คั่วผักเจียงดาใส่ไข่ จานนี้เด็ดมี 33 สรรพคุณประโยชน์ของผักเจียงดา

ภาษาท้องถิ่นทางเหนือเรียกว่า “ผักเจียงดา” ภาษากลางเรียกว่า “ผักเชียงดา”
ผักเจียงดา จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด ต้นผักเชียงดา จัดเป็นไม้เถาเลื้อย มีอายุข้ามปี ความยาวของเถาขึ้นอยู่กับอายุ ลำต้นเป็นสีเขียว มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-5 เซนติเมตร ทุกส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นจะมีน้ำยางสีขาวคล้ายน้ำนม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการปักชำ เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน ระบายน้ำดี เป็นผักพื้นบ้านที่ชาวเหนือในแถบจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน และพะเยา นิยมปลูกไว้หน้าบ้าน
ทางท้องถิ่นภาคเหนือ นิยมนำมาผัดใส่ไข่ หรือ เรียกว่า คั่วไข่ใส่ผักเจียงดา อีกเมนูหนึ่งคือ นิยมนำมาแกง ใส่ปลาแห้ง (ปลาแห้งช่อน)
วิธีการทำเมนูนี้ไม่ยากเลย เด็กกินได้ ผู้ใหญ่กินดี แถมมีประโยชน์ต่อร่างกายถึง 33 สรรพคุณเลยเชียว วิธีการทำเหมือนกับผัดผักทั่วไป ส่วนผักเชียงดา เก็บผักส่วนยอดและใบที่อ่อน ควรเลือกรับประทานผักเชียงดาใบอ่อน ที่ไม่ผ่านความร้อน จึงจะได้ประโยชน์ด้านคุณค่าทางอาหารมากที่สุด แต่ถ้าต้องการให้ระบบขับถ่ายในร่างกายดีขึ้น ควรรับประทานผักเชียงดาใบแก่ หั่นผักให้เล็กตามใจชอบ เติมโปรตีนด้วยไข่ ผักกับน้ำมัน ปรุงรสตามชอบ เมนูนี้เด็กก็ทานได้ เพราะรสชาติของผักเชียงดา จะหวาน ไม่ขม ซึ่งสูตรของชาวบ้านท้องถิ่นในจ.เชียงใหม่จริงๆ จะเพิ่มถั่วเน่าเมอะ เข้าไปด้วย ได้รสชาติอาหารเหนืออย่างแท้จริง
ส่วนสรรพคุณนั้น มีมากถึง 33 ประโยชน์ต่อร่างกาย มีอะไรบ้างมาดูกัน
1.ผักเชียงดามีสารต้านอนุมูลอิสระที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตัน โรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร มะเร็งตับ โรคต้อกระจกในผู้สูงอายุ ช่วยป้องกันการแตกของเม็ดเลือดแดง และการเสียของ DNA ข้ออักเสบรูมาตอยด์และเกาต์
2. ผักเชียงดามีสารออกฤทธิ์ที่ช่วยควบคุมการทำงานของร่างกายให้เป็นปกติและชาวบ้านยังนิยมกินผักเชียงดาหน้าร้อน เพื่อช่วยลดความร้อนในร่างกายอีกด้วย
3. หมอยาพื้นบ้านในจังหวัดจะใช้ผักเชียงดาเป็นยาบำรุงกำลัง แก้อาการปวดเมื่อยอันเนื่องมาจากการทำงาน
4. ช่วยทำให้เจริญอาหาร
5.ช่วยชำระล้างสารพิษตกค้างในร่างกาย
6.ใช้รักษาเบาหวาน ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ปรับระดับอินซูลินในร่างกายให้สมดุล ช่วยสร้างเนื้อเยื่อใหม่ให้ตับอ่อน ด้วยการนำผักเชียงดามาปรุงเป็นอาหารรับประทาน จากการศึกษาพบว่า การรับประทานผงผักเชียงดาก่อนอาหารประมาณวันละ 8-12 กรัม (แบ่งการรับประทานเป็น 3 มื้อ มื้อละ 4 กรัม) จะสามารถควบคุมระดับน้ำตาลของผู้ป่วยเบาหวานให้เป็นปกติได้ หรือจะรับประทานเป็นผักสดอย่างน้อยวันละประมาณ 50-100 กรัม หรือ 1 ขีด ก็สามารถช่วยป้องกันและบำบัดโรคเบาหวานได้เช่นกัน
7. ช่วยควบคุมและปรับระดับความดันโลหิตให้เป็นปกติ
8. ช่วยลดและควบคุมปริมาณไขมันในร่างกายให้สมดุล
9. ผักเชียงดาสามารถนำไปใช้ลดน้ำหนักได้ เพราะผักชนิดนี้สามารถช่วยให้มีการนำน้ำตาลไปเผาผลาญมากกว่าการนำไปสร้างเป็นไขมันสะสมตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และมีรายงานว่า ผักเชียงดาสามารถช่วยลดน้ำหนักได้จริง
10. ผักเชียงดามีสรรพคุณช่วยบำรุงสายตา แก้ตาฝ้าฟาง มีอาการเคืองตา เนื่องจากผักชนิดนี้มีวิตามินสูง
11. ช่วยแก้หูชั้นกลางอักเสบ
12. ใบนำมาตำให้ละเอียดใช้พอกบริเวณกระหม่อมเพื่อรักษาไข้ อาการหวัด ปรุงเป็นยาลดไข้ แก้ไอ ขับเสมหะ หรือนำไปประกอบในตำรายาแก้ไข้อื่น ๆ
13. ผลมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไอ ขับเสมหะ (ผล)
14.ช่วยบรรเทาอาการภูมิแพ้และหอบหืด
15.ต้นสรรพคุณเป็นยาแก้หลอดลมอักเสบ แก้ไอ แก้ปอดอักเสบ
16. ช่วยแก้โรคบิด
17. การรับประทานผักเชียงดาใบแก่ จะช่วยทำให้ระบบขับถ่ายในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น และชาวบ้านยังนิยมนำมาแกงรวมกับผักตำลึงและยอดชะอมเพื่อใช้รักษาอาการท้องผูกอีกด้วย
18. ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร (ต้น)
19. ต้นแห้งหรือต้นสดใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (ต้น)
20. ช่วยขับระดูของสตรี
21. ช่วยฟื้นฟูตับอ่อนให้แข็งแรง ช่วยบำรุงและปรับสภาพการทำงานของตับอ่อนให้เป็นปกติ
22. ช่วยบำรุงและซ่อมแซมหมวกไต และระบบการทำงานของไตให้สมบูรณ์
23. ช่วยแก้อาการบวมน้ำ (ต้น)
24. ใบใช้เป็นยาแก้โรคผิวหนังทุกชนิด ทำให้น้ำเหลืองแห้ง และแก้กามโรค
25. ใบสดใช้ตำพอกฝีหรือหัวลำมะลอก งูสวัด เริม ถอนพิษ แก้ปวดแสบปวดร้อน
26. หัวมีรสมันขม มีสรรพคุณเป็นยาแก้พิษอักเสบ พิษร้อน ช่วยดับพิษกาฬ แก้พิษไข้เซื่องซึม และแก้เริม (หัว)
27. ช่วยบรรเทาอาการปวดข้อจากโรคเกาต์
28. ในบ้านเรามีการใช้ผักเชียงดาเป็นทั้งยาสมุนไพรและเป็นอาหารเพื่อรักษาโรคโดยกลุ่มหมอเมืองทางภาคเหนือมานานแล้ว กล่าวคือ การใช้เป็น “ยาแก้หลวง” (คล้ายยาครอบจักรวาลของแผนปัจจุบัน) ถ้าคิดไม่ออกก็บอกผักเชียงดา เช่น แก้เบาหวาน เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ตัวร้อน แก้ไข้สันนิบาต (ชักกระตุก) แก้หวัด ภูมิแพ้ หอบหืด แก้แพ้ยา แพ้อาหาร ปวดข้อ เป็นยาระบาย ช่วยระงับประสาท หรือเมื่อมีอาการคิดมากหรือจิตฟั่นเฟือน ฯลฯ ส่วนการนำมาใช้เป็นยาก็ให้นำผักเชียงดามาสับแล้วนำไปตากแห้งบดเป็นผง ใช้ชงเป็นชาดื่ม หรือจะนำมาบรรจุลงในแคปซูลก็ได้
หมายเหตุ : การนำมาใช้เป็นยาในหน้าแล้ง ให้ใช้รากมาทำยา ส่วนในหน้าฝนให้ใช้ส่วนของเถาและใบ โดยนำมาสับตากแห้งแล้วบดให้เป็นผง ใช้ชงเป็นชาดื่ม
29. จากการศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลองของผักพื้นบ้านจำนวน 43 ชนิด ที่บริโภคกันในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า ผักเชียงดามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดีที่สุด และยังเป็นผักที่มีวิตามินอีสูงที่สุดอีกด้วย
30. ยอดผักเชียงดาสดจะมีรสมัน หากนำมาต้มให้สุกจะมีรสหอมหวาน ชาวบ้านทางภาคเหนือจึงนิยมปลูกผักเชียงดาไว้ตามริมรั้ว โดยนิยมนำใบอ่อนและยอดอ่อน มารับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก ลาบ ส้มตำ หรือนำมาทำแกง แกงส้ม แกงแค แกงเขียว แกงโฮะ แกงขนุน แกงเลียงกับปลาแห้ง หรือใส่ในต้มเลือดหมู แกงใส่ผักหวาน แกงรวมกับผักชะอม ผักกูด ผักเฮือด ฯลฯ หรือนำมาผัดน้ำมันหอย ทำผัดผักเชียงดา ผัดร่วมกับมะเขือ ฯลฯ แต่โดยปกติแล้วจะไม่ผัดผักเชียงดาล้วน ๆ เพราะจะมีรสขม (ผักเชียงดาในหน้าแล้งจะอร่อยกว่าในหน้าฝน เพราะผักเชียงดาในหน้าฝนจะมีรสเฝื่อน ไม่ค่อยอร่อย)
31. คุณค่าทางโภชนาการของผักเชียงดา 100 กรัม ประกอบไปด้วย พลังงาน 60 แคลอรี, ความชื้น 82.9%, โปรตีน 5.4 กรัม, ไขมัน 1.5 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 6.2 กรัม, ใยอาหาร 2.5 กรัม, เถ้า 1.6 กรัม, วิตามินเอ 5,905 หน่วยสากล, วิตามินบี 1 981 มิลลิกรัม, วิตามินบี 2 0.32 มิลลิกรัม, วิตามินบี 3 1 มิลลิกรัม, วิตามินซี 153 มิลลิกรัม, แคลเซียม 78 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 2.3 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 98 มิลลิกรัม
32. ในปัจจุบันเริ่มมีเกษตรกรรวบรวมผักเชียงดามาปลูกในแปลงปลูกขนาดใหญ่ เพื่อเก็บยอดไว้ขายในเชิงการค้าแล้ว
33. ในปัจจุบันบริษัทยาของประเทศญี่ปุ่นได้ผลิตพืชชนิดนี้เป็นชาชงสมุนไพร หรือในรูปแบบแคปซูลหรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อรักษาเบาหวาน ลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยยับยั้งการดูดซึมของกลูโคส ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แคปซูลผักเชียงดาจะมีวางจำหน่ายในร้านผลิตภัณฑ์สุขภาพทั่วไป โดยในรูปแบบผงแห้งจะมีการควบคุมมาตรฐานของ gynemic acid
โฮ้ !! รู้กันอย่างนี้แล้ว รีบหามาปลูกกันเลย ปลูกง่าย ปลูกเป็นผักริมริ้วก็ยังได้เลย สามารถเก็บกินได้ตลอดทั้งปี
ข้อมูลสรรพคุณ : Medthai

ร่วมแสดงความคิดเห็น