มช.เตรียมสร้างอาคารศูนย์สุขภาพสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ประเทศไทยที่เปลี่ยนเข้าสู่ยุค ไทยแลนด์ 4.0

การก่อสร้างอาคารศูนย์สุขภาพสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ความสูง 4 ชั้น คาดจะแล้วเสร็จในปี 2564 เป็นแหล่งเรียนรู้ของนักศึกษา ผลิตบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพิ่มศักยภาพด้านบริการวิชาการ การวิจัย และการเรียนการสอน ให้บริการรักษาโรคเฉพาะทางสำหรับสัตว์เลี้ยง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.ขวัญชาย เครือสุคนธ์ คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึง การก่อสร้างศูนย์สุขภาพสัตว์แห่งใหม่ของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ว่า ตลอด 24 ปีของการดำเนินการของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในการผลิตสัตวแพทย์ปริญญาเพื่อมารับใช้ประเทศโดยเฉพาะชุมชนในเขตภาคเหนือ ดำเนินการวิจัยและบริการวิชาการเพื่อการผลิตสัตว์อย่างมีประสิทธิภาพของเกษตรกรและได้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่ปลอดภัยและมีคุณภาพตามความต้องการของผู้บริโภค และการดูแลสุขภาพสัตว์ของผู้เลี้ยงสัตว์ คณะฯ ได้ดำเนินการอย่างเต็มกำลังความสามารถภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งด้านอาคารสถานที่ บุคลากร และงบประมาณ ในปัจจุบันด้วยสถานการณ์ของโลกในด้านโรคระบาดสัตว์และมาตรฐานอาหารปลอดภัยที่เปลี่ยนแปลงไป และสภาวการณ์ของประเทศไทยที่เปลี่ยนเข้าสู่ยุค ไทยแลนด์ 4.0 ที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ปัญหาภาคการเกษตร ที่รัฐบาลได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์การบริหารประเทศ ยุทธศาสตร์พัฒนาเมือง พัฒนาพื้นที่และถ่ายทอดสู่แผนพัฒนาภาคเหนือ โดยมีเป้าหมายเพื่อเศรษฐกิจและเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการของประชาชนให้สูงขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาหรือเปลี่ยนแปลงสถานะหรือยกระดับรายได้ภาคครัวเรือนให้สูงขึ้น

คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนแผนยุทธศาสตร์ของคณะฯ เพื่อเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เชิงรุกด้านนวัตกรรมอาหารและสุขภาพ และผู้สูงอายุ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และยุทธศาสตร์ชาติตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีเป้าหมายสูงสุดของการดำเนินการเพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์สามารถผลิตสัตว์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สัตว์ที่เลี้ยงมีสุขภาพดีจากการให้บริการโดยผู้เชี่ยวชาญของคณะฯ ให้คำแนะนำและถ่ายทอดเทคโนโลยีในการเลี้ยงสัตว์ พร้อมข้อมูลการชันสูตรโรคเพื่อรักษาสัตว์ป่วยและป้องกันการระบาดของโรค ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นและมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ พร้อมกันนี้คณะฯ ยังได้ดำเนินการในการให้ข้อมูลและความรู้ด้านอาหารปลอดภัย โรคสัตว์สู่คน การดูแลสุขภาพสัตว์ และให้การบริการรักษาและดูแลสุขสภาพสัตว์เลี้ยงของประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้อยู่อย่างมีความสุขและสุขภาพดี รองรับสังคมผู้สูงอายุและการท่องเที่ยวของประเทศและภาคเหนือ

ในการดำเนินการดังกล่าวมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการก่อสร้าง “ศูนย์สุขภาพสัตว์” ซึ่งประกอบด้วย
– ศูนย์ชันสูตรโรคสัตว์และถ่ายทอดเทคโนโลยีในการเลี้ยงสัตว์
– ศูนย์ความเป็นเลิศด้านสุขภาพสัตว์
– ศูนย์อาหารปลอดภัยและโรคสัตว์สู่คน
– ศูนย์ส่งต่อภาคเหนือที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในการดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยง
พร้อมกันนี้ศูนย์สุขภาพสัตว์แห่งใหม่ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักศึกษาเพื่อให้ได้ความรู้และความเชี่ยวชาญในวิชาชีพทางด้านสัตวแพทย์ และรองรับการผลิตบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทั้งหลักสูตรเพิ่มพูนทักษะทางคลินิกอย่างเป็นระบบ หรือที่เรียกว่า Internship program หลักสูตรสัตวแพทย์ประจำบ้าน หรือที่เรียกว่า Residency program ประกาศนียบัตรชั้นสูง และหลักสูตรการพยาบาลทางสัตวแพทย์ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินการของคณะฯ ในด้านการให้บริการวิชาการ การวิจัย และการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งสามารถสนับสนุนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยและยุทธศาสตร์ชาติ อีกด้วย

ขณะนี้ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมแล้วสำหรับผลักดันและได้กำหนดแผนกลยุทธ์ด้านต่างๆ ที่จะรองรับการดำเนินการของศูนย์สุขภาพสัตว์แห่งใหม่ และขณะนี้คณะสัตวแพทยศาสตร์อยู่ระหว่างการดำเนินการโครงการก่อสร้างศูนย์สุขภาพสัตว์ ซึ่งจะตั้งอยู่บริเวณคณะสัตวแพทยศาสตร์ ศูนย์วิจัยเกษตรแม่เหียะ ซึ่งจะได้เริ่มก่อสร้างในปี 2562 นี้ และมีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2564

หลังการเปิดดำเนินการให้บริการของศูนย์สุขภาพสัตว์แห่งใหม่ การให้บริการของโรงพยาบาลสัตว์เล็กที่อยู่ข้างปั๊ม ปตท. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังให้บริการตามปกติ ซึ่งเมื่อมีกรณีที่ต้องมีการรักษาที่เป็นเฉพาะทางสำหรับสัตว์เลี้ยง เช่น โรคหัวใจ โรคทางผิวหนัง โรคตา โรคไต ฝังเข็ม เป็นต้น หรือต้องการ CT scan ขั้นสูง เราจะดำเนินการส่งต่อมาที่ศูนย์สุขภาพสัตว์แห่งใหม่ ซึ่งประกอบไปด้วย
แผนกอายุรกรรม ห้องตรวจแผนกอายุรกรรม คลินิกเฉพาะทาง 13 คลินิก
1. คลินิกเฉพาะทางโรคหัวใจ
2. คลินิกเฉพาะทางผิวหนัง
3. คลินิกเฉพาะทางระบบสืบพันธุ์
4. คลินิกเฉพาะทางระบบประสาท
5. คลินิกเฉพาะทางกระดูกและข้อ
6. คลินิกเฉพาะทางโรคตา
7. คลินิกเฉพาะทางโรคแมว
8. คลินิกเฉพาะทางต่อมไร้ท่อ
9. คลินิกเฉพาะทางโรคไต
10. คลินิกเฉพาะทางโรคเนื้องอก
11. คลินิกเฉพาะทางฝังเข็ม
12. คลินิกเฉพาะทางสัตวเลี้ยงชนิดพิเศษ
13. คลินิกเฉพาะทางสัตว์น้ำ
แผนกศัลยกรรม ศัลยกรรมเนื้อเยื่ออ่อนสัตว์ป่วยซับซ้อน ศัลยกรรมกระดูกสำหรับผ่าตัดสัตว์ป่วยซับซ้อน
แผนกสัตว์ป่วยฉุกเฉิน
แผนกสัตว์ป่วยภาวะวิกฤต
แผนกทัศนวินิจฉัย (พื้นฐานและขั้นสูง) ซึ่งมีเครื่อง CT scan ขั้นสูง
ศูนย์กายภาพบำบัด พร้อมสระว่ายน้ำธาราบำบัดในร่ม
หออภิบาลสัตว์ป่วย หออภิบาลสุนัขป่วย หออภิบาลแมวป่วย หออภิบาลสัตว์ป่วยพิเศษ
และมีห้องปฏิบัติการ
– ห้องปฏิบัติการชันสูตรเพื่องานบริการ
– ห้องปฏิบัติการเพื่องานวิจัยขั้นสูง
คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการดำเนินการศูนย์สุขภาพสัตว์แห่งใหม่นี้ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังต้องการการสนับสนุนในการจัดหาครุภัณฑ์ทางการแพทย์อีกเป็นจำนวนมาก จึงขอเชิญชวนทุกท่าน ร่วมบริจาคเงินสมทบกองทุนสงเคราะห์สัตว์ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งเงินที่ท่านบริจาคเข้ามานอกจากจะนำไปจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ แล้ว เรายังนำเงินไปช่วยเหลือสัตว์ป่วยทนทุกข์ทรมานที่เจ้าของไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดได้ และสัตว์ป่วยที่ไม่มีเจ้าของ รวมทั้งพัฒนาคุณภาพในการบริการสุขภาพสัตว์ ทั้งในด้านบุคลากรและเทคโนโลยีที่ทันสมัยตลอดจนการบำรุงรักษาวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้สามารถเอื้อประโยชน์ต่อการรักษาสัตว์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์ หรือร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ เพื่อการกุศล
การร่วมบริจาค มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งในการบริจาคเงินเข้ากองทุนฯ ได้ที่เลขที่บัญชี 667-4-00434-3 ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ชื่อบัญชี “กองทุนสงเคราะห์สัตว์ฯ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มช.” และยังสามารถนำใบเสร็จลดหย่อนภาษีได้
ทั้งนี้สามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมของคณะฯ ได้ที่ page facebook ของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือ search ใน facebook ชื่อว่า “veterinarycmu” หรือเยี่ยมชมรายละเอียดเกี่ยวกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ที่ www.vet.cmu.ac.th
สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณทุกท่านที่ใช้บริการของโรงพยาบาลสัตว์ของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือแม้กระทั่งการร่วมบริจาคเงินเข้ากองทุนสงเคราะห์สัตว์ฯ หรือไม่ว่าจะรูปแบบใด ทางคณะฯ มุ่งมั่นที่จะให้คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้บริการที่ดี มีคุณภาพ และเป็นที่พึ่งของคนรักสัตว์ และเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น