ห่วงวัยรุ่นเยาวชนไทย เสี่ยงภาวะซึมเศร้า มีความคิดหรือความพยายามฆ่าตัวตาย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สถานการณ์โรคซึมเศร้าในสังคม เป็นปัญหาสำคัญทางสุขภาพและเป็นโรคใกล้ตัว ที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากไม่ได้รับการรักษาอาจรุนแรงจน นำไปสู่การฆ่าตัวตาย จากข้อมูลสถิติขององค์การอนามัยโลก ในปี 2560 ระบุว่า มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทั่วโลก 322 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 4.4 ของประชากรโลก

โดย 5 อันดับปัญหาที่พบมากที่สุด ในกลุ่มเด็กและเยาวชน คือ ปัญหาความเครียดหรือวิตกกังวล ปัญหาทางจิตเวช ปัญหาความรัก ปัญหาซึมเศร้า และปัญหาครอบครัว สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 มีผู้โทรเข้ามาใช้บริการทั้งสิ้น 40,635 ครั้ง เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน อายุ 11-25 ปี จำนวน 13,658 ครั้ง

ส่วนใหญ่มีปัญหาความเครียด หรือวิตกกังวล ปัญหาความรัก ซึมเศร้า และมีความคิดหรือความพยายามฆ่าตัวตาย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สำหรับแนวทางการป้องกัน และแก้ไขปัญหาภาวะซึมเศร้า และการฆ่าตัวตายในกลุ่มเด็กและเยาวชนสามารถป้องกันได้

หลัก 3 ส. คือ สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง และส่งต่อเชื่อมโยง ซึ่งคนรอบข้างสามารถสังเกตอาการและพฤติกรรมที่ผิดปกติ ได้แก่ อาการเหม่อลอย ไม่ร่าเริง มาเข้าเรียนสายหรือไม่เข้าเรียน หลับในห้องเรียน เมื่อพบเห็นภาวะดังกล่าว คนรอบข้างไม่ว่าจะเป็นเพื่อน อาจารย์ที่ปรึกษา คนใกล้ชิด รวมทั้งครอบครัว ต้องรีบเข้าไปพูดคุยร่วมกันหาสาเหตุ เพื่อให้การช่วยเหลือ หรือส่งต่อแพทย์ได้อย่างทันท่วงที หรือสามารถโทรปรึกษาปัญหาที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ร่วมแสดงความคิดเห็น