นายกเทศมนตรีเมืองน่าน ลงพื้นที่โรงเรียนดรุณวิทยา และชุมชนใกล้เคียง เพื่อรณรงค์ให้ความรู้เรื่องการกำจัดลูกน้ำยุงลายและการป้องกันไข้เลือดออก

นายกเทศมนตรีเมืองน่าน ลงพื้นที่โรงเรียนดรุณวิทยา เทศบาลเมืองน่าน บ้านสวนตาลและชุมชนใกล้เคียง เพื่อรณรงค์ให้ความรู้เรื่องการกำจัดลูกน้ำยุงลายและการป้องกันไข้เลือดออกในโรงเรียนและชุมชน ทั้งนี้เพื่อลดอัตราการเกิดโรคไข้เลือดออกที่กำลังระบาดอยู่ในปัจจุบัน
เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2562 เวลา 11:00 น. นายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน ลงพื้นที่โรงเรียนดรุณวิทยา เทศบาลเมืองน่าน บ้านสวนตาลและชุมชนใกล้เคียง เพื่อรณรงค์ให้ความรู้เรื่องการกำจัดลูกน้ำยุงลายและการป้องกันไข้เลือดออกในโรงเรียน พร้อมด้วยนางบัวผา แก้วมงคล ผอ.กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม โดยมีการนำรถติดตั้งเครื่องขยายเสียงประชาสัมพันธ์จากเทศบาลเมืองน่าน รณรงค์ให้ความรู้ประชาชน เจ้าหน้าที่ได้ทำการฉีดพ่นหมอกควันกำจัดลุกน้ำยุงลาย รณรงค์คว่ำภาชนะที่มีน้ำขังปฏิบัติให้เป็นนิสัย
นายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน กล่าวว่า ด้วยในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายนของทุกปี เป็นช่วงเดือนที่มีฝนตกน้ำท่วมขังเกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออก เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝนมีฝนติดต่อกันหลายวัน ทำให้เกิดแหล่งน้ำขังเป็นที่เพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย พาหะนำโรคไข้เลือดออก โอกาสที่จะเกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออก จึงมีเพิ่มมากขึ้นไปด้วย
เทศบาลเมืองน่าน จึงขอแจ้งเตือน พี่ น้อง ประชาชนทุกครัวเรือน ให้เพิ่มความระมัดระวังด้วยเร่งสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ทั้งในบ้านและบริเวณรอบ ๆ บ้านของตนเองเป็นประจำทุกสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง โดยขอความร่วมมือในการช่วยเหลือป้องกันการเกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออก ดังนี้
1.ปฏิบัติตาม มาตรการ 5 ป. เพื่อกำจัดลูกน้ำยุงลาย คือ
ป.1 ปิด (ปิดภาชนะเก็บน้ำด้วยฝาปิดให้มิดชิด เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงลายเข้าไปวางไข่ได้)
ป.2 เปลี่ยน (เปลี่ยนน้ำแจกันทุก 7 วัน)
ป.3 ปล่อย (ปล่อยปลากินลูกน้ำ เช่น ปลาหางนกยูง ลงในอ่างบัว หรือภาชนะเก็บน้ำที่ปิดฝาไม่ได้)
ป.4 ปรับปรุง (ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม กำจัดเศษขยะ เศษภาชนะน้ำขัง เช่น เศษวัสดุ กะลา กระป๋อง ขวดน้ำ แก้วน้ำ)
ป.5 ปฏิบัติจนเป็นนิสัย (ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ จนเป็นปกตินิสัย)

2. กำจัดยุงลายตัวแก่ในบ้าน เช่นใช่ไม้ตียุงไฟฟ้าหรือฉีดพ่นสเปรย์กำจัดยุง กรณีจำเป็น แต่ต้องระมัดระวังอันตรายจากสารเคมี
3. ป้องกันบุคคลในบ้าน โดยเฉพาะเด็ก ไม่ให้ถูกยุงกัด เช่น นอนกางมุ้งในเวลากลางวัน หรือ บ้านใดที่ติดตั้งมุ้งลวดให้ตรวจสอบแก้ไขรอยรั่วและไม่อยู่ในที่มืด เช่น ไม่นั่งเล่นคอมพิวเตอร์ในห้องมืดหรือห้องที่มีแสงสว่างน้อย
4.หากครัวเรือนใดมีความประสงค์จะขอรับทรายอะเบทเพื่อนำไปใส่ในภาชนะขังน้ำที่บ้านตนเอง สามารถขอรับได้ที่ กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองน่าน ถนนมหายศ หรือประสานงานได้ที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำชุมชน (อสม.) ได้ทุกชุมชน

ร่วมแสดงความคิดเห็น