สักการะ “พระพุทธรูปแสนแซ่ทองคำ” ที่วัดเจดีย์ซาวลำปาง

จังหวัดลำปางได้ชื่อว่ามีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวัดพระธาตุลำปางหลวง โบราณสถานอันเก่าแก่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี นอกจากนี้ยังมีวัดสำคัญที่รวบรวมเอาศิลปกรรมความงามของกลุ่มชนต่าง ๆ ไว้มากมาย โดยเฉพาะศิลปกรรมแบบพม่าที่เข้ามามีอิทธิพลต่อพุทธศาสนาในเมืองลำปางสมัยหนึ่งเมื่อเดินทางไปยังเมืองลำปางเราจะพบเห็นวัดที่มีศิลปกรรมแบบพม่าเป็นจำนวนมาก สร้างขึ้นด้วยความสวยงามวิจิตร แสดงถึงความร่ำรวยและมั่งคั่งของผู้สร้าง วัดพม่าที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปได้แก่ วัดพระแก้วดอนเต้า วัดศรีรองเมือง วัดศรีชุม ศิลปกรรมแบบพม่ามีความโดดเด่นตรงที่หลังคาซ้อนกันหลายชั้นเรียงซ้อนกันขึ้นไป บนยอดของหลังคายังมีฉัตรติดตั้งอยู่ ซึ่งสถาปัตยกรรมพม่าแบบนี้เรียกว่า “ทรงพระยาธาตุ”

วัดในเมืองลำปางที่มีอิทธิพลศิลปกรรมพม่ายังมีอีกหลายวัด แต่กาลเวลาที่ผ่านมาทำให้สิ่งต่าง ๆ ผุพังเปลี่ยนแปรสภาพไปจนเกือบไม่หลงเหลือเค้ารอยของความเป็นศิลปกรรมพม่าอยู่ แม้แต่วัดต่าง ๆ ที่กล่าวมาก็ล้วนผ่านการซ่อมแซมบูรณะหลายครั้งหลายหน การซ่อมแซมแต่ละครั้งก็ทำให้ศิลปกรรมพม่าที่เคยมีอยู่ตั้งแต่แรกสร้างผิดเพี้ยนไปจากอดีต เช่นที่วัดพระเจดีย์ซาวหลัง หรือ “วัดเจดีย์ซาว” ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของเมืองลำปาง ว่ากันว่ามีอายุนับพันปี สร้างขึ้นในสมัยหริภุญไชยโดยได้มีการขุดพบพระเครื่องที่ใต้ฐานองค์พระเจดีย์

วัดพระเจดีย์ซาวหลัง แปลว่า วัดที่มีเจดีย์อยู่ยี่สิบองค์ เพราะคำว่า “ซาว” ในภาษาพื้นเมืองแปลว่า “ยี่สิบ” ส่วนคำว่า “หลัง” แปลว่า “องค์” เดิมทีวัดนี้ถูกทิ้งให้อยู่ในสภาพรกร้าง ปกคลุมด้วยเถาวัลย์และพันธุ์ไม้เลื้อย ซึ่งชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา พระเจดีย์ยี่สิบองค์นี้จึงคงมีแค่เพียงซากฐานขององค์เจดีย์ให้เห็น (พ.ศ.2460) ครั้นพอถึงวันสำคัญประจำปีก็จะมีพระสงฆ์กับชาวบ้านได้มาร่วมกันประกอบพิธีทางศาสนาสรงน้ำพระธาตุเจดีย์ในวันเพ็ญเดือน 9 (เหนือ) หลังจากที่เสร็จพิธีก็ปล่อยให้อยู่ในสภาพรกร้างตามเดิม

ในตำนานประวัติวัดพระเจดีย์ซาวหลังกล่าวว่า หลังจากที่องค์พระเจดีย์ถูกทิ้งให้รกร้างอยู่นั้น มีพระภิกษุชาวพม่าชื่อ “อูชะยันต่าเถระ” ซึ่งท่านเป็นผู้แตกฉานในพระไตรปิฏก ได้จาริกเผยแพร่พระพุทธศาสนามาจากเมืองมัณฑะเลย์ ท่านจึงได้นำเอาตำนานของวัดเล่าให้ชาวพม่าที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองลำปางฟัง ต่อมาชาวบ้านจึงได้พากันทำการขุดแต่งบูรณะ พบพระพุทธรูปทองสำริด พระเครื่องดินเผาสมัยหริภุญไชย พระคง พระรอด พระสิบสอง พระสามแผ่นดิน แผ่นทองจารึกอักขระ ผอบเงิน ผอบทอง วางอยู่ในหลุมลึกใต้ฐานเจดีย์ จากนั้นชาวบ้านจึงพากันทำการบูรณะและนำสิ่งของดังกล่าวเข้าบรรจุไว้ที่เดิม พร้อมทั้งก็ก่อสร้างเป็นเจดีย์ขึ้นจนเรียบร้อยเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2464

ต่อมาเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2526 ได้ขุดพบพระพุทธรูปแสนแซ่ทองคำ ห่างจากบริเวณวัดไป 2 กิโลเมตร ปรากฏเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ทางโบราณคดี มีกรรมวิธีการสร้างแบบการเคาะตีเป็นแผ่นบาง ๆ แล้วนำมาประกอบเป็นองค์พระทั้งองค์ทำด้วยทองคำบริสุทธิ์ 95.5 หนัก 100.05 บาท พระพุทธรูปแสนแซ่ทองคำเป็นพระปางมารวิชัยศิลปสมัยล้านนา ประมาณพุทธศตวรรษที่ 21 หน้าตักกว้าง 9 นิ้วสูง 15 นิ้ว ลักษณะพิเศษของพระพุทธรูปองค์นี้สามารถแยกชิ้นส่วนออกเป็น 32 ส่วนนำมาสวมต่อกัน มีสลักยึดติดกับส่วนต่าง ๆ ของพระ (ภาษาล้านนาเรียกว่า แซ่) บริเวณเศียรขององค์พระมีผอบบรรจุพระบรมธาตุ ที่พระเศียรและผ้าสังฆาฏิประดับด้วยอัญมณีสีต่าง ๆ ในช่วงอกของพระพุทธรูปข้างในบรรจุใบลานทองคำจารึกด้วยอักขระพื้นเมืองเป็นคาถาขดรวมกันอยู่ ปัจจุบันพระพุทธรูปแสนแซ่ทองคำ ประดิษฐานในวิหารหลังเล็กติดกับวิหารหลวงในวัดพระเจดีย์ซาว เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่เมืองลำปางซึ่งเป็นพระพุทธรูปทองคำองค์แรกที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุแห่งชาติเมื่อเข้ามาเที่ยวชมความงามของศิลปกรรมล้านนาผสมพม่าของวัดพระเจดีย์ซาวหลัง ในบริเวณวัดยังมีโบราณสถานมากมาย อาทิ พระพุทธรูปทันใจเป็นพระทองสัมฤทธิ์ศิลปเชียงแสนห่มผ้าพันตา ถ้ำจำลอง ประดิษฐานรูปปั้นหลวงปู่มะขามเฒ่า (หลวงปู่ศุข) บ่อน้ำสองพี่น้อง เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ พิพิธภัณฑ์ อาคารแสดงโบราณวัตถุที่ชาวบ้านขุดพบพระเครื่อง

การเดินทางไปวัดพระเจดีย์ซาวหลัง ใช้เส้นทางสายลำปาง – แจ้ห่ม บริเวณกม.ที่ 1/500 บ้านวังหม้อ ตำบลต้นธงชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น