ไร่สตรอว์เบอรี่ มีดีที่บนดอยบ้านแม่ตะละ

วันที่ 21 มิถุนายน 2562 นายสมพล แสนคำ เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเกษตรกรผู้ปลูก
สตรอว์เบอรี่ในพื้นที่อำเภอกัลยาณิวัฒนา พร้อมให้คำแนะนำการผลิตไหลสตรอว์เบอรี่ให้มีคุณภาพ
อำเภอกัลยาณิวัฒนา มีพื้นที่ปลูกสตรอว์เบอรี่มากกว่า 1,200 ไร่ เกษตรกรนิยมปลูกพันธุ์พระราชทาน 80 เพราะรสชาติอร่อย หอม หวาน รูปทรงน่ารัก เป็นพันธุ์สตรอเบอรี่ที่ปลูกง่าย ผู้บริโภคส่วนใหญ่ นิยมจึงเป็นที่ต้องการของตลาด ดังนั้น เกษตรกรจึงวางแผนการผลิตสตรอว์เบอร์รี่ เพื่อให้ได้ผลผลิตดีมีคุณภาพ ออกในช่วงที่ตลาดต้องการจะได้ราคาดีตามมาด้วย นายสุวัตน์ โอภาสสุคนธ์ เกษตรกรผู้ปลูกสตรอว์เบอรี่ หมู่ 7 บ้านแม่ตะละ ตำบลแม่แดด อำเภอกัลยาณิวัฒนา เล่าว่าตนมีพื้นที่ปลูกสตรอว์เบอรี่ 25 ไร่ เมื่อเข้าสู่เดือนมิถุนายนจะเริ่มผลิตไหลสตรอว์เบอร์รี่ เพื่อเตรียมปลูกสตรอว์เบอร์รี่ในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน และจะได้เก็บเกี่ยวรุ่นแรกในช่วงเดือนตุลาคม ราคาจะสูงถึง กิโลกรัมละ 300-350 บาท นายสุวัตน์ กล่าวอีกว่า การเตรียมไหลสตรอเบอรี่ในพื้นที่ 1ไร่ จะต้องเตรียมไหลสตรอว์เบอรี่จำนวน 10,000 ต้น ตนมีพื้นที่ 25 ไร่ ขณะนี้เตรียมไหลไว้จำนวน 270,000 ต้น ซึ่งหากเหลือจากการปลูกของตนแล้ว ก็จะผลิตขายให้กับผู้ปลูกสตรอว์เบอรี่ในในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น อำเภอแม่ริม อำเภอสะเมิง เนื่องจากสภาพอากาศที่บ้านแม่ตะละแห่งนี้อากาศเย็น เหมาะสมกับการผลิตไหลสตรอว์เบอรี่ให้ได้คุณภาพที่ดี เกษตรจังหวัดได้ให้คำแนะนำเรื่องการดูแลสตรอว์เบอรี่ ว่าสตรอว์เบอรี่เป็นพืชหนึ่งที่มีโรค แมลง และศัตรูพืชหลายชนิดนับตั้งแต่ระยะกล้าไปจนถึงระยะเก็บเกี่ยว  จึงจำเป็นที่จะต้องมีการป้องกันตั้งแต่ระยะแรก เช่น โรคที่เกิดจากเชื้อรา การป้องกันไม่ให้โรคและแมลงเข้าทำลายส่วนต่างๆของสตรอว์เบอรี่ทำได้หลายวิธี ได้แก่ การใช้พันธุ์ที่ต้านทานโรค ใช้ต้นไหลที่แข็งแรงจากต้นแม่พันธุ์ที่ปลอดโรคและต้านทานโรค การจัดการเขตกรรมที่ดี มีการให้น้ำและปุ๋ยอย่างถูกต้องเหมาะสม การป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยชีววิธี ก็จะสามารถลดปัญหาการเข้าทำลายของศัตรูสตรอว์เบอรี่ได้ระดับหนึ่ง ส่วนการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูสตรอว์เบอรี่นั้น เกษตรกรควรใช้เป็น ทางเลือกสุดท้าย เพราะการใช้สารเคมีอย่างไม่ถูกต้องและเหมาะสม จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพทั้งของเกษตรกรและผู้บริโภค

ร่วมแสดงความคิดเห็น