ม.อ.ปัตตานี พัฒนาครูในพื้นที่ 3จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียนและวิธีการแบบเปิด

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เสริมสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการให้กับครูในพื้น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน และวิธีการแบบเปิด ตามแนวคิดของประเทศญี่ปุ่นซึ่งใช้ได้ผลดีมาแล้วในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย​ดร.รัชดา เชาวน์เสฏฐกุล รองคณบดีฝ่ายวิชาการและทรัพยากรการเรียนรู้ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และประธานกรรมการศูนย์ความเป็นเลิศด้านคณิตศาสตร์ศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมพัฒนาการศึกษาในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดโครงการเพื่อพัฒนาการศึกษาและเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้กับโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับโรงเรียน พัฒนาศักยภาพครู เพื่อพัฒนาทักษะ ความรู้และเจตคติและแนวคิดวิธีการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนให้มีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้คณะศึกษาศาสตร์ ได้ดำเนินการจัดโครงการดังกล่าวที่พัฒนาการเรียนการสอนด้วยนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน และวิธีการแบบเปิด ซึ่งเป็นวิธีการที่ปรับปรุงมาจากประเทศญี่ปุ่น มีการทดลองใช้และประสบความสำเร็จแล้วทาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เพื่อนำไปสู่การเสริมสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการอันนำไปสู่การพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพในอนาคต กิจกรรมประกอบด้วย การอบรมให้ความรู้ และการนิเทศติดตามและสะท้อนผล ซึ่งคณะศึกษาศาสตร์ ได้จัดโครงการให้แก่ครู นักเรียนโรงเรียนอิสลามวิทยานุสรณ์ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 2-3 มีนาคม 2562
และโรงเรียนบ้านเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี โรงเรียนบ้านตะบิงติงงี อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 3-6 เมษายน 2562 ณ โรงเรียนบ้านเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ที่ใช้นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน และวิธีการแบบเปิดโดยใช้หนังสือเรียนคณิตศาสตร์ญี่ปุ่นฉบับแปลภาษาไทย เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างหนังสือเรียนไทยและหนังสือเรียนญี่ปุ่น ร่วมกันวิเคราะห์เนื้อหา ตัวชี้วัดและมาตรฐาน การเรียนรู้แต่ละระดับชั้น
ดร.รัชดา เชาวน์เสฏฐกุล กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลสัมฤทธิ์จากการจัดโครงการ ทำให้นักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจ ในบทเรียนวิชาคณิตศาสตร์ โดยวิธีการเรียนแบบ Open approach นักเรียนมีอิสระในการหาคำตอบด้วยตนเอง เกิดทักษะกระบวนการคิดเป็นระบบ ในส่วนของครูผู้สอนนั้นทำให้ครูมีความรู้ ความเข้าใจในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดองค์ความรู้จากการเรียนรู้จากรูปธรรมไปเป็นนามธรรม มีการผลิตสื่อเสมือนจริงมาใช้ในการเรียนการสอน ทำให้โรงเรียนสามารถเป็นต้นแบบในการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพของสถานศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ร่วมแสดงความคิดเห็น