดที่กินได้ และเห็ดพิษ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกันมาก อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดได้ โดยข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 14 เม.ย. 62 ได้รับรายงานผู้ป่วยอาหารเป็นพิษ จากการรับประทานเห็ดพิษ 42 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ กลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป รองลงมา 35-44 ปี และ 25-34 ปี ตามลำดับ
เห็ดพิษที่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตส่วนใหญ่ คือ เห็ดระโงกพิษ บางแห่งเรียกว่าเห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก หรือเห็ดไข่ตายซาก ซึ่งเห็ดชนิดนี้คล้ายคลึงกับเห็ดระโงกขาว หรือไข่ห่าน ที่สามารถกินได้ แต่แตกต่างกันคือ เห็ดระโงกพิษจะมีก้านสูง กลางดอกหมวกจะนูนเล็กน้อย มีกลิ่นค่อนข้างแรง นอกจากนี้ ยังมีเห็ดป่าชนิดที่มีพิษรุนแรงคือ เห็ดเมือกไครเหลือง โดยประชาชนมักสับสนกับเห็ดขิง ซึ่งชนิดที่เป็นพิษจะมีเมือกปกคลุม และมีสีดอกเข้มกว่า ซึ่งยากแก่การสังเกตด้วยตาเปล่า ทั้งนี้ ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ทดสอบความเป็นพิษของเห็ด เช่น การจุ่มช้อนเงินลงไปในหม้อต้มเห็ด การนำไปต้มกับข้าวสาร หรือใช้ปูนกินหมากป้าย ที่ดอกเห็ด ถ้าเป็นเห็ดพิษจะกลายเป็นสีดำ เป็นต้น วิธีเหล่านี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการอ้างอิงในการใช้ทดสอบพิษกับเห็ดกลุ่มนี้ได้ โดยเฉพาะเห็ดระโงกพิษ ที่มีสารที่ทนต่อความร้อน แม้จะปรุงให้สุกแล้ว เช่น ต้ม แกง ก็ไม่สามารถทำลายสารพิษนั้นได้
นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับอาการหลังรับประทานเห็ดพิษ จะคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือถ่ายอุจจาระเหลว ไม่ควรซื้อยากินเองหรือไปรักษากับหมอพื้นบ้าน การช่วยเหลือในเบื้องต้นคือ กระตุ้นให้ผู้ป่วยอาเจียน โดยให้ผู้ป่วยดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ล้วงคอให้อาเจียน หรือดื่มน้ำอุ่นผสมเกลือแกงแล้วล้วงคอให้อาเจียนออกมา (วิธีนี้ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี) จากนั้นรีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการรับประทานเห็ดโดยละเอียด พร้อมกับนำตัวอย่างเห็ดพิษไปด้วย และควรให้ผู้ป่วยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือนัดติดตามอาการทุกวัน จนกว่าจะหายเป็นปกติ เนื่องจากเห็ดพิษชนิดร้ายแรงจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนในช่วงวันแรก แต่หลังจากนั้นผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงตามมาคือ การทำงานของตับ และไตล้มเหลว อาจเสี่ยงทำให้เสียชีวิตได้
กรมควบคุมโรค ขอเตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงการเก็บ เห็ดไข่ห่าน เห็ดโม่งโก้ง เห็ดระโงก หรือเห็ดระงาก ขณะที่ยังเป็นดอกอ่อนหรือดอกตูม ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนกลมรี คล้ายไข่ มารับประทาน เนื่องจากไม่สามารถทราบได้ว่า เป็นเห็ดมีพิษหรือไม่ เพราะลักษณะดอกตูมภายนอกจะเหมือนกัน ที่สำคัญหากไม่แน่ใจ ไม่รู้จัก หรือสงสัยว่าจะเป็นเห็ดพิษ ก็ไม่ควรเก็บหรือซื้อมาปรุงอาหาร รวมถึงหลีกเลี่ยงการรับประทานเห็ดร่วมกับดื่มสุรา เพราะฤทธิ์จากแอลกอฮอล์ จะทำให้พิษเห็ดแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และทำให้อาการรุนแรงขึ้นด้วย หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

ร่วมแสดงความคิดเห็น