ฟ้อนผีมด พิธีกรรมบวงสรวง รำลึกถึงพระคุณแห่งบรรพชน

ประเพณีการฟ้อนผีล้านนา ประเพณีการฟ้อนผีมด ผีเม็งและผีเจ้านาย เป็นประเพณีการเซ่นสังเวยบรรพบุรุษของชาวล้านนา ซึ่งนับถือ และปฏิบัติกันมาแต่โบราณ มีข้อสันนิษฐานว่าประเพณีสืบทอดมาจากวัฒนธรรมมอญ สังเกตได้จากรูปแบบของเครื่องแต่งกาย เวลาเข้าทรงที่คล้ายคลึงกับของชาวมอญโบราณ ตลอดจนเครื่องดนตรีแบบมอญ เช่น ตะโพนมอญ และฆ้องวงปกติการฟ้อนผีมด ผีเม็ง และผีเจ้านาย จะจัดในช่วงฤดูแล้งก่อนช่วงเข้าพรรษา เป็นประจำทุกปีหรือทุก 2-3 ปี แล้วแต่จะกำหนดขึ้นโดยกลุ่มตระกูลที่นับถือผีเดียวกัน หรือหากมีการเจ็บไข่ได้ป่วยขึ้นมาในวงศ์ตระกูล บางที่ก็มีการฟ้อนแก้บนหลังจากการรักษา และเมื่อมีอาการดีขึ้นจากการเจ็บป่วยการฟ้อนผี เป็นการเชิญวิญาณของบรรพชน ให้มารับรู้และร่วมกิจกรรมกับลูกหลาน โดยมีขั้นตอนของพิธีการต่างๆ ระบุไว้ตามประเพณียาวตลอดวัน การฟ้อนนอกจากจะเป็นการรำลึกถึงพระคุณของบรรพชนแล้ว ยังเป็นการสร้างความสามัคคีกลมเกลียวกันขึ้น ในกลุ่มคนที่นับถือผีในสายเดียวกัน ซึ่งเป็นการตอกย้ำถึงข้อปฏิบัติและจารีตประเพณีที่วางไว้โดยเคร่งรัด ผีมด เป็นผีบรรพชนสายตระกูลของชาวบ้าน และสามัญชนทั่วไป ปัจจุบันนิยมตั้งขันไหว้บรรพบุรุษจำนวน 12 ขัน พร้อมทั้งขันไหว้เจนบ้านเจนเมืองอีก 1 ขั้น เครื่องเซ่นและขั้นตอนลำดับการฟ้อน บ่งบอกถึงวิถีชีวิตและการทำมาหากินของชาวบ้านในอดีตได้เป็นอย่างดี การแต่งกายจะนุ่งผ้าโสร่งลายตารางเคียนหัวหรือโพกศีรษะด้วยผ้าสีแดง มีผ้าคล้องคอ และผ้าคาดเอวใช้ดอกไม้สดทัดหู หรือเหน็บผ้าโพกศีรษะผีเม็ง เป็นผีบรรพชนนักรบและชนชั้นปกครอง มีการสร้าง “ผามจ่อง’’ มีหลังคาคล้ายทรงปราสาท มุงด้วยหญ้าคา มีการปักร่มหรือสัปทนที่ประตูทางเข้ามีการปักต้นหว้าหรือ “เก๊าห้า” ไว้หน้าผามหรือประรำ ขันไหว้บรรพบุรุษ มี 9 ขัน เครื่องเซ่นและขั้นตอนการฟ้อนค่อนข้างพิถีพิถันและซับซ้อน บ่งบอกกิจกรรมและพิธีกรรมของสังคมนักรบปกครอง เช่น การฟ้อนดาบ การออกศึกสงครามและการละเล่นของเจ้านาย การแต่งกายของผีเม็งที่ลงมาทรง จะนุ่งผ้าลายตารางผืนยาวพันรอบตัว รวบชายด้านหนึ่งขึ้นคล้องคอ มีผ้าโพกศีรษะ เหน็บด้วย “ใบเกี๋ยงผ้าเม็ง” หรือใบต้นกระดูกไก่ดำผีเจ้านาย เป็นผีบรรพบุรุษชนชั้นปกครอง ซึ่งไม่อยู่ตระกูลของผู้ใดผู้หนึ่ง แต่เคยมีตำแหน่งในฐานะเป็นกษัตริย์เจ้าผู้ครองนคร วีระบุรุษ หรือพ่อบ้าน กำนัน ผีเจ้านายได้แก่ ผีอารักษ์ ผีเสื้อบ้าน ผีเสื้อเมือง เจนบ้าน เจนเมือง การเลี้ยงผีเจ้านาย มักจัดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม ก่อนวันเข้าพรรษาและช่วงหลังพรรษา ฤดูการเก็บเกี่ยว พิธีเลี้ยงผีเจ้านาย มักจะมีขันไหว้ 12 ขัน และจำเป็นต้องมีขันไหว้เจนบ้านเจนเมืองอีก 1 ขัน การฟ้อนผีเจ้านายที่แตกต่างจากการฟ้อนผีมดและผีเม็ง คือ ไม่มีการเล่นใดๆ จะมีเพียงแต่พิธีส่องข้าวและฟ้อนดาบ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของนักรบ และชนชั้นปกครองความเชื่อความศรัทธาในประเพณี ที่ยังคงสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน หยั่งรากลึกในวิถีของชุมชน
ขอขอบคุณ / ภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ ,กลุ่มหน่อศิลป์ , หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่

ร่วมแสดงความคิดเห็น