สสส. เสนอการเผด็จศึกบุหรี่หรือ End Game คาดขยายอายุขั้นต่ำซื้อบุหรี่เป็น 21 -24 ปี

เมื่อ 20 มิถุนายน ที่ผ่านมา ที่ศูนย์ประชุมวิยุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา กรุงเทพฯ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย ได้จัดการประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18 เพื่อรณรงค์สิ่งแวดล้อมในบ้าน ให้ปลอดจากควันบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า ที่เป็นภัยต่อสุขภาพ โดยเฉพาะสุขภาพของเด็ก ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของสังคมไทยในอนาคต

โดย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวบรรยายพิเศษ “the tobacco endgame in Thailand” ว่า อัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ล่าสุดปี 2560 พบว่า มีคนไทยสูบบุหรี่ทั้งสิ้น 10.7 ล้านคน คิดเป็น 19.1% ลดลงจากปี 2534 ที่มีจำนวน 12.2 ล้านคน หรือ 32.0%  โดยเพศชายมีอัตราการสูบบุหรี่สูงกว่าเพศ หญิง 22 เท่า หรือ 37.7% และ 1.7% ตามลำดับ สัดส่วนของผู้ไม่สูบบุหรี่ต่อผู้ที่สูบบุหรี่ มีแนวโน้มสูงขึ้น จาก 3:1 ในปี 2534 เป็น 4.2:1 ในปี 2560 บุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงนำไปสู่ภาระโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นอันดับหนึ่งโดยหนึ่งในมาตรการควบคุมสินค้าที่ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ อย่าง บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ได้ผลคือ มาตรการทางภาษี เป็นหัวหอกสำคัญในการลดอัตราบริโภค แต่ต้องดำเนินการมาตรการอื่น ๆ ควบคู่ด้วย ทั้งการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ การบังคับใช้กฎหมาย การรณรงค์สังคมเพื่อสร้างความตระหนักต่อปัญหา และสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน สังคมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาทั้งนี้ ในปี 2560 คณะทำงานสหประชาชาติ ยกย่องให้ประเทศไทยมีผลการดำเนินงานการจัดการปัญหาโรค NCDs เป็นอันดับ 1 ในอาเซียน และเป็นอันดับ 3 ของโลกร่วมกับฟินแลนด์และนอร์เวย์ ขณะที่ WHO ยกย่องรูปแบบการทำงานของ สสส. เป็นนวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาพระดับโลก และประเทศต่างๆ อย่างเช่น เวียดนาม ลาว มาเลเซีย มองโกเลีย ที่ใช้ สสส. ไทยเป็นต้นแบบ

ดร.สุปรีดา กล่าวว่า ขณะนี้ในโลกเริ่มมีการพูดถึงการเผด็จศึกบุหรี่หรือ End Game คือ การลดอัตราการสูบบุหรี่ในประเทศลดลงมาก ๆ เหลือเพียง 5-15% ซึ่งในการประชุมวิชาการในครั้งนี้ ได้ชวนให้คิดถึงการทำ End Game บุหรี่ในไทย ซึ่งยังต้องฝ่าฟันกับอุปสรรคอีกหลายเรื่องเช่น การสูบบุหรี่มวนเองหรือยาเส้น กลไกภาษีที่ยังไม่ได้ผลมากนัก การบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ โครงสร้างบุคลากรไม่เพียงพอรับมือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การทำ End Game ไม่มีมาตรการตายตัว ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละประเทศ แต่ต้องทำมากกว่ามาตรการที่ทำอยู่ปกติ ไทยอาจใช้มาตรการแบบสิงคโปร์ ที่ขยายอายุการสูบบุหรี่ ซึ่งขณะนี้ไทยกำหนดให้ซื้อบุหรี่ได้ที่อายุ 20 ปีขึ้นไป อาจจะขยายเป็น 21-24 ปี ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการที่รุนแรง และต้องการเจตจำนงทางการเมือง ที่แรงพอที่จะผลักดันได้สำเร็จ หรือการจำกัดผลิตภัณฑ์ยาสูบให้มีการตลาดลดลงเรื่อย ๆ มาตรการบุหรี่ซองเรียบ การจำกัดจุดขายต่อพื้นที่ เป็นต้น  ซึ่งต้องระดมความคิดเห็นเพื่อออกมาตรการใหม่ ๆ ออกมาควบคุมเพื่อให้ไทยเผด็จศึกบุหรี่ได้สำเร็จ

ร่วมแสดงความคิดเห็น