ผู้ตรวจการแผ่นดิน ลงพื้นที่ถนนบุญวาทย์ ชูโมเดลงานย้ายระบบไฟฟ้า สื่อสาร ลงเคเบิลใต้ดิน

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2562  นายบูรณ์ ฐาปนดุลย์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วย นายวทัญญู ทิพยมณฑา รองเลขาธิการ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ท.เทพจิต วีณะคุปต์ ผอ.สำนักสอบสวน 4 และคณะ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง การก่อสร้างปรับปรุงจัดระเบียบสายไฟฟ้า และสายสื่อสารลงใต้ดิน ในพื้นที่ชุมชนเมือง และเขต ทน.ลำปาง บริเวณถนนบุญวาทย์ ซึ่งถือเป็นถนนสายเศรษฐกิจของ จ.ลำ ปาง เพื่อรับทราบถึงปัจจัยและปัญหาการดำเนินการในพื้นที่ หวังเร่งหาแนวปฏิบัติแก้ไขเชิงระบบ และเป็นโมเดลการบริหารจัดการในพื้นที่อื่น ๆ
นายบูรณ์ ฐาปนดุลย์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีผู้ร้องเรียนมายังผู้ตรวจการแผ่นดิน ถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ การไฟฟ้านครหลวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ดำเนินการจัดการกับสายไฟฟ้า และสายสื่อสารต่าง ๆ ที่พาดสายไม่เป็นระเบียบ อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชนที่สัญจรผ่าน รวมถึงเกิดทัศนียภาพรกรุงรังไม่เรียบร้อย ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินเล็งเห็นว่า เป็นปัญหาที่กระทบต่อประชาชนจำนวนมาก และพบเห็นได้เกือบทุกพื้นที่ ควรมีการวางแผนดำเนินการอย่างมีมาตรฐาน และแนวปฏิบัติแก้ไขเชิงระบบ ประกอบกับการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มีแผนงานปรับปรุงระบบไฟฟ้าเป็นเคเบิลใต้ดินในเมืองใหญ่ด้วย
จึงได้ติดตามแก้ไขรับทราบข้อเท็จจริง จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่อยมา และเนื่องจากเส้นทางถนนบุญวาทย์ อ.เมือง จ.ลำปาง ประมาณ 1.5 กิโลเมตร ใจกลางย่านชุมชนและร้านค้ามากมายนั้น อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงระบบนำสายไฟฟ้า – สายสื่อสาร ลงเคเบิลใต้ดิน ย่อมจะสะท้อนให้เห็นถึงสภาพข้อเท็จจริง ปัญหา อุปสรรค และประโยชน์สาธารณะได้เป็นอย่างดี
นายบูรณ์ กล่าวต่อว่า จากการประชุมหารือร่วมกับ นายฉลาด อาสายุทธ์ ผอ.สำนักงาน กสทช. ภาค 3 นายสเฐียรพงศ์ ฤทธิเรืองเดช ผอ.ฝ่ายบริหารโครงการพิเศษ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (สำนักงานใหญ่) ดร.กิตติภูมิ นามวงค์ นายก ทน.ลำปาง นายคมกริช เจริญพัฒนสมบัติ หัวหน้าสำนักงาน จ.ลำปาง นายศุภวัณณ์ มงคลสวัสดิ์ โทรศัพท์ จ.ลำปาง ผู้แทนบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ผู้แทนบริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับแผนงานปรับปรุงระบบไฟฟ้า – สื่อสาร เป็นเคเบิลใต้ดิน เส้นทางถนนบุญวาทย์ ที่กำหนดเดิมจะต้องแล้วเสร็จในเดือนมกราคม 2562 แต่ก็ล่าช้ากว่ากำหนด ซึ่งปัญหาอุปสรรคหลัก ๆ คือ เมื่อดำเนินการขุดเจาะเพื่อวางแนวท่อใหม่ ก็จะพบกับแนวท่อเก่ากีดขวางเส้นทางใต้ดินอยู่ ต้องแจ้งให้หน่วยงานที่ดูแลแนวท่อนั้น ๆ มาดำเนินการรื้อถอนก่อน เพราะผู้รับเหมาตามแผนงานปรับปรุง ไม่สามารถรื้อถอนได้โดยพละการ ปัญหาการทำข้อตกลงดูแลรับผิดชอบ ระหว่างหน่วยงานด้วยกันหลังก่อสร้างเสร็จ
ตลอดจนความพร้อมด้านการบริหารจัดการงบประมาณ ที่ต้องรองรับต่อการก่อสร้างปรับปรุงระบบขนาดใหญ่ ดังนั้น การบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงสำคัญมาก เพื่อความเป็นเอกภาพในการทำงานและสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งข้อเท็จจริง ประเด็นปัญหา อุปสรรค ข้อขัดข้องทางกฎหมาย แนวทางแก้ไข และข้อคิดเห็น ที่ได้จากการลงพื้นที่ จ.ลำปาง ครั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินจะนำไปพิจารณาประกอบข้อเสนอแนะ เพื่อเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี ให้เป็นแนวทางการบริหารจัดการโครงการลักษณะเดียวกันนี้ ในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาบ้านเมืองให้เป็นเมืองน่าอยู่ ชุมชนน่าอยู่ เป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม มีความปลอดภัย สร้างประโยชน์สุขแก่ประชาชน

ร่วมแสดงความคิดเห็น