เห็ดถอบ !! เป็นสาเหตุของการเผาป่าจริงหรือไม่ ?

โครงการพัฒนาเห็ดสู่อาชีพที่ไม่ต้องเผาป่า ว่าที่เรือตรี ศุลิเชษฐ์ ทองกล่ำ เจ้าหน้าที่ โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อพื้นฟูและส่งเสริมการใช้ประโยชน์เห็ดท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) บอกเล่าข้อมูล และแนวความคิดเกี่ยวกับการหาเห็ดถอบ ทำไมต้องเผาป่า ให้ฟังว่า สาเหตุดังกล่าวนั้นแท้จริงแล้ว เห็ดคือสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าเชื้อรา โดยเป็นเชื้อราชนิดหนึ่งนั่นเอง อย่างเช่น หากเราเข้าป่าและเจอบริเวณไหนที่มีความชุ่มชื้นสมบูรณ์ พอเราหยิบใบไม้ขึ้นมาพลิกดูอีกด้านของใบไม้เราจะเห็นว่ามีเส้นใยบางที่สามารถก่อให้เกิดเชื้อที่ทำให้เกิดเห็ดได้ และมองว่าหากเกิดไฟป่าเห็ดเหล่านี้ก็จะลดลงอย่างแน่นอน โดยเฉพาะเห็ดใบคือเห็ดจำพวก เห็ดแดงและเห็ดไข่ พวกนี้จะลดจำนวนลงทันที และจะกลายเป็นเจอเห็ดถอบมากขึ้น ซึ่งตรงนี้ก็น่าจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่ง มองว่าการเผาป่าเพื่อเก็บเห็ดถอบนั้น เป็นความเชื่อที่ผิด และการเผาป่าจริง ๆ นั้นบอกไม่ได้ว่าเป็นการเก็บเห็ด ซึ่งตรงนั้นอาจจะทำให้เห็ดหายไปเลยก็ได้ และการที่เห็ดถอบจะออกแต่ละครั้งนั้นมองว่ามันต้องใช้ระยะเวลา

อย่างไรก็ตาม มองว่าการเผาป่านั้นไม่ใช่เฉพาะหาเห็ดถอบแต่เพียงอย่างเดียว อาจจะมีการหารวงผึ้งหรือเกิดจากขยะ เช่น ขวดพลาสติกที่ดื่มแล้วทิ้ง ทำให้เกิดการตกกระทบของแสงและทำให้เกิดเป็นเปลวไฟ ซึ่งปัจจุบัน ขวดน้ำที่ถูกทิ้งในป่ามีจำนวนเยอะขึ้น และอาจจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ยังไงการเผาป่าไม่ได้ทำให้เห็ดถอบมีจำนวนเห็ดมากขึ้น ตัวอย่างเช่น หากปีนี้จำนวนเห็ดถอบที่อำเภอแม่แจ่มมีจำนวนมาก พ่อค้าแม่ค้าแห่กันมาเก็บ แต่พอปีหน้าเกิดไฟป่าอีก พ่อค้าแม่ค้าก็จะไม่ไปเก็บเห็ดถอบ ตรงจุดที่นั้น เพราะเขารู้ว่าจำนวนเห็ดจะลดลงหรือแทบไม่มีให้เก็บเลย หากไฟป่าในพื้นที่นั้นเกิดมากเกินไป

ทั้งนี้ จากการสำรวจเห็ดถอบในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จะขึ้นเยอะที่สุดในอำเภอแม่แจ่ม เพราะมีป่าเต็งรังจำนวนมากกว่าอำเภอแม่แตง อำเภอดอยเต่า อำเภอพร้าว และอำเภอดอยสะเก็ด ซึ่งพื้นที่เหล่านี้จะมีจำนวนเห็ดถอบค่อนข้างเยอะ และยังเป็นพื้นที่ ที่ถูกเผาป่าเยอะที่สุด เช่นกัน

ส่วนแนวทางการทดลองเพาะเห็ดถอบนั้น สถาบันวิจัยฯ ได้เลือกนำร่องพื้นที่ บ้านแม่มะลอ อำเภอแม่แจ่ม ปัจจุบันเริ่มทำการทดลองแล้ว โดยคาดว่าการผลิตเห็ดถอบที่ทางสถาบันวิจัยฯ ทำนั้น ครั้งแรกค่อนข้างมีระยะเวลานาน ใช้เวลาถึง 3 ปีในการออกเห็ด แต่ถ้าในปีที่ 3 ผลิตออกมาแล้วก็จะออกแบบนี้อย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งมองตรงนี้ว่า หากชาวบ้านในพื้นอื่น ๆ ให้ความร่วมมือ ก็จะสามารถลดแรงจูงใจไม่ให้เกิดการเผาป่าได้ ตัวอย่างที่ประสบผลสำเร็จในการเพาะเห็ดเพื่อเป็นหนึ่งอาชีพให้กับชาวบ้าน ที่จังหวัดยโสธรโดยนักวิชาการใช้แนวความคิด ตามโครงการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณบ้านหนองเลิง จังหวัดยโสธร ซึ่งบริเวณนี้จะเป็นดินตะกอนปากแม่น้ำ ใช้การพัฒนาโดยการนำต้นยางนาไปปลูก โดยใส่เชื้อเห็ดไข่ เห็ดหล่ม และเห็ดแดง ทำให้เกิดผลผลิตตามมานั่นเอง

ร่วมแสดงความคิดเห็น